วัฒนธรรมดนตรีในพิธีกรรมการเกษตรของชนเผ่าไท
Musical Traditions in Agricultural Ceremonies of the Tai Peoples

ถิ่นกำเนิดมนุษยชาติและถิ่นกำเนิดบรรพบุรุษไท

            ชนชาติไทเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่เก่าแก่ที่สุด สืบเชื้อสายมาจากมนุษย์ตะวันออก มนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อายุราว ๒,๕๐๐,๐๐๐ ปี พบที่หยวนโมว มณฑลยูนนาน สืบเนื่องมาถึงมนุษย์หยวนโมว อายุ ๑,๗๐๐, ๐๐๐ ปี จนถึงสมัยหินเก่า อายุ ๖๐๐,๐๐๐ - ๓๐,๐๐๐ ปี ต่อเนื่องมาถึงประมาณ ๗,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปี ในสมัยหินใหม่ จนกระทั่งในปัจจุบัน ชนเผ่าไทก็ยังคงอาศัยอยู่ที่มณฑลยูนนาน งานวิจัยของ อรไท  ผลดี เรื่องภูมิปัญญาวัฒนธรรมการเกษตรไทยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์  พบองค์ความรู้ใหม่ว่าดินแดนที่ชนเผ่าไทในสมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่เป็นแหล่งกำเนิดการเกษตรกรรมของโลก  มิใช่บริเวณตะวันออกกลางที่เรียกว่า ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์รูปพระจันทร์เสี้ยว (The Fertile Crescent) ดังที่เชื่อกันมา

        ปฐมบรมกษัตริย์ของชนเผ่าไทในยุคปรัมปรา คือ จักรพรรดิเหลือง (ฮวงตี่) เมื่อประมาณ ๔,๗๐๐ ปี พระองค์เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าเหา ซึ่งเป็นต้นตระกูลไท ปกครองอยู่บริเวณมณฑลเหอหนาน ในสมัยราชวงศ์เฮีย  Hsia อายุประมาณ ๔,๒๐๐ ปี  ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์นี้คือจักรพรรดิหยู น่าจะเป็นคนไท  เพราะชื่อราชวงศ์เป็นภาษาไท คือคำว่าหัว  ซึ่งเพี้ยนเป็นสำเนียงจีนว่า เฮีย หรือ เซีย (Hsia) ระบุว่า สมัยนี้สามารถหล่อภาชนะสัมฤทธิ์แบบสามขา  (Ting)  ได้แล้ว ในสมัยต่อมา คือราชวงศ์เจ้า ประมาณ ๓,๐๐๐ ปี เริ่มระบบสังคมศักดินา  เริ่มคิดค้นเทคโนโลยีการถลุงเหล็ก เพื่อใช้ในการเกษตร เช่น  จอบ และขวาน ใช้วัวควายไถนา  ริเริ่มการชลประทาน  นับถือเทพเจ้าแห่งธรรมชาติที่มีอำนาจที่สุด  คือ เทพเจ้าเทียน (แถน) หรือ เทพเจ้าแห่งฟ้า  กษัตริย์ถือเป็นโอรสแห่งฟ้า หรือสวรรค์ ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฮั่น ประมาณ ๒,๐๐๐ ปี ชนชาติจีนได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากพวกฮัน ซึ่งเป็นเชื้อสายเตอรกี เช่น วัฒนธรรมเครื่องดนตรี และวัฒนธรรมการใช้ตะเกียบ  เป็นต้น ทำให้วัฒนธรรมจีนแยกจากวัฒนธรรมไทอย่างชัดเจน

เครื่องดนตรีไทในวัฒนธรรมการเกษตร

        แหล่งโบราณคดีเก่าแก่ที่สุดที่พบหลักฐานเครื่องดนตรีไทที่เก่าแก่ที่สุดในโลก คือ พิพิธภัณฑ์เหอหมู่ตู้ อำเภอหยีเหยา  มณฑลเจ้อเจียง บริเวณปากแม่น้ำแยงซีเกียง อายุประมาณ ๗,๐๐๐ ปี  พบหลักฐานขลุ่ยทำด้วยกระดูกหลายเลา ในสภาพที่สมบูรณ์ สันนิษฐานว่า น่าจะใช้ในพิธีกรรมการเกษตร เพราะที่บริเวณปากแม่น้ำแยงซีเกียง เป็นแหล่งกำเนิดการเกษตรกรรมของไท พบซากฟอสซิลของข้าวเจ้าปลูกที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอายุ ๗,๐๐๐ ปี  นักโบราณคดีและนักเกษตรศาสตร์ส่วนมากเห็นพ้องกันว่า ชนชาติไทปลูกข้าวเจ้าแรกสุดในประเทศจีน   

        ในสมัยจักรพรรดิเหลือง หรือจักรพรรดิอึ่งตี่  ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชนเผ่าไท ปกครองอยู่บริเวณมณฑลเหอหนาน ใต้แม่น้ำฮวงโหเมื่อ ๔,๗๐๐ ปีมาแล้ว  โปรดให้นำต้นไผ่มาทำเครื่องดนตรีที่มี ๑๒ เสียง       

        สมัยราชวงศ์สาง ปกครองบริเวณมณฑลเหอหนานประมาณ ๓,๗๐๐ ปี พบหลักฐานกลองมโหระทึกสัมฤทธิ์ของชนเผ่าไท ใช้ในพิธีกรรมเพื่อขอฝน

        สมัยราชวงศ์เจ้า ปกครองอยู่บริเวณมณฑลส่านซี  เมื่อประมาณ ๓,๕๐๐ ปี จักรพรรดิเชื้อสายไทมีนโยบายประเทศโดยอาศัยการดนตรีและจริยศึกษา มีการแต่งตั้งตำแหน่งนักดนตรีทางราชการ ทำให้การดนตรีเจริญอย่างมาก  มีดนตรีสำหรับเซ่นบวงสรวงเทพเจ้าแห่งการเกษตร อาทิ พระธรณี เจ้าแห่งฤดูกาล ภูเขา ลำธาร เป็นต้น  เครื่องดนตรีในสมัยราชวงศ์เจ้า ที่เป็นภูมิปัญญาชนเผ่าไท ได้แก่ ไผ่เดี่ยว คือ ขลุ่ย และไผ่แพ คือ แคน ในสมัยนี้ พบหลักฐานขวานสัมฤทธิ์ ๒ ด้าม  ที่หัวขวานมีลายคนสวมหัวประดับขนนก  กำลังเป่าแคนคนหนึ่ง และถือฉาบอีกคนหนึ่งและพบหลักฐานกลองมโหระทึก

        วัฒนธรรมเตียนหรือแถน  ในมณฑลยูนนาน  อายุประมาณ ๒,๕๐๐ ปี เรียกว่าแบบสือไจ้ซาน  มีลวดลายคนฟ้อนสวมหัวประดับขนนก  น่าจะเป็นต้นแบบการฟ้อนนกยูงของไทลื้อ  หรือฟ้อนกิงกระหราของไทใหญ่  ถ้าพบในเวียดนาม เรียกว่า  กลองแบบดองซอน เป็นลวดลายคนเป่าแคนประกอบการฟ้อนรำ  ชนเผ่าไทจะตีกลองมโหระทึกเพื่อขอฝน  ซึ่งยังคงกระทำพิธีกรรมนี้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ ชนเผ่าไทในมณฑลกุ๊ยโจว  เช่น ไทต้ง  ไทสุ่ย  ไทปู้ยี  เป็นต้น

        ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ซึ่งเป็นจีนแท้ ปกครองอยู่มณฑลส่านซีเหนือแม่น้ำแยงซี ส่วนใต้แม่น้ำแยงซีเป็นที่อยู่ของชนเผ่าไท  ที่สุสานนางพระยาเผ่าไท ตำบลหม่าหวังตุย นครฉางซา มณฑลหูหนาน พบหลักฐานเครื่องดนตรีไทดั้งเดิมอายุ ๒,๑๐๐ ปี ได้แก่ ขลุ่ย แคน และขิม  รวมทั้งพบตุ๊กตาเซ่นศพ  เป็นรูปนักดนตรีเล่นประสมวงอีกด้วย  สมัยที่เครื่องดนตรีไทแยกจากเครื่องดนตรีจีน อย่างชัดเจนอยู่ในสมัยราชวงศ์ฮั่น  ซึ่งเป็นจีนแท้  สืบมาถึงสมัยราชวงศ์จิ้น  (พ.ศ. ๘๐๘ - ๑๑๓๑)  ซึ่งได้รับอิทธิพลเครื่องดนตรีจากพวกฮัน ซึ่งมีเชื้อสายพวกเตอรกี  ทำให้เครื่องดนตรีดั้งเดิมของจีนสูญหายไป แต่ยังคงอยู่ในเครื่องดนตรีของญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องสาย กลอง ฉาบ และฉิ่ง

        ในสมัยที่ต่อจากราชวงศ์ฮั่น  เครื่องดนตรีขิมได้รับความนิยมต่อมาจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวจีน  อาทิ  ปรากฏบนภาพวาดนักดนตรีเล่นขิมสมัยราชวงศ์ซ่ง  และนักดนตรีเล่นขิมและกระจับปี่  สมัยราชวงศ์ถัง ในสมัยราชวงศ์ถัง  ยังพบตุ๊กตาทำด้วยกระเบื้องเคลือบสีคราม  กำลังเล่นขลุ่ย กลองแอว  แคน ฉาบและฉิ่ง  และพบหลักฐานพิณ(ฉิน) ในสมัยเดียวกัน

หลักฐานเครื่องดนตรีจากแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่ของโลก

        ในสมัยหินเก่า (๓๓,๐๐๐ - ๑๐,๐๐๐ B.C.) พบขลุ่ยทำด้วยกระดูกและกลองดั้งเดิม,  อารยธรรมเมโสโปเตเมีย (๔,๐๐๐-๓๓๓ B.C.)  พบฮาร์ฟ สุเมเรียน(๒,๖๐๐ ปี),  อารยธรรมอียิปต์ (๓,๐๐๐ - ๓๐ B.C.)  พบฮาร์ฟ และขลุ่ย (๔,๐๐๐ - ๓,๕๐๐ ปี)  พบพิณ และเครื่องเป่าที่มีลิ้น (๓,๕๐๐ - ๓๐๐ ปี),  อารยธรรมอินเดีย ยุคก่อนพระเวท (๕,๐๐๐ - ๓,๕๐๐ ปี)  ชนชาติทราวิต รู้จักใช้เครื่องดนตรี เป็นฉิ่งทำด้วยสัมฤทธิ์ และรู้จักฟ้อนรำจากรูปหญิงสาวฟ้อนรำทำด้วยหินและสัมฤทธิ์

กำเนิดพิธีกรรมบูชาเทพเจ้าการเกษตรของชนเผ่าไท

        มนุษยชาติในสมัยห้าแสนปี คือมนุษย์ปักกิ่ง ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชนเผ่าที่อยู่ทางจีนตอนเหนือ รวมทั้งชนเผ่าไท รู้จักใช้เครื่องมือหิน และใช้หินไฟ ต่อมาในสมัยปฐมกษัตริย์สามจักรพรรดิ ซึ่งน่าจะเป็นคนไทได้แก่ จักรพรรดิสุ่ยยิ้น (ผู้ใช้หินไฟ) รู้จักการตีหินไฟ สีไม้ให้เกิดไฟ เพื่อการหุงต้ม  จักรพรรดิฮกฮี (เลี้ยงสัตว์เพื่อการครัว) รู้จักการจับปลาด้วยอวนแห และรู้จักสัญลักษณ์ ๘ (โป้ยก่วย) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางธรรมชาติ คือ ฟ้า ดิน น้ำ ภูเขา ฟ้าคะนอง ลม ไฟ และบึง จักรพรรดิซิ่นล้ง (เทพเจ้าแห่งการเกษตร) รู้จักทำเสียม จอบเพื่อทำนาทำไร่  รู้จักแลกเปลี่ยนค้าขายกัน ในสมัยต่อมา จะมีการบูชาเทพเจ้าแห่งปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ตะวัน เดือน ดาว ภูเขา แม่น้ำ ทะเล สวรรค์ ฟ้าคะนอง แผ่นดินไหว เป็นต้น  ในสมัยกษัตริย์เงี้ยว (ไทใหญ่)  จะมีการบูชาเทพประจำฤดูต่างๆ บูชา น้ำ ไฟ ฟ้าแลบ และทะเลสาบ      

        หลักฐานการบูชาเทพเจ้าแห่งการเกษตร ที่สำคัญที่สุดของชนเผ่าไทพบที่แหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้  อำเภออี๋หยาง มณฑลเจ้อเจียงอายุ ๗,๐๐๐ ปี พบภาชนะ งาช้าง และดาบงาช้าง แกะสลักเป็นรูปนกบินเข้าหาดวงตะวัน  อันเป็นสัญลักษณ์ของการบอกเวลาของชนเผ่าไท  ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก สะท้อนว่า ชนเผ่าไทนับถือดวงตะวัน และนก มาไม่ต่ำกว่า  ๗,๐๐๐ ปี มาแล้ว ซึ่งต่อมาพบหลักฐาน ภาพนกบินรอบดวงตะวัน  ทางภาคตะวันตกของจีน ที่แหล่งโบราณคดีจินซา  ที่เมืองเฉิงตู  มณฑลเสฉวน อายุประมาณ ๓,๕๐๐ ปี และพบหลักฐานนกบิน รอบดวงตะวันบนกลองมโหระทึกอีกเป็นจำนวนมากมาย  ซึ่งสะท้อนว่า สัญลักษณ์นี้เป็นภูมิปัญญาของชนเผ่าไท  เพราะกลองมโหระทึกเป็นภูมิปัญญาของชนเผ่าไท  ดังที่ศาสตราจารย์เจียง อึ้ง เหลียงได้เสนอไว้ ต่อมาในสมัยราชวงศ์สาง (ประมาณ ๓,๗๐๐ ปี)  จะนิยมเซ่นไหว้บูชาเทพเจ้าแห่งภูตผีกันอย่างแพร่หลาย ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการกสิกรรม ต่อมาในสมัยราชวงศ์เจ้า (ประมาณ ๓,๐๐๐ ปี) เน้นการดนตรีว่ามีความสำคัญ ในการปกครองประเทศถือว่าการเซ่นบวงสรวงเทพเจ้า มีความสำคัญมาก เช่น การบูชาเทพเจ้า พระธรณี ภูเขา ลำธาร ป่าไม้ บึง บ่อ เป็นต้น  มีระเบียบว่า กษัตริย์เท่านั้น ที่จะเซ่นบูชา ภูเขา และแม่น้ำใหญ่ ทั่วราชอาณาจักร  ถ้าเกิดภัยธรรมชาติ หรือ สุริยคราส จะมีการบูชาเป็นพิเศษ ในสมัยจักรพรรดิจินซีอ๋อง (ประมาณ ๒,๒๐๐ ปี) มีพิธีเซ่นบูชาเทพเจ้าทั้ง ๔  และ บูชาภูเขาตามท้องถิ่นต่าง ๆ   ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฮั่น (ประมาณ ๒,๐๐๐ ปี) ซึ่งเป็นจีนแท้  ส่งเสริมการดนตรีเป็นอย่างมาก มีการบูชาเทพเจ้าทั้ง ๕ คือ เจ้าขาว เขียว เหลือง แดง และดำ  และยังคงมีการบวงสรวงเทพแห่งสวรรค์และพระธรณี สืบเนื่องมาจากสมัยก่อน ปัจจุบันชนเผ่าไทก็ยังคงกระทำพิธีกรรมบูชาเทพเจ้าแห่งการเกษตรอยู่ เช่น เทศกาลบูชาเทพเจ้าแห่งภูเขาของชนเผ่าไทเกอหล่าว และไทปู้ยี  เป็นต้น  พิธีบวงสรวงเทพยดาฟ้าดินเพื่อขอฝนในไทสุ่ย และไทปู้ยี         

กำเนิดพิธีกรรมบูชามังกรเพื่อขอฝนของชนเผ่าไท

        ในสมัยจักรพรรดิเหลือง (เมื่อประมาณ ๔,๗๐๐ ปี) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชนเผ่าไท พระองค์เป็นเพระราชบิดาของพระเจ้าหาว ซึ่งเป็นต้นตระกูลไท พระเจ้าหาวทรงเป็นเทพเจ้าแห่งการเกษตร จักรพรรดิเหลืองเป็นใหญ่อยู่บริเวณมณฑลเฮอหนาน อยู่ใต้แม่น้ำฮวงโห ได้รวบรวมชนเผ่าไทเป็นปึกแผ่น จึงทรงสร้างมังกรขึ้นเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติโดยสร้างจากสัตว์ที่แต่ละเผ่าบูชา (โทเทม) ได้แก่ หัวจากชนเผ่าวัว ลำตัวจากชนเผ่างู เกล็ดและหางจากชนเผ่าปลา เขาจากชนเผ่ากวาง และเท้าจากชนเผ่านก โปรดให้ตั้งชื่อเป็นภาษาไทว่า “หลวง”  หมายถึงเป็นใหญ่และเป็นเจ้าแห่งสรรพสัตว์  มีอิทธิฤทธิ์มากมายกว่าสัตว์ทั้งปวง ต่อมาจึงยกย่องกษัตริย์ที่ทรงคุณธรรมว่า เป็นมังกรทองลงมาจุติ คำว่า”หลวง” จึงนำมาใช้เป็นคำราชาศัพท์ เช่น วังหลวง

        ต่อมาชนเผ่าจีนซึ่งอพยพมาจาก ไชน่าเตอรกีสถาน ได้เข้ามายึดครองสองฝั่งแม่น้ำฮวงโห และได้รับการนับถือมังกรไปจากชนเผ่าไท  และเรียกเพี้ยนเป็น “หลงหรือเล้ง”  และรับการใช้ราชาศัพท์โดยนำคำว่า “เล้ง” มานำหน้าคำนาม เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศจีน จึงได้ใช้คำว่า “เล้ง” แปลคำว่า “นาค” ในภาษาบาลี   ไทเผ่าต่างๆ จะเรียกว่า ตัวลวง ปรากฏในวรรณคดี เช่น ท้าวฮุ่งท้าวเจือง    สังข์ศิลป์ชัยฉบับอีสาน เป็นต้น คำว่า “หลวง”ในความหมายว่า มังกร นอกจากชนชาติจีนจะรับคำไปใช้ ยังมีชนชาติ แม้ว เย้า เวียดนาม  เขมร ก็รับไปจากชนชาติไท   เขมรมีคำเรียกปีมังกรว่า มะโรง

        ชนเผ่าไทนับถือมังกรว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำ  ปรากฏหลักฐานทางภาษาในคำว่า “รุ้งกินน้ำ”  รุ้ง หมายถึง มังกรกำลังให้น้ำ  จากความเชื่อดังกล่าว  จึงเกิดพิธีกรรมบูชามังกร  เพื่อขอฝนในไทเผ่าต่างๆ  เมื่อถึงฤดูทำนา ที่ยังคงกระทำพิธีนี้อยู่คือ  ชนเผ่าไทในประเทศจีน อาทิ ในมณฑลกุ๊ยโจว  ได้แก่ ชนเผ่า ต้ง สุ่ย ปู้ยี เป็นต้น  เมื่อฝนแล้งไม่ตกต้องตามฤดูกาล  ก็จะสร้างรูปตัวมังกรขึ้นจากโครงไม้ไผ่ปิดด้วยกระดาษสีเหลือง  และใช้ผ้าทำหัวมังกร และครอบศีรษะผู้เชิด  ตามด้วยกระบวนแห่ที่ถือธงเขียนข้อความขอฝน  พร้อมกับเป่าปี่ ตีฆ้อง กลอง ฉาบ ฉิ่ง  เพื่อส่งสัญญาณให้พระยาแถนที่อยู่บนฟ้าได้ยิน ปัจจุบัน ชนเผ่าไทในประเทศยังคงกระทำพิธีกรรมบูชามังกร  เพื่อขอฝนอยู่ อาทิ ชนเผ่าปู้ยี ในมณฑลกุ๊ยโจวจะมีประเพณีชักมังกร  ในเทศกาลเพื่อความอุดมสมบูรณ์  หลังจากเชิญมังกรเข้าหมู่บ้าน  จะมีพิธีเซ่นไหว้มังกร  มีดนตรีที่ใช้ในกระบวนแห่ คือ การเป่าปี่  ตีกลอง ฉาบ ฉิ่ง เป็นต้น  รวมทั้งกลองมโหระทึกมีร่วมขบวนอยู่ด้วย

กลองมโหระทึกสัมฤทธิ์  ราชวงศ์สาง

ขลุ่ยทำด้วยกระดูก

สวมหัวประดับขนนก เป่าแคนประกอบการฟ้อนรำ บนกลองมโหระทึก

ชาวไทต้งเป่าแคนประกอบการฟ้อนรำ

ขลุ่ย แคน สมัยราชวงศ์ฮั่น ๒,๑๐๐ ปี 

ตุ๊กตาทำด้วยกระเบื้องเคลือบสีครามราชวงศ์ถัง

ขลุ่ยทำด้วยกระดูกเหยี่ยว

หินจำลองทางเข้าพิพิธภัณฑ์ เหอหมู่ตู้แกะสลักรูปนกบินเข้าหาดวงตะวัน

 
คณะผู้วิจัย
อ.อรไท ผลดี
ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 089-148-7303 , 02-942-8711