ความชุกของแอนติบอดีต่อการติดเชื้อ Toxoplasma gondii
ในสุกรจากโรงฆ่าสัตว์ทางภาคเหนือของประเทศไทย
Seroprevalence of antibodies against Toxoplasma gondii infection among slaughtered pigs in the northern part of Thailand


     Toxoplasmosis เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีสาเหตุเกิดจาก Toxoplasma gondii ซึ่งเป็นเชื้อโปรโต-ซัว มีความสำคัญทางด้านสาธารณสุข โดยมีผลทำให้เกิดการแท้งหรือความผิดปกติของตัวอ่อนภายในครรภ์ได้ แมวเป็นโฮสต์ตามธรรมชาติหรือโฮสต์สุดท้ายในขณะที่สัตว์อื่น เช่นสุกรรวมทั้งคน ทำหน้าที่เป็นโฮสต์กึ่งกลาง การติดต่อของโรคนี้เกิดจาก การกินอูซีสต์ซึ่งเป็นระยะติดต่อที่ปนเปื้อนอยู่ในสภาพแวดล้อมอาหาร และน้ำ  หรือโดยการรับประทานเนื้อหรือเครื่องในสัตว์ของโฮสต์กึ่งกลางที่ภายในมีซีสต์ที่ปรุงไม่สุก ซึ่งจะพบว่าเนื้อสุกรเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีการติดเชื้อนี้ได้

     โรคไข้สมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อ T.gondii นั้นมักพบในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี พบว่าในประเทศไทยนั้น ถือ เป็นโรคแทรกซ้อนที่พบมากเป็นอันดับที่ 5 คิดเป็นร้อยละ 2.9 นอกจากนี้อัตราความชุกของโรคเอดส์ส่วนใหญ่พบมากในภาคเหนือ คิดเป็น37.7 ต่อประชากรแสนคน และมีรายงานว่า ในประเทศไทยร้อยละ 21.3 ของผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีผลบวกต่อเชื้อเอชไอวีและร้อยละ 13.1 ของผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีผลลบต่อเชื้อเอชไอวีตรวจพบแอนติบอดีต่อเชื้อ T.gondii
วัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้เพื่อหาความชุกของแอนติบอดีต่อการติดเชื้อ T. gondii ในสุกรจากโรงฆ่าสัตว์ทางภาคเหนือของประเทศไทย

การเก็บตัวอย่าง

สุ่มเก็บตัวอย่างซีรัมสุกรจำนวน 286  ตัวอย่างจากโรงฆ่าสัตว์ในจังหวัดลำพูน สุโขทัย พิษณุโลก เชียงใหม่ และเชียงราย  โดยดูจากจำนวนประชากรของสุกรที่เข้าโรงฆ่าสัตว์ในแต่ละจังหวัด ตัวอย่างเลือดที่ได้ทำการปั่นเหวี่ยงควบคุมอุณหภูมิ ที่ 1,500 รอบต่อนาทีเป็นเวลา 15 นาที เก็บตัวอย่างซีรัมที่ได้จากการปั่นเหวี่ยงไว้ที่อุณหภูมิ -20 °C จนกว่าจะทำการทดสอบ

การตรวจหาแอนติบอดี

     นำตัวอย่างซีรัมที่ได้มาทำการทดสอบเพื่อหาค่าแอนติบอดีต่อเชื้อ T. gondii  โดยใช้ชุดตรวจ Latex Agglutination test (Eiken®,Japan) โดยวิธีการทดสอบนั้น เริ่มโดยการเติม Latex Agglutination buffer จำนวน 25 ul ลงไปใน U-shaped cluster plate จำนวน 96 well จากนั้นทำการเติมซีรัมที่เจือจางความเข้มข้น 1: 8จำนวน 25 ul ลงในบัพเฟอร์ที่อยู่ใน plate ผสมให้เข้ากัน และทำ 2 –fold dilution เรื่อยไปจนกระทั่งคงเหลือปริมาตรที่ต้องทิ้งไปจำนวน 25 ul  และจากนั้นทำการเติม T. gondii –antigen-coated latex beads  จำนวน 25 ul ลงไปในทุกๆหลุม ทำการผสมสารให้เข้ากัน และตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 24 ชั่วโมง  อ่านผลการทดสอบใช้ค่าcut off ที่  1 : 64 

จำนวนตัวอย่าง 286 ตัวอย่าง ผลการทดสอบพบว่า 17 ตัวอย่างให้ผลบวก คิดเป็นความชุกของโรคร้อยละ 5.9 ดังตารางที่ 1

ตารางที่1 แสดงตัวอย่างที่ให้ผลบวกในแต่ละจังหวัด

วิจารณ์ผลการวิจัย

      ผลการศึกษาในครั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาในต่างประเทศในทวีปเอเชียจะมีผลใกล้เคียงกันดังตารางที่ 2
ตารางที่ 2 แสดง seroprevalence ของการติดเชื้อ T.gondii ในต่างประเทศ

     (Astrid M. Tenter et al.,2000)

     การตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อ T.gondii โดยใช้หลักการทางซีรัมวิทยามีด้วยกันหลายวิธีเช่น Sabin-Feldman dye test, Latex agglutination test (LAT), Indirect fluorescent antibody test (IFAT) และ Immunoblot.  Sukthana และคณะ พบว่าวิธี Latex agglutination test (LAT) สามารถให้ผลการตรวจที่น่าเชื่อถือเนื่องจากมีความไว (sensitivity) ร้อยละ 100 และความจำเพาะ (specificity) ร้อยละ 94.8

 

 

 

 
คณะผู้วิจัย
อ.สมัคร สุจริต1, อ.ณัฐนรี อินทอง1, อ.พีระ อารีศรีสม1, น.ส.จงรัก มงกุฎ1, รศ.ดร.วรวุฒิ ฤกษ์อำนวยโชค2,
รศ.ดร.นงนุช ภิญโญภานุวัฒน์3 น.ส.ชัญญา เก่งระดมกิจ3และ รศ.ดร.สถาพร จิตตปาลพงศ์3
1ภาควิชาเทคนิคการสัตวแพทย์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร 0-2579-8574-5 ต่อ 8309 , 08-3439-3308