ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ตั้งอยู่ ณ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เป็นพื้นที่ต้นแบบของการวิจัยที่นำผลไปพัฒนาพื้นที่เป้าหมายอีก 2 อำเภอคือ อำเภอบ่อเกลือและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ สภาพนิเวศเกษตรของศูนย์ภูฟ้าพัฒนา มีลักษณะภูมิประเทศ เป็นสภาพพื้นที่ภูเขาจนถึงพื้นที่ภูเขาสูงชันมากไม่เหมาะสมสำหรับการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 400-800 เมตร พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกษตร ภายใต้ระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำมีเนื้อที่ประมาณ 1,150 ไร่ พื้นที่ไม่เหมาะต่อการเกษตรมีเนื้อที่ประมาณ 2,580 ไร่ ประชาชนที่อยู่โดยรอบศูนย์มีความเป็นอยู่ที่ยากจนประกอบอาชีพการทำการเกษตรเป็นหลัก ปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด และนาข้าวมีการปลูกไม้ผลบ้างจำนวนเล็กน้อย ปัญหาที่พบคือ การเพาะปลูก พืชที่ไม่ถูกวิธีในพื้นที่ดังกล่าวเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการกร่อนของดินหรือการชะล้างพังทลายของดินมากขึ้น รวมทั้งดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
การปลูกพืชผสมผสานเป็นระบบหนึ่งของการใช้ประโยชน์ที่ดินปลูกพืชอย่างยั่งยืน เป็นการใช้ ทรัพยากรที่มีอยู่ภายในไร่นา เช่น ดิน น้ำ แสงแดด อย่างเหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความสมดุลของสภาพแวดล้อมและเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ การปลูก พืชผสมผสานมีหลักการสำคัญคือ ปลูกพืชหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน แบ่งระดับการปลูกพืชตั้งแต่ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม้ผลขนาดต่าง ๆ และพืชที่ระดับคลุมดิน ได้แก่ พืชสวนครัว พืชสมุนไพร เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เกษตรกรมีอาหารและปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางรายได้ และยังช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อม โดยไม้ยืนต้นและพืชคลุมดินจะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และช่วยลดการบุกรุกทำลายป่าไม้
ดังนั้นจึงควรที่จะหาวิธีการเพาะปลูกในเชิงอนุรักษ์ดินและน้ำ เช่นระบบวนเกษตร การปลูกไม้ยืนเช่นไม้ผลเพื่อทดแทนป่าไม้ที่ถูกถากถางเพื่อทำไร่เลื่อนลอย เพื่อเป็นรายได้และลดการทำลายสภาพแวดล้อม แหล่งน้ำ ให้เกิดความยั่งยืนและความอุดมสมบูรณ์ของที่ดิน เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในการดำเนินโครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาและการถ่ายทอดความรู้การพัฒนาไปสู่ราษฎรในท้องที่อำเภอบ่อเกลือและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน
ไม้ผล 5 ชนิด ได้แก่ มะม่วง อะโวกาโด มะคาเดเมีย พลับ และมะไฟจีน ปลูกทดสอบที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ตำบลบ่อเกลือ ที่ความสูงของพื้นที่ประมาณ 500-600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง และมีความลาดเอียงของแปลงประมาณ 5-15 % เมื่อเดือนกรกฎาคม 2545 จากการศึกษาการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตพบว่ามะม่วงพันธุ์ปาล์มเมอร์และมะม่วงมหาชนก มีการเจริญเติบโตและออกดอกติดผลได้ดีกว่ามะม่วงแก้วน่าน อะโวกาโดพันธุ์ปิเตอร์สัน สามารถออกดอกและติดผลได้เร็วกว่าพันธุ์อื่น มะคาเดเมีย พันธุ์เบอร์ 508 และ พันธุ์H2 ออกผลได้ เมื่ออายุประมาณ 6 ปีหลังปลูก มะไฟจีนมีการเจริญเติบโตไม่ดีทุกพันธุ์ ในปี 2552 ได้ปลูกกาแฟอีก 2 ชนิด ได้แก่ พันธุ์อราบีก้า และกาแฟ โรบัสต้า เพื่อทดลองเปรียบเทียบผลผลิต ปลูกสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ ชมิ้นชัน ไพล และกระชายดำโดยทดลองปลูกสภาพกลางแจ้ง และพรางแสงใต้ไม้ผล เพื่อเปรียบเทียบการให้ผลผลิต การเก็บข้อมูลของการทดลองจะดำเนินไปจนถึงสิ้นปี 2553
ผลการดำเนินการในรอบปี พ.ศ. 2552 1) ไม้ผล
1.1 มะม่วง ในปี 2552 มะม่วงพันธุ์ ปาล์มเมอร์และพันธุ์มหาชนก ออกดอกได้ดีในเดือน
มกราคมถึงกุมภาพันธุ์ คุณภาพผลดีเมื่อมีการห่อผลป้องกันแมลงวันทอง
1.2 อะโวกาโด พันธุ์ Peterson เริ่มออกดอกติดผลในเดือนเมษายนก่อนพันธุ์อื่นๆพันธุ์ Buccaneer ให้การเจริญเติบโตด้านความสูงและทรงพุ่มมากกว่าพันธุ์อื่น
1.3 พลับ พันธุ์อังไสเริ่มออกดอกในเดือนเมษายนและติดผลก่อนพันธุ์อื่นๆ
1.4 มะคาเดเมีย เริ่มออกดอกและติดผลในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2551 ในพันธุ์ เบอร์ 508 และ เบอร์ H2 เมื่ออายุประมาณ 6 ปี
1.5 มะไฟจีน ต้นเจริญเติบโตช้าหรือมีการเพิ่มทางความสูงน้อยมากทุกพันธุ์ และยังไม่ออกดอก
2) กาแฟ เริ่มปลูกทดสอบ เมื่อ สิงหาคม 2552 ใช้พันธุ์ อราบีก้า เป็นพันธุ์หลัก และพันธุ์ โรบัสต้าปลูกเปรียบเทียบโดยปลูกใต้ทรงพุ่มไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ระยะปลูก 2 x 1.5 เมตร การเจริญเติบโตมีการแตกยอดใหม่แล้ว 1 ครั้ง ทั้ง 2 พันธุ์
3) พืชสมุนไพร ได้แก่ ขมิ้นชัน ไพล และ กระชายดำ ที่ปลูกกลางแจ้งมีการเจริญเติบโตดีกว่าที่ปลูกใต้ทรงพุ่มมะม่วงที่แสงน้อยกว่า
4) ต้นไม้ป่า ได้แก่ มะแข่น เป็นไม้ทรงพุ่มโปร่ง สูง ปลูกเป็นระยะ 12×12 เมตรห่างกว่าไม้ผลทุกชนิดเริ่มออกดอกและติดเมล็ด ในปี พ.ศ. 2551 ใช้ในการประกอบอาหารของภาคเหนือเช่นลาบ
สรุป
ไม้ผล 4 ชนิด มะม่วง อะโวกาโด มะคาเดเมีย พลับ มีการเจริญเติบโตดี ยกเว้นมะไฟจีนซึ่งเติบโตช้ามาก ซึ่งจะต้องศึกษาการเจริญเติบโตของไม้ผลทุกชนิดต่อไป กาแฟต้องศึกษาต่อไปเพราะเพิ่งเริ่มปลูกยังไม่มีข้อมูลการเจริญเติบโตและผลผลิต ส่วนพืชสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด เจริญเติบโตในสภาพกลางแจ้งได้ดีกว่าใต้ทรงพุ่มไม้ผล มะแข่นสามารถปลูกร่วมในแปลงไม้ผลได้ดี
ภาพแปลงทดลองและผลไม้ชนิดต่างๆที่ดำเนินงานในปี พ.ศ. 2552
|