ข้าวก่ำโมน่าหรือเคยู โมน่าไรซ์ (KU
Mona Rice) คือ ผลิตภัณฑ์ข้าวหมักสีแดงก่ำด้วยเชื้อรา
Monascus kaoliang KB9 สายพันธุ์พิเศษเฉพาะ พัฒนาโดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก, K.U.) สามารถสร้างสารสำคัญ 2 ประเภทคือ สารสีแดง กลุ่มสารหลัก monascorubrins และสารลดคอเลสเตอรอล กลุ่มสารหลัก monacolins ที่สามารถเร่งสีไข่แดงและลดสารคอเลสเตอรอลในไข่ไก่ได้ตามลำดับ จัดเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีคุณค่าต่อสุขภาพ มีตลาดเป้าหมายรองรับชัดเจน โอกาสขยายการผลิตมีอยู่สูง ช่วยสร้างงานในประเทศและลดการนำเข้าสีสังเคราะห์จากต่างประเทศ
ภูมิหลัง
ความสำคัญและแนวคิด
ไข่ไก่เป็นอาหารที่มีคุณค่าต่อมนุษย์อเนกอนันต์ เป็นอาหารโปรตีนราคาถูก เสริมสมอง สร้างปัญญา เป็นอาหารที่นิยมบริโภคจนต้องมีติดไว้ในครัวเรือนอยู่เสมอ ง่ายต่อการประกอบเป็นอาหาร และทำได้หลากหลายชนิด คนไทยนิยมบริโภคไข่ที่ไข่แดงมีสีเหลืองเข้ม ซึ่งได้จากอาหารที่แม่ไก่ไข่กินเข้าไปหรือโดยการเสริมสีสังเคราะห์ลงในอาหารให้แม่ไก่กิน นักวิชาการอาหารสัตว์พยายามศึกษาหาแหล่งวัตถุดิบธรรมชาติที่ให้สารสี เช่น ข้าวโพด ใบกระถิน และกลีบดอกดาวเรือง เป็นต้น แต่ในบางสภาวะการณ์ การใช้วัตถุดิบดังกล่าวมีข้อจำกัด โรงงานอาหารสัตว์และผู้เลี้ยงไก่ไข่มักเติมสารสีสังเคราะห์ คือ คาโรฟิลล์ลงในอาหารไก่ เพื่อปรับปรุงสีของไข่แดงให้เข้มขึ้น สารสีสังเคราะห์มีราคาแพงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นเหตุให้ต้นทุนการผลิตสูง โดยไม่ได้มีคุณค่าทางอาหารแต่อย่างใด การใช้บางครั้งมีข้อจำกัด ส่วนสารสีที่สกัดจากดอกดาวเรืองหรือกลีบดอกดาวเรืองแห้ง มีสารแซนโทรฟิลล์ในปริมาณสูง ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องปริมาณการใช้ แต่มีข้อจำกัดในเรื่องต้นทุนที่สูง จากสาเหตุหลายประการดังกล่าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยศาสตราจารย์ ดร.บุษบา ยงสมิทธ์ ได้พยายามคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์เชื้อราข้าวแดงที่สามารถหมักจากอาหารเหลวสูตรง่ายๆ ประกอบด้วยแป้งมันสำปะหลังและแป้งถั่วเหลืองให้ได้สารสีแดงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 รวมทั้งได้พัฒนาสายพันธุ์เชื้อราข้าวแดงกลุ่มนี้ให้ได้สายพันธุ์กลายสีแดง สีเหลือง และไม่สร้างสี (albino mutants) สามารถนำมาเพาะเลี้ยงแบบหมักแข็งบนเมล็ดข้าวได้โดยตรง และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มคุณค่าวัตถุดิบทางการเกษตรของไทยให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ใหม่และสารธรรมชาติอื่นๆที่เสริมคุณภาพ มีตลาดรองรับทั้งด้านอาหารและทางเภสัชกรรมได้ (nutraceuticals หรือ functional foods) จากนั้นได้นำเชื้อราข้าวแดงที่เตรียมได้จากห้องปฏิบัติการภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาทดสอบในอาหารไก่ไข่ที่ฟาร์มไก่หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้การดูแลของ รองศาสตราจารย์ ดร.สุภาพร อิสริโยดม เพื่อหาระดับที่เหมาะสมในแง่การเพิ่มสีไข่แดง เพิ่มผลผลิตไข่ คุณภาพไข่ การลดคอเลสเตอรอลในไข่แดงและซีรัม ตลอดจนความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ โดยใช้ไก่ไข่เพศเมียพันธุ์ทางการค้าที่กำลังให้ผลผลิตไข่จำนวน 360 ตัว แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มๆละ 4 ซ้ำๆละ 15 ตัว แต่ละกลุ่มได้รับอาหารทดลอง ดังนี้ กลุ่มที่ 1 สูตรควบคุม (ไม่มีการเสริมสารสีทางการค้า และข้าวแดงจากเชื้อราโมแนสคัสลงในอาหาร) กลุ่มที่ 2 สูตรอาหารควบคุมเสริมสารสีทางการค้า กลุ่มที่ 3, 4 , 5 และ 6 สูตรอาหารควบคุมเสริมข้าวแดงจากเชื้อราโมแนสคัส 0.25, 0.50, 1.25 และ 2.50% ในอาหาร ทำการทดลองเป็นเวลานาน 12 สัปดาห์ พบว่า ไก่ไข่กลุ่มที่ได้รับการเสริมข้าวแดงจากเชื้อราโมแนสคัส 2.5% จะให้ไข่แดงที่มีสีเข้มที่สุด (พัดสีเบอร์ 12.30) เมื่อเทียบกับไก่ไข่กลุ่มอื่นๆ
นอกจากนี้ การเสริมข้าวแดงจากเชื้อราโมแนสคัสในอาหารยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในซีรัมของแม่ไก่ จากงานทดลองในไก่ไข่ พบว่า เมื่อเสริมข้าวแดงจากเชื้อราโมแนสคัสในอาหารไก่ไข่ 0.5% ขึ้นไปจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในไข่แดงลงได้มากกว่า 20% และอาจลดลงได้ถึง 40% หากเสริมในอาหาร 2.5% ระดับคอเลสเตอรอลในไข่แดงที่ลดลงขึ้นอยู่กับระดับข้าวแดงจากเชื้อราโมแนสคัสที่เสริมลงในอาหาร งานทดลองในไก่ไข่จากการทดลองนี้ช่วยยืนยันว่า การเสริมข้าวแดงจากเชื้อราโมแนสคัส 0.5% ในอาหาร เป็นระดับที่เหมาะสมเมื่อคำนึงถึงต้นทุนการผลิตเป็นเกณฑ์ งานวิจัยนี้อยู่ในระหว่างการขยายการหมักที่มุ่งการประหยัดพลังงานและต้นทุนต่อไป ภายใต้การสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานนวัตกรรมห่งชาติร่วมกับบริษัท เฟมไบโอเทค จำกัด และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผลงานวิจัยบูรณาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นี้ จะช่วยให้คนที่ไม่กล้าบริโภคไข่เพราะกลัวไขมันอุดตันในเส้นเลือดกลับมาบริโภคไข่ไก่มากขึ้น ส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่ของคนไทยตามนโยบายของรัฐบาล เพราะไข่จากแม่ไก่ที่ได้รับข้าวก่ำโมน่านี้จะมีคอเลสเตอรอลต่ำกว่าไข่ปกติทั่วไปพร้อมกับเร่งสีไข่แดง เท่ากับสนับสนุนการเลี้ยงไก่ไข่ของประเทศทั้งในระดับอุตสาหกรรมและเกษตรกรรายย่อย
ศักยภาพในการพัฒนาใช้ประโยชน์ข้าวก่ำโมน่า
1. |
จากผลิตภัณฑ์ที่ได้ในห้องปฎิบัติการ มีแนวโน้มว่า มีศักยภาพที่สามารถขยายการผลิตสู่อุตสาหกรรมได้ นับว่าเป็นทางเลือกใหม่ในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่นอกจากจะให้ไข่แดงมีสีเหลืองสดน่ารับประทานแล้ว ยังให้ไข่แดงที่มีคอเลสเตอรอลลดลงกว่าไข่ปกติอีกด้วย |
2. |
ข้าวก่ำโมน่า (KUMona Rice) สามารถใช้ทดแทนสารสีสังเคราะห์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปี ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ ลดการนำเข้าสารสีสังเคราะห์ที่ถูกกำหนดราคาโดยบริษัทต่างประเทศ |
3. |
ข้าวก่ำโมน่า พัฒนาจากการใช้ประโยชน์วัตถุดิบทางการเกษตรของประเทศไทย คือ ปลายข้าวหอมมะลิ ผลิตภัณฑ์หมักที่ได้สามารถใช้เป็นอาหารเสริมเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของไทย |
เทคโนโลยีที่ใช้ในปัจจุบันนับว่าเป็นแนวความคิดใหม่ ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถให้ผลได้ทั้งการเร่งสีและลดคอเลสเตอรอลในไข่แดงของไข่ไก่ แต่ข้าวแดงจากเชื้อราโมแนสคัสสายพันธุ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สามารถให้ผลได้ทั้งสองอย่าง (duofunctions) โดยเป็นผลิตภัณฑ์จากกรรมวิธีตามธรรมชาติ จึงมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค สามารถควบคุมคุณภาพและปริมาณการผลิตได้

ภาพที่ 1 ลักษณะการเจริญบนปลายข้าวหอมมะลิของเชื้อราโมแนสคัสสายพันธุ์พ่อแม่ (KB9) หรือ “ข้าวก่ำโมน่า” สายพันธุ์กลายสีแดง สายพันธุ์กลายสีเหลือง สายพันธุ์กลายที่ไม่สร้างสี สายพันธุ์มาตรฐาน Monascus purpureus ATCC 16365 และสายพันธุ์มาตรฐาน Monascus purpureus NRRL 2897 ในสภาวะการบ่มที่อุณหภูมิห้อง (28-30 °C) เป็นเวลา 14 วัน

ภาพที่ 2 สีไข่แดงไข่ไก่ที่เสริมข้าวแดงจากเชื้อราโมแนสคัสระดับต่างๆ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมและ กลุ่มที่เสริมสารสีทางการค้า

ภาพที่ 3 คอเลสเตอรอลในซีรัมและไข่แดงของไก่ไข่ที่เสริมข้าวแดงจากเชื้อราโมแนสคัสระดับต่างๆ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม และกลุ่มที่เสริมสารสีทางการค้า
ผลงานวิจัยและสิ่งตีพิมพ์ที่นำเสนอในการประชุมนานาชาติ
- Dontri T., S. Isariyodom, B. Yongsmith, S. Tongyai and N. Sinbuathong. 2008. Supplementation of Red Mold Rice from an Egg Yolk Pigmented and Cholesterol Lowering Monascus Strain on Egg Performance and Quality in Laying Hens. Paper Presented at The 13th AAAP Animal Science Congress 2008 “Animal Agriculture and the Role of Small Holder Farmers in a Global Economy”. Held at The International Convention Center, Hanoi. Vietnam. September 22-26, 2008. ได้รับรางวัล The 7th Excellent Presentation Award สาขา Food safety in livestock production
- Chayawat, J., S. Jareonkitmongkol, A. Songsasen, S. Isariyodom and B. Yongsmith. 2008. Rice Solid Fermentation of Monacolins and Pigments by Monascus kaoliang KB9 and its color mutants. J. of Biotechnology. 136S:S750. และนำเสนอในการประชุมวิชาการนานาชาติ International Symposium of Biotechnology. October 12-17, 2008 ณ เมือง Dalian. People Republic of China.
- Chayawat, J., S. Jareonkitmongkol, A. Songsasen, and B. Yongsmith. 2008. Pigments and anticholesterol agent production by Monascus kaoliang KB9 and its color mutants in rice solid cultures. Kasetsart J. (Nat. Sci.) 43: 696-702.