พจนานุกรมสารสนเทศภาษามือไทย
Thai Sign Language Online Dictionary
รางวัลที่ได้รับ : รางวัลชนะเลิศ การประกวดนวัตกรรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2552
สาขาศึกษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ประเภทอาจารย์ นักวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จาก : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

                     พจนานุกรมนี้เป็นสื่อสารสนเทศฉบับแรกสำหรับภาษามือไทยที่เกิดจากการวิเคราะห์ภาษามือไทยในแนวภาษาศาสตร์ภาษามือ เป็นพจนานุกรมดิจิตอลต้นแบบสามภาษา ได้แก่ภาษามือไทย ภาษาไทยและ ภาษาอังกฤษ โดยมีลักษณะสำคัญ ดังนี้ี้
  • มีการแสดงรูปมือลักษณนามภาษามือไทยในภาพสามมิติ สำหรับคำนามที่เป็นศัพท์ตั้งกว่า  500 คำ 
    เสมือนมีพจนานุกรมย่อย “พจนานุกรมลักษณนามภาษามือไทย” ในพจนานุกรมรวม
  • มีวิดีโอแสดงท่ามือประกอบศัพท์ตั้งในหมวดคำต่างๆ เช่น คำนาม  คำกริยา  เป็นต้น
  • มีวิดีโอแสดงท่ามือการสะกดนิ้วมืออักษรไทย  
  • มีคำอธิบายไวยากรณ์ภาษามือไทยที่เป็นผลจากการวิเคราะห์ทางภาษาศาสตร์  โดยฉเพาะการจัดประเภท และวากยสัมพันธ์ของคำกริยา  และการจัดประเภทลักษณนาม
  • มีวิดีโอแสดงท่ามือภาษามือเชียงใหม่ และท่ามือภาษามือสงขลา ควบคู่กับท่ามือภาษามือไทย(กลาง) สำหรับศัพท์ตั้งประมาณ 200 คำ
  • มีศัพท์ตั้งและคำอธิบายสองภาษา ได้แก่ภาษาอังกฤษ และภาษาไทยประมาณ 1,000คำ
  • มีบทเรียนภาษามือไทยเบื้องต้น พร้อมวิดีโอ  ภาพนิ่ง และคำอธิบายทั้งในภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
  • เป็นผลงานวิจัยที่เกิดจากคณะผู้วิจัยที่เป็นผู้ได้ยินปกติและผู้ที่มีความบกพร่องในการได้ยิน
  • เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากคณะผู้วิจัยที่เป็นทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
  • เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากความร่วมมือและการสนับสนุนทั้งจากสถาบันภาครัฐและเอกชน
                สื่อสารสนเทศพจนานุกรมภาษามือไทยนี้   ทำให้การสืบค้นศัพท์ และข้อมูลภาษามือไทย  สามารถเข้าถึงได้ง่าย  สะดวกและรวดเร็วทันการ  และสามารถเข้าถึงได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ   เป็นประโยชน์สำหรับคนหูหนวกไทย   คนหูหนวกต่างประเทศ   คนไทยทั่วไปที่สนใจเรียนภาษามือไทยเป็นภาษาที่สอง  ชาวต่างประเทศทั่วไปที่สนใจเรียนภาษามือไทยเป็นภาษาต่างประเทศ   คนไทยและชาวต่างประเทศตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ต้องการติดต่อกับคนหูหนวกไทยการมีสื่อสารสนเทศ พจนานุกรมภาษามือไทย นี้  ทำให้เกิดคลังข้อมูลภาษามือไทยใหม่ที่สะดวกและง่ายในการสืบค้นสำหรับคนหูหนวกไทย และคนทั่วไป   ซึ่งจะช่วยลดช่องว่าง  และ/หรือขจัดปัญหาในการสื่อสารระหว่างคนหูหนวกกลุ่มต่างๆ  และระหว่างคนหูหนวกกับคนที่ได้ยินปกติ    อันจะมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนหูหนวกไทย  สอดคล้องกับแนวนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และแผนการศึกษาชาติ  ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนคนหูหนวก  และต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวมสามารถชมผลงานซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการได้ที่ http://pirun.ku.ac.th/~fhumalt/THSL/THSL/THSLindex.html                                                                

 

 

 
คณะผู้วิจัย
รศ. ดร. อภิลักษณ์  ธรรมทวีธิกุล    นางสาวจิรภา  นิวาตพันธุ์  และ Mr. Philipp Dill 
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.  02-579-5566-8 ต่อ1517