ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทางรัฐบาลมีนโยบายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคในชื่อ Detroit of Asia โดยหนึ่งในแผนหลักเป็นการที่จะผลิตวิศวกรในสาขายานยนต์เพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม ทางภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ตระหนักถึงความต้องการและมีความคิดที่จะปรับปรุงเนื้อหาและกิจกรรมของนิสิตเพื่อเพิ่มทักษะทางด้านยานยนต์มากขึ้น จึงได้คิดที่จะมีการดำเนินโครงงานนิสิตแบบต่อเนื่องในหัวข้อเกี่ยวกับการออกแบบรถยนต์ ซึ่งจะเป็นการออกแบบระบบและชิ้นส่วนต่างๆ ภายในรถยนต์ โดยให้มีนิสิตเข้าร่วมหลายกลุ่มโครงงาน ซึ่งแต่ละกลุ่มนิสิตจะรับผิดชอบออกแบบ สร้าง และประกอบ ส่วนต่างๆของรถยนต์ เป็นผลให้นิสิตได้ประยุกต์ใช้ความรู้จากห้องเรียนมาใช้ในการออกแบบและผลิตงานจริงทางวิศวกรรมยานยนต์
ประกอบกับทางสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ของประเทศไทย (Thai Society of Automotive Engineers, TSAE) ได้จัดให้มีการแข่งขันออกแบบรถยนต์นั่งทุกปี โดยรูปแบบการแข่งขันนั้นเป็นไปตามกฎเกณฑ์การแข่งขันของสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ในต่างประเทศ (Society of Automotive Engineers, SAE) ซึ่งเป็นการแข่งขันออกแบบรถแข่งขนาดเล็กแบบที่นั่งเดี่ยว ในแบบรถ Formula ขนาดเล็ก ในชื่อ Formula SAE (FSAE) หรือ Student Formula โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นนี้ทางสมาคมวิศวกรรมยานยนต์แห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาทักษะวิศวกรรมยานยนต์ 2) เสริมสร้างบุคลากรด้านยานยนต์ในประเทศ 3) สนับสนุนการออกแบบ การสร้างยานยนต์และการจัดการอย่างครบวงจร 4) ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมด้านยานยนต์โดยฝีมือคนไทย และ 5) นำไปสู่การแข่งขันระดับโลก ด้วยเหตุผลดังกล่าวทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันในโครงการนี้โดยตลอดมา ซึ่งในปีนี้ได้จัดการแข่งขันขึ้นเป็นปีที่สี่ โดยมีสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันรวมทั้งสิ้น 40 ทีม ในปีนี้ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ได้ส่งทีมเข้าร่วมจำนวนสองทีมด้วยกัน อันได้แก่ ทีมดงตาล และ ทีม KU RAZ I ซึ่งผลการแข่งขันนั้นสองทีมจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้คะแนนรวมทั้งหมดอยู่ในอันดับที่ 5 และ 7 ตามลำดับ
สำหรับรถที่ใช้ในการแข่งขันนั้นถูกออกแบบและสร้างโดยคณาจารย์และนิสิตชั้นปีที่สี่ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ภายใต้กฎเกณฑ์ของทางสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ (Society of Automotive Engineers, SAE) ส่วนการตัดสินการแข่งขันนั้นจะคำนึงถึงสมรรถนะต่างๆ ของรถยนต์ รวมทั้งความสามารถในการออกแบบในเชิงวิศวกรรมของนิสิต ลักษณะเด่นของรถ Student Formula ก็คือ 1) มีเครื่องยนต์วางหลัง 2) ล้อเป็นแบบล้อเปิด 3) ห้องโดยสารมีลักษณะเปิด (ไม่มีหลังคา) 4) มีที่นั่งเดียวโดยมีการกำหนดกฎการแข่งขัน ดังนี้
1. เครื่องยนต์เป็นเครื่องยนต์เบนซิน มีขนาดความจุไม่เกิน 610 ซีซี
2. ความยาวฐานล้อ (Wheelbase) ไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร
3. ต้องมีระยะเบรกจากความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จนถึงหยุดนิ่ง ไม่เกิน 15 เมตร
4. เบรกต้องเป็นแบบดิสค์เบรกทั้ง 4 ล้อ
กิจกรรมนี้นอกจากจะส่งเสริมให้นิสิตได้นำความรู้ต่าง ๆ ทางทฤษฎีที่ได้เรียนรู้ในห้องเรียนมาประยุกต์ในงานจริงแล้ว ยังส่งเสริมให้นิสิตมีประสบการณ์ในการทำงานเป็นทีม การแก้ไขปัญหา รวมถึงการบริหารจัดการต่าง ๆ เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง
 |
 |
รถแข่งทีมดงตาล |
รถแข่งทีม KU RAZ I |
|