การพัฒนาวิธีการตรวจสอบ Ochratoxin A โดยใช้โมโนโคลนอลแอนติบอดี
Development of the Detection Assays for Ochratoxin A by Monoclonal Antibody
รางวัลที่ได้รับ  : ผลงานวิจัยระดับชมเชย สาขาโรคพืชและจุลชีววิทยา
จาก : การประชุมวิชาการอารักขาพืชแห่งชาติ ครั้งที่ 9  ประจำปี พ.ศ. 2552

          

           Ochratoxin A (OTA) เป็นผลผลิตทุติยภูมิของเชื้อราบางสายพันธุ์ คือ Aspergillus ochraceus, A. carbonaris, Pennicillium verruconum  มีพิษโดยตรงต่อไต และมีผลต่อการเกิดมะเร็งไตสัตว์ทดลอง การปนเปื้อนของ OTA อาจพบได้ในผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารสัตว์มากมาย อาทิ ธัญพืชและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์กาแฟ องุ่นและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากโกโก้ และเครื่องเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าอาจมีการปนเปื้อนไปยังผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ได้แก่ นม เลือดหมู ตับ ไต และเนื้อสัตว์ปีกที่เลี้ยงด้วยอาหารปนเปื้อน OTA องค์กรสากล Codex Committee on Food Additive and Contaminants (CCFAC) ได้กำหนดปริมาณการปนเปื้อนของ OTA ในอาหารสำหรับการบริโภคไว้ที่ 5 ppb และ 20 ppb สำหรับวัตถุดิบทางการค้า

           เนื่องจากระดับการยอมรับของ OTA ในอาหารต่ำมาก จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการตรวจสอบที่มีความไว มีความจำเพาะ และถูกต้องแม่นยำสูง คณะผู้วิจัยจึงผลิต monoclonal antibody (MAb) ที่จำเพาะต่อ OTA เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาชุดตรวจสอบแบบรวดเร็วด้วยวิธีการ ELISA ต่อไปในอนาคต โดยเทคนิคไฮบริโดมาและตรวจสอบคุณสมบัติของแอนติบอดีในการทำปฏิกิริยา competitive ELISA (C-ELISA)  ทำให้ได้ MAb รหัส OA3 ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมและนำไปพัฒนาวิธีการตรวจสอบ 2 วิธี ได้แก่ Direct competitive (DC-ELISA) และ Indirect competitive ELISA (IC-ELISA) (ภาพที่ 1)


ภาพที่ 1 การพัฒนาวิธีการตรวจสอบสารพิษ OTA 2 วิธี ได้แก่ (ก) direct competitive ELISA และ (ข) indirect competitive ELISA

           การศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการทำปฏิกิริยา ได้แก่ ความเข้มข้นของแอนติเจนและแอนติบอดี ระยะเวลาในการแข่งขันของแอนติเจนและการเกิดสีหลังจากเติมสับสเตรท การเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการตรวจสอบ OTA ด้วยวิธีการที่พัฒนาขึ้น โดยสร้างกราฟมาตรฐานของสารพิษ OTA ที่ระดับความเข้มข้นในช่วง 0-80 ppb พบว่า วิธี IC-ELISA มีความว่องไวกว่าวิธี DC-ELISA เนื่องจากให้ค่าการดูดกลืนแสงและความชันของกราฟมาตรฐานสูงกว่า (ตารางที่ 1 และภาพที่ 2 ตามลำดับ)

 

ตารางที่ 1 การเปรียบเทียบความเข้มสีปฏิกิริยาของวิธีการตรวจสอบสารพิษ OTA ที่ระดับความเข้มข้นต่างๆ โดยใช้วิธี direct competitive ELISA และวิธี indirect competitive ELISA

 

OTA ppb

Direct competitive ELISA

Indirect competitive ELISA

80

0.102

0.228

40

0.113

0.330

20

0.119

0.534

10

0.145

0.822

5

0.207

1.316

2.5

0.297

1.753

0

1.433

2.790


ภาพที่ 2 เปรียบเทียบเส้นกราฟมาตรฐานของวิธี direct competitive ELISA และวิธี indirect competitive ELISA

ผลการวิจัยในโครงการนี้ได้โมโนโคลนอลแอนติบอดีที่มีคุณภาพ และได้ข้อมูลเบื้องต้นในการนำไปพัฒนาสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ซึ่งยังต้องปรับปรุงในเรื่องของระยะเวลาของการตรวจสอบให้สั้นลงเพื่อผลิตเป็นชุดตรวจสอบที่ใช้งานได้ง่ายและรวดเร็ว แต่ยังคงความแม่นยำ และการตรวจสอบประสิทธิภาพในการตรวจหาสารพิษในตัวอย่างผลผลิตเกษตร

 

 
คณะผู้วิจัย
ผศ.ดร.รัชนี ฮงประยูร1 นางสุวรรณา กลัดพันธุ์2 ผศ.ดร.วราภา มหากาญจนกุล3 น.ส.สมลักษณ์ พุ่มระชัฎ1 และ น.ส.ศรีหรรษา มลิจารย์1
1ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม
2ฝ่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์กลาง สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ
3ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทรศัพท์  0-3428-2494-8 ต่อ 422