การพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนในพื้นที่ชลประทาน
โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
Development of Sustainable Agriculture in the Irrigated Area of the Royal-initiated
Upper Lam Phayang River Basin Development Project, Khao Wong District, Kalasin Province

       เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำทำการเกษตร อุปโภค บริโภคได้ตลอดทั้งปี มีการส่งน้ำชลประทานด้วยระบบท่อครอบคลุมพื้นที่ 4,600 ไร่ ในตำบลสงเปลือย และ ตำบลคุ้มเก่า ของอำเภอเขาวง  จังหวัดกาฬสินธุ์  ต่อมาทางภาครัฐได้สนับสนุนให้เกษตรกรหลายรายในพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ได้รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำทำแปลงสาธิตไร่นาสวนผสมตามแนวทางการเกษตรทฤษฎีใหม่  และ จัดอบรมให้ความรู้ด้านการเกษตรแก่เกษตรกรในโครงการเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ทรัพยากรน้ำและที่ดินอย่างคุ้มค่าตลอดทั้งปี  อย่างไรก็ตามเกษตรกรในพื้นที่ใช้ประโยชน์จากระบบชลประทานดังกล่าวในฤดูแล้งหลังการทำนาต่ำกว่าเป้าหมายติดต่อกันมานานหลายปีอันมีเหตุจากความไม่สมดุลในปัจจัยทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และ ทรัพยากร (เช่น ดินเลว ตลาดไม่มี การจัดการไม่ดี มีวัวมาก เป็นต้น) โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่โครงการที่มีความต้องการความรู้ที่จำเป็นและยังขาดทักษะในการประกอบอาชีพ (หนึ่งฤทัย, 2547)

       ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะที่ควบคุมการปนเปื้อนของอะฟลาทอกซินได้ถือเป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงและเป็นที่ต้องการมากในการผลิตอาหารสัตว์  ข้าวโพดคุณภาพดีสามารถผลิตได้ในพื้นที่นาที่มีน้ำชลประทานอย่างพอเพียงภายหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี (โชคชัย และคณะ, 2546) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงถูกส่งเสริมให้แก่เกษตรกรในพื้นที่โครงการได้ปลูกเพื่อเป็นอาชีพเสริมรายได้หลังการทำนา  โดยผลผลิตถูกขายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรนอกพื้นที่โครงการ  การสร้างเครือข่ายที่ปราศจากผู้เอารัดเอาเปรียบทางการค้าด้วยอาศัยหลักพึ่งพาอาศัยกันช่วยให้เกษตรกรมั่นใจในการผลิตเพื่อขาย  เกษตรกรได้ประโยชน์จากผลพลอยได้ต่างๆ จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาที่เกื้อกูลวัฒนธรรมการเกษตรหลักทั้งการเลี้ยงวัว และ การทำนา ได้แก่ การได้หญ้าหรือต้นและใบข้าวโพดสดเป็นอาหารวัวในฤดูแล้ง  การปรับปรุงบำรุงดินในแปลงนาด้วยการไถกลบมูลวัวและตอซังข้าวโพดซึ่งมีผลทำให้ปักดำกล้าข้าวได้ง่ายขึ้น  และ เพิ่มผลผลิตข้าวนาปีโดยลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ (อำพล และ คณะ, 2552)  นอกจากนี้ผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่โครงการเพิ่มพื้นที่ผลิตข้าวโพดเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสุกรมากขึ้น (รุ่งโรจน์ และ คณะ, 2552) และ พบว่าเกษตรกรผู้นำได้ทำความเข้าใจกระบวนการวิจัยและทำแปลงทดลองเพื่อสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาด้วย

       นายวาท นนท์ศิริ  เกษตรกรผู้นำวัย 54 ปี เป็นผู้ได้ประโยชน์จากการใช้พื้นที่และช่วงเวลาระหว่างการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังการทำนาทั้ง 2 ปีการเพาะปลูก  โดยได้ล้อมรั้วพื้นที่นาของตนเอง ปลูกข้าวโพดหวาน และ ผักสวนครัวเป็นแปลงเล็กๆ ต่อมาพบว่าพืชผักที่ปลูกมีความต้องการใช้น้ำมากขึ้น และ มีรอบให้น้ำถี่กว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  ซึ่งมีความเสี่ยงที่พืชผักจะเสียหายจากการขาดน้ำได้  ถ้าต้องรอให้น้ำตามรอบการจัดสรรน้ำชลประทานระบบท่อ  จึงลงทุนขุดสระน้ำขนาดเล็กเพื่อใช้กักเก็บน้ำสำรองประจำไร่นาและเลี้ยงปลานิล  ต่อมาได้สร้างเพิงพักและสุขาในแปลงนา  นอกจากค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลดลงด้วยการเก็บผักสวนครัวที่ปลูกไว้รับประทานเองแล้ว  การนำผลผลิตพืชและปลาในสระไปขายในหมู่บ้านทำให้มีรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น และใช้เวลาว่างที่เหลือในแต่ละวันเดินเก็บมูลวัวบนถนนมาสะสมไว้ใช้ด้วย  พบว่ามีรายรับมากกว่ารายจ่ายอยู่มากกว่า 15,000 บาท  หลังการเก็บเกี่ยวข้าวโพดและผักจะมีเศษซากพืชสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบทำปุ๋ยหมัก  หลังการกระเทาะเมล็ดข้าวโพดทุกครั้งจะเก็บซังข้าวโพดมาใช้หุงหาอาหาร  หลังการจับปลาในสระจะเก็บหอยเชอรี่มาทำน้ำหมัก  การใช้ชีวิตที่เรียบง่ายประกอบกับการมีความขยันขันแข็ง  อีกทั้งการมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนบ้านและไม่คิดทำกำไรจากพืชผักที่เหลือไว้เพื่อจำหน่ายในชุมชน  ทำให้ครอบครัวของเกษตรกรรายนี้และคนในชุมชนมีความสุขมากขึ้น 

        การพัฒนาการเกษตรชลประทานที่ยั่งยืนจำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้ในหลายด้าน และที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร  การวิจัยเชิงบูรณาการโดยใช้ปัญหาเป็นตัวนำจะเป็นเครื่องมือในการสร้างเวทีการเรียนรู้ระบบเกษตรชลประทานของทั้งนักวิจัยและเกษตรกรได้เป็นอย่างดี  เกษตรกรและนักวิจัยที่ผ่านการเรียนรู้การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังการทำนาด้วยการปฏิบัติจริงร่วมกัน ใช้หลักเหตุและผล และ ความซื่อสัตย์จริงใจต่อกันในการเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์ และช่วยเสริมสร้างกำลังใจในการพัฒนาทางเลือกที่เหมาะสมในการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของชุมชนได้  กิจกรรมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังการทำนาชี้ให้เห็นความต้องการของเกษตรกรที่ต้องการรายได้มาเพิ่มความสุข แต่วันนี้เกษตรกรและนักวิจัยได้พิจารณากิจกรรมที่เพิ่มความสุขก่อนกิจกรรมที่เพิ่มรายได้ด้วย เช่น การผลิตพืชและสัตว์เพื่อใช้บริโภคช่วยลดค่าใช้จ่ายประจำวันในครัวเรือนที่สามารถกระทำได้อย่างรวดเร็ว และมีความเสี่ยงน้อยกว่า  ส่วนการเสริมสร้างทุนทางปัญญา การจัดสรรความลงตัวพอดีของกิจกรรมและทรัพยากรต่างๆในท้องถิ่นโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของตนเองและคนในท้องถิ่นจะช่วยให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ และ มีความสุขมากขึ้น  นอกจากนี้ผลงานที่เป็นรูปธรรมจะเป็นทางเลือกของเกษตรกรในตำบลคุ้มเก่าซึ่งจะได้รับน้ำจากอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์เพื่อจรรโลงความหมายที่ลึกซึ้งของคำว่า “น้ำคือชีวิต” ในพื้นที่โครงการอีก 12,000 ไร่ต่อไปอีกด้วย

กิตติกรรมประกาศ

       ขอขอบคุณนายอำเภอเขาวง เกษตรอำเภอเขาวง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคุ้มเก่า ผู้อำนวยการโครงการชลประทานกาฬสินธุ์ ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หัวหน้าสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ รศ.ดร.สาวิตรี รังสิภัทร์ ดร. สมชาย บุญประดับ ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ อาจารย์สุโชติ ดาวสุโข อาจารย์สุภาวดี มีสิทธิ์ คุณไพฑูรย์ คดีธรรม คุณอำพล ตมโคตร คุณสมศักดิ์ ชมภูพงษ์ คุณประสิทธิ์ หลวงมณี คุณเผ่า ทองวิจิตร คุณคำไพ อินอุ่นโชติ คุณประจน เนื้อศรี คุณจอ ศรีไม คุณพิจิต คนซื่อ คุณเพลินสนุก นิละปะกะ คุณฉวี บุญจันทร์ศรี คุณเสกศักดิ์ เรืองไชย คุณวิภาพร เกียรตินิติประวัติ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติให้ความอนุเคราะห์เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดสุวรรณ 5  เครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ให้ยืมเครื่องกะเทาะเมล็ดข้าวโพด บริษัท สินธุ์สุวรรณเคมิคัล จำกัด นิสิตหลักสูตรเคมีการเกษตร และ มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชนที่ให้การสนับสนุนการวิเคราะห์ดินด้วยชุดตรวจสอบเอ็นพีเคในดิน กลุ่มงานพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำ กลุ่มวิจัยเกษตรเคมี สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตรที่ให้ความอนุเคราะห์การวิเคราะห์ดินในห้องปฏิบัติการ วิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตำบลคุ้มเก่า (รหัสทะเบียน 4-46-06-01/1-0014) ครอบครัวพิทักษ์ด่านธรรม และ ครอบครัวนนท์ศิริ ที่ให้ความร่วมมือในการทำวิจัยรวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง อาหาร ที่พัก และ ที่ประชุม  และ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้การสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยต่อยอด

นายวิศักดิ์ อารมณ์สวะ ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ (ริมขวา)

นายวาท นนท์ศิริ เกษตรกรผู้นำในการพึ่งพาตนเอง (ริมซ้าย)

 

 
คณะผู้วิจัย
ดร.รุ่งโรจน์ พิทักษ์ด่านธรรม1 ดร.รักศักดิ์ เสริมศักดิ์2  อ.ปพิชญา จินตพิทักษ์สกุล3  อ.วุฒิดา รัตนพิไชย1 น.ส.ปวีณา ทองเหลือง4 อ.สุภาภรณ์ เลิศศิริ3
รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ3 และ ผศ.พิบูลย์ กังแฮ1
1ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2ภาควิชาเกษตรกลวิธาน  คณะเ้กษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3ภาควิชาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
4สถานีวิจัยพืชไร่สุวรรณวาจกกสิกิจ สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.  02-942-8104  E-mail: agrrrp@ku.ac.th