การพัฒนาพื้นที่ชนบทโครงการภูฟ้าพัฒนาฯ โดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตทางการเกษตรและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชนบทในพื้นที่สูง
The rural development for The Phu Fa project using agroforestry system to provide value added of agricultural products, and to improve quality of life for the highland rural people

           โครงการภูฟ้าพัฒนาฯ ตั้งอยู่ในพื้นที่สูงชันของตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปัจจุบันราษฎรในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขายังมีปัญหาความยากจน ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ขาดโอกาสทางสังคมโดยเฉพาะการศึกษาและการสุขอนามัย นอกจากนี้ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะดินและป่าไม้อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากการทำไร่เลื่อนลอย การเผาบุกรุกทำลายป่าอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะผลผลิตข้าวไร่ซึ่งในแต่ละปีไม่สามารถผลิตให้เพียงพอต่อการบริโภค นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบโดยรวมต่อสิ่งแวดล้อมและผลผลิตโดยรวมของจังหวัดน่าน การบุกรุกทำลายป่าบนพื้นที่สูงชันทำให้เกิดดินถล่มในฤดูฝนทุกปี เกิดน้ำท่วม รวมทั้งดินที่ถูกกัดชะพังทลายลงมาสู่แม่น้ำน่านทำให้แม่น้ำตื้นเขินมีปริมาณตะกอนสูงเกิดมลภาวะและส่งผลต่อจำนวนและการแพร่กระจายพันธุ์ของสัตว์น้ำในแม่น้ำน่าน ดังนั้นการหาแนวทางในการฟื้นฟูส  ภาพแวดล้อมเพื่อให้มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ร่วมกับการสร้างรายได้เสริมโดยพัฒนาผลผลิตจากการเกษตร ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นในพื้นที่นี้

          โครงการภูฟ้าพัฒนาฯ ตั้งอยู่ในพื้นที่สูงชันของตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สถาบันผลิตผลเกษตรฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าว ประกอบกับสถาบันฯ มีฐานข้อมูลงานวิจัยในโครงการ The research project for higher utilization of forestry and agricultural plant materials in Thailand (HUFA; 1996-2001) ซึ่งเป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ JICA ทำให้ได้แนวทางการจัดการวัตถุดิบต้นปอสา และมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ จากงานวิจัยนี้ทำให้ได้ผลต่อเนื่องเป็นวิทยานิพนธ์ของนิสิตปริญญาเอกซึ่งได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้โครงการดังกล่าวไปเรียนต่อ ณ มหาวิทยาลัยเอฮิเมะ (April 2002 - March 2005) โดยศึกษาระบบวนเกษตรบนพื้นที่สูงในพื้นที่โครงการภูฟ้าโดยปลูกปอสาควบกับถั่วแดงญี่ปุ่น ทำให้ได้ผลตอบแทนสูงแก่เกษตรกรและยังช่วยลดการสูญเสียธาตุอาหารจากการชะล้างพังทลายของดินอีกด้วย และเพื่อให้ผลงานของโครงการ HUFA ได้มีการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อพัฒนาชนบทและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และเพื่อสนองพระราชดำริและเร่งให้เกิดการพัฒนาชนบทที่ห่างไกลให้ดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ สถาบันผลิตผลเกษตรฯ ซึ่งมีความรู้ เทคโนโลยี และศักยภาพของบุคลากรจึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนในการใช้ที่ดิน รักษาสภาพแวดล้อม และภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตได้ในพื้นที่ให้มีมูลค่าเพิ่ม ปรับปรุงคุณภาพชีวิตโดยการสร้างรายได้ โอกาส และทางเลือกให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาผู้ด้อยโอกาสทางสังคม รวมถึงจัดอบรมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้อันจะนำไปสู่การพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืนในที่สุด โครงการนี้จะมีวิธีการดำเนินการบนพื้นฐานการพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่

1.ด้านอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมและสาธิตการปลูกพืชในระบบวนเกษตร (Agroforestry system) ในพื้นที่ของเกษตรกรให้มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นและหลากหลายทำให้รายได้เพิ่มขึ้น และระบบ Alley cropping การปลูกพืชแบบขั้นบันได (Terrace) และการปลูกพืชควบในแปลงข้าวไร่ จะทำให้การหมุนเวียนของธาตุอาหารในดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถลดอัตราการชะล้างพังทลายและการสูญเสียหน้าดิน (erosion and soil loss) ด้วย

2.ด้านการพัฒนาผลิตผลทางการเกษตร โดยอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรที่ปลูกได้ในพื้นที่ ได้แก่ ปอสา (Paper mulberry) ชาอู่หลง (Oolong tea) ชาใบหม่อน (mulberry) และถั่วแดงญี่ปุ่น (Azuki bean) ซึ่งจะนำมาพัฒนาเป็นสินค้าชนิดใหม่ หรือสินค้า OTOP สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ได้แก่ กระดาษสาและผลิตภัณฑ์จากกระดาษสา ชาจีนและชาฝรั่งคุณภาพดีจากใบชาอู่หลง สบู่ชาเขียว ถั่วแดงญี่ปุ่นในน้ำผึ้งอัดกระป๋อง ถั่วแดงญี่ปุ่นกวน และถ่านอัดแท่งชีวภาพจากเศษไม้และวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร

3. ด้านการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยทำการรวบรวมพืชสมุนไพรและตำรับยา รวมทั้งพันธุ์กล้วยไม้พื้นเมืองในท้องถิ่น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และเก็บรักษาพันธุ์สมุนไพรและกล้วยไม้พื้นเมืองที่นับวันจะสูญหายไป

วัตถุประสงค์หลักของแผนงานวิจัย

  1. เพื่อพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนในการใช้ที่ดิน รักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และภูมิปัญญาท้องถิ่น
  2. เพื่อพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตได้ในพื้นที่ให้มีมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ราษฎรในท้องที่ พัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สามารถจำหน่ายเป็นสินค้า OTOP ของชุมชนได้
  3. เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตโดยการสร้างรายได้ โอกาส และทางเลือกให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาผู้ด้อยโอกาสทางสังคม โดยจัดอบรมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้อันจะนำไปสู่การพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน

ประกอบด้วย 7 โครงการย่อย ดังนี้

  1. โครงการย่อยที่ 1 การสำรวจรวบรวมขยายพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์กล้วยไม้และสมุนไพรพื้นเมืองเพื่อคืนสู่ธรรมชาติและเสริมสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ
  2. โครงการย่อยที่ 2 การพัฒนาการปลูกพืชในระบบวนเกษตรเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน 
  3. โครงการย่อยที่ 3 การใช้ประโยชน์จากถั่วแดงญี่ปุ่นในพื้นที่โครงการภูฟ้าพัฒนาฯ
  4. โครงการย่อยที่ 4 การผลิตพลังงานจากชีวมวลไม้โตเร็วในพื้นที่โครงการภูฟ้าพัฒนาฯ
  5. โครงการย่อยที่ 5 การใช้ประโยชน์จากชาและการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากใบชา
  6. โครงการย่อยที่ 6 การผลิตกระดาษด้วยมือและการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้ชีวมวลจากศูนย์ภูฟ้าพัฒนาฯ
  7. โครงการย่อยที่ 7 การศึกษาและประเมินผลกระทบและผลสำเร็จของโครงการต่างๆ ภายใต้โครงการภูฟ้าพัฒนาฯ

ผลสำเร็จและความคุ้มค่าของการวิจัยตามแผนการบริหารงานและแผนการดำเนินงานตลอดแผนงานวิจัย

  1. ยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่โครงการภูฟ้าพัฒนาฯ โดยราษฎรในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่ม สามารถจัดหาปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพได้ด้วยตนเอง
  2. ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีอาหารพอเพียง มีสุขภาพอนามัยดีขึ้น ได้รับโอกาสทางการศึกษา มีศักยภาพและเวลาใส่ใจกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นที่ดีงาม อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

เป้าหมายผลงานวิจัยตลอดโครงการ (ทั้งชุดโครงการ)

ปีงบ
ประมาณ

ผลงานวิจัยที่คาดว่าจะได้

2551

1. ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับพันธุ์กล้วยไม้พื้นเมืองและสมุนไพร ข้อมูลระบบวนเกษตรของพืชที่จะปลูก, สมบัติทางกายภาพเคมีของถั่วแดงและชาที่ปลูกในพื้นที่ภูฟ้าพัฒนาฯ, ชีวมวลในพื้นที่โครงการภูฟ้าพัฒนาฯเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานและกระดาษและข้อมูลเบื้องต้นของราษฎรในพื้นที่โครงการภูฟ้าพัฒนาฯ
2. ขยายพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์กล้วยไม้พื้นเมืองและสมุนไพรเพื่อคืนสู่ธรรมชาติ ข้อมูลพืชที่ปลูกในระบบวนเกษตร, กระบวนการพัฒนผลิตภัณฑ์ถั่วแดง และชา ที่ปลูกในพื้นที่ภูฟ้าพัฒนา, ศึกษาการใช้ชีวมวลในพื้นที่โครงการภูฟ้าพัฒนาฯ เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงาน, พัฒนากระดาษชีวมวลในพื้นที่โครงการภูฟ้าพัฒนาฯ และข้อมูล เบื้องต้นเรื่องเศรษบกิจของราษฎรในพื้นที่โครงการภูฟ้าพัฒนาฯ

2552

1. พันธุ์กล้วยไม้พื้นเมืองและสมุนไพรเพื่อคืนสู่ธรรมชาติ, ข้อมูล ชนิดพืชและระบบการเกษตรในพื้นที่เพื่อหารูปแบบวนเกษตรที่เหมาะสมรวมถึงเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ,สูตรและกรรมวิธีการผลิต ผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากถั่วแดงญี่ปุ่น 2 ผลิตภัณฑ์, สภาวะที่เหมาะสมในการผลิตถ่านไม้และน้ำส้มควันไม้ รวมถึงประสิทธิภาพการผลิต, สูตรและกรรมวิธีการผลิตชาเขียวและเจลผสมน้ำชา, การถ่ายทอดความรู้ในการผลิตกระดาษด้วยมือสู่เกษตรกรและรูปแบบการประเมินและทำการทดสอบแบบสอบถามภายในพื้นที่             
2. เรือนกล้วยไม้-สมุนไพรภูฟ้า, ออกแบบระบบวนเกษตรและจัดทำแปลง, ผลิตภัณฑ์จากถั่วแดงญี่ปุ่นอีก 2 ผลิตภัณฑ์, พัฒนาการใช้ประโยชน์และการผลิตพลังงานจากชีวมวล, ผลิตภัณฑ์ชาเขียวผสมข้าวคั่วและผลิตภัณฑ์เจลล้างมือ, ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรในการผลิตกระดาษและสรุปประเมินสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของชุมชนเป้าหมายด้านการตลาด

2553

1. เอกสารการถ่ายทอดการปลูก กล้วยไม้-สมุนไพรภูฟ้า, การปลูกพืชระบบวนเกษตร, การแปรรูปผลิตภัณฑ์ถั่วแดงและชา, การผลิตพลังงานจากชีวมวล
2. เกษตรกรในพื้นที่โครงการภูฟ้าพัฒนาฯ ที่ได้รับการถ่ายทอด

 

ตัวอย่างพันธุ์ไม้ที่สำรวจพบในพื้นที่โครงการ

ตัวอย่างพันธุ์ไม้ที่สำรวจพบในพื้นที่โครงการ

แปลงทดลองในพื้นที่โครงการ

แปลงทดลองในพื้นที่โครงการ

  

  DSC05599

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากผลผลิตของโครงการ

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากผลผลิตของโครงการ

     

การทำกระดาษสาจากวัตถุดิบของโครงการ

การทำกระดาษสาจากวัตถุดิบของโครงการ

 
คณะผู้วิจัย
รศ.ดร. เพ็ญขวัญ ชมปรีดา ผู้อำนวยการชุดโครงการ
นางสาวพนิดา วงษ์แหวน   ดร.มะลิวัลย์  ธนะสมบัติ      รศ.ดร.เพ็ญขวัญ  ชมปรีดา
นางสาวอุดมลักษณ์ สุขอัตตะ    นายเกษม  หฤทัยธนาสันติ์    นายวุฒินันท์  คงทัด   และ นางฤดี ธีระวนิช
ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทรศัพท์-โทรสาร   0-2942-8661