“ภูฟ้า” อ.บ่อเกลือ จ.น่าน
ตำบลภูฟ้าเป็นตำบลที่แยกการปกครองออกมาจากตำบลบ่อเกลือใต้ ทิศเหนือ ติดกับ ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่านทิศใต้ ติดกับ บ้านแม่สะนาน ต.พงษ์ อ.สันติสุข จ.น่าน ทิศตะวันออก ติดกับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านหลักลาย ต.อวน อ.ปัว จ.น่าน ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ (ข้าวไร่, ข้าวโพด, เลี้ยงวัว, สุกร, ไก่) ราษฎรเป็นคนพื้นเมือง 4 หมู่บ้าน ชนเผ่าลัว 2 หมู่บ้าน นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ ต.ภูฟ้า มีทั้งหมด 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนากอก บ้านห่างทางหลวง บ้านผาสุข บ้านสบมาง บ้านกอก และบ้านห้วยล้อม ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง สภาพทั่วไปของตำบลภูฟ้าเป็นภูเขาสูงที่พื้นราบมีน้อย สภาพป่าไม้เป็นป่าไม้ต้นน้ำน่าน อากาศเย็นมี 2 ฤดู ฤดูหนาว และฤดูฝน มีแม่น้ำไหลผ่าน 3 สาย น้ำว้า น้ำมาง น้ำปัน ซึ่งก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ จำนวนประชากรในเขต อบต. 2,861 คน 756 หลังคาเรือน อาชีพหลัก ทำสวน/ ทำไร่ หาของป่า รับจ้าง อาชีพเสริม อุตสาหกรรมในครัวเรือน จักสานหญ้าสามเหลี่ยม ฯลฯ สถานที่สำคัญ ได้แก่ โครงการภูฟ้าพัฒนาฯ วังควายมัจฉา (แหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลา) พระตำหนักภูฟ้า เป็นต้น (www.thaitambon.com, 2552)
ตำบลบ่อเกลือใต้ เป็นตำบลในเขตการปกครองของอำเภอบ่อเกลือ ประกอบด้วย 15 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านบ่อหลวง, บ้านผาคับ, บ้านนาขาม, บ้านผักเฮือก, บ้านนาขวาง, บ้านนาคอก, บ้านนาเปรื่อง, บ้านดงผาปูน, บ้านน้ำหมาว, บ้านยอดดอยวัฒนา, บ้านก่อกวง, บ้านหนองน่าน, บ้านขุนน้ำแพะ, บ้านนาบง และบ้านห้วยโป่ง
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา 85% ที่ราบภูเขา 15% ของสภาพที่ตั้ง มีความลาดชัน 8-16% ที่ตั้งของหมู่บ้านตามแนวยาวจากเหนือจดใต้เป็นหย่อมหมู่บ้านเฉลี่ยความสูงจากระดับน้ำทะเลโดยประมาณ 400-1,100 เมตร ยอดเขาที่สูงที่สุดประมาณ 1,700 เมตร ทิศเหนือ ติดกับ ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ทิศใต้ติดกับ ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ทิศตะวันออก ติดกับประเทศลาว ทิศตะวันตกติดกับ ต.อวน, ต.ศิลาเพชร อ.ปัว จ.น่าน จำนวนประชากรในเขต อบต. มีจำนวน 4,903 คน 1,004 หลังคาเรือน อาชีพหลัก ทำสวน ทำไร่ อาชีพ
เสริมการทำหัตถกรรมเครื่องจักสาน ไม้ไผ่ หญ้าสามเหลี่ยม การหาของป่า สมุนไพร สถานที่สำคัญ ได้แก่ บ่อเกลือภูเขา น้ำตกห้วยตี้ น้ำตกผาเลียง ถ้ำผาเก้า เป็นต้น (www.thaitambon.com, 2552)
ปัจจุบันพื้นที่ “ภูฟ้า” เป็นที่ตั้งของโครงการพระราชดำริฯ คือ “ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาฯ” ซึ่งเป็นโครงการที่มีส่วนพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่คนท้องถิ่นในพื้นที่ทั้ง อ.บ่อเกลือ และอำเภอใกล้เคียง คือ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.บ่อเกลือ เดิมเรียกว่า เมืองบ่อ ซึ่งหมายถึง บ่อน้ำเกลือสินเธาว์ที่มีอยู่ในพื้นที่ซึ่งเดิมมีอยู่จำนวน 9 บ่อ เมืองบ่อเดิมทีเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีความสำคัญมาตั้งแต่ในอดีตกาล ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตามพงศาวดารเมืองน่าน มีคำเล่าขานของ ผู้เฒ่าผู้แก่ว่า เดิมทีนั้นบรรพบุรุษของชาวบ่อเกลือ อยู่ที่ประเทศมองโกเลียและประเทศจีน หนี้ลี้ภัยมาทางแม่น้ำเหลืองเข้าสู่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทางประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวไม่อนุญาตให้อาศัยอยู่ได้ จึงพากันข้ามแม่น้ำโขงมาอาศัยอยู่ที่เมืองเชียงแสน แล้วย้ายมาหักร้างถางพงทำเกลืออยู่ที่นี่ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวบ่อหลวงในปัจจุบันนั่นเอง ดังนั้นชุมชนบริเวณนี้จึงได้เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ (http://th.wikipedia.org, 2552)
ชนท้องถิ่นของ อ.บ่อเกลือ ปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เป็นชาวเผ่าลั๊วะ ที่อพยพมาจากเชียงแสนเมื่อหลายร้อยปีก่อน (www. pcuinnovation.com, 2552) และเผ่ามลาบรี (ตองเหลือง) (www.tourinthai.com, 2552)
|
|
|
รูปที่ 11-13 สภาพภูมิประเทศของพื้นที่ “ภูฟ้า” |
|
|
|
รูปที่ 14 ชุมชนของชาว “ภูฟ้า” |
|
รูปที่ 15 “พ่ออุ๊ย” หรือ ผู้เฒ่าชาว “ภูฟ้า”
หนึ่งในผู้ทรงภูมิปัญญาด้านการใช้พืชสมุนไพร |
|
|
|
ในปี 2552-53 จุฑามณี และคณะ ได้ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติด้านพืชพรรณในพื้นที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาฯ อ.บ่อเกลือ จ.หวัดน่าน มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) สำรวจความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติด้านพืชพรรณในพื้นที่โครงการภูฟ้าพัฒนาฯ (2) วิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติด้านพืชพรรณโดยภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งด้านพืชอาหาร พืชสมุนไพร และพืชเพื่อการใช้สอยของชุมชนในพื้นที่โครงการภูฟ้าพัฒนาฯ (3) จัดทำฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยเพื่อบ่งชี้จุดที่มีการกระจาย ข้อมูลเกี่ยวกับพืชชนิดนั้นๆ และคุณประโยชน์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นของพืชพรรณแต่ละชนิดในพื้นที่โครงการภูฟ้าพัฒนาฯ และนำเสนอต่อสาธารณชนในรูปแบบของออนไลน์เว็บไซต์ และ (4) พัฒนานวัตกรรมโดยสร้างสื่อ (media) ด้วยโปรแกรม e-book และหนังสืออ่านสำหรับเด็ก อันเป็นแหล่งการเรียนรู้ (learning sources) ของนักเรียนในโรงเรียนในชุมชนในพื้นที่โครงการภูฟ้าพัฒนาฯ เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น โดยทำการศึกษาพื้นที่การใช้ประโยชน์ประเภทต่างๆ ได้แก่ พื้นที่ป่าชายบ้านในเขตที่อยู่อาศัย วนเกษตร และพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนโดยรอบโครงการภูฟ้าพัฒนาฯ การสุ่มตัวอย่างใช้วิธีการวางแปลงสำรวจพันธุ์ไม้ 3 ขนาด คือ ขนาด 1x1 ตารางเมตร ขนาด 5x5 ตารางเมตร ขนาด 20x20 ตารางเมตร แต่ละขนาดมี 30 แปลง การศึกษาเชิงลึกถึงการใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นของพืชชนิดนั้นๆ
ผลการศึกษาวิจัยในช่วง 1-10 เดือน (เมษายน 2552-มกราคม 2553) ที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจพืชพรรณธรรมชาติในโซนที่อยู่อาศัยและโซนเกษตรกรรมของชุมชนในพื้นที่โครงการภูฟ้าพัฒนาฯ (ต.ภูฟ้า และ ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน) พบพืชพรรณธรรมชาติจำนวน 87 ชนิด จำแนกเป็นไม้ยืนต้นและลูกไม้ จำนวน 17 ชนิด ไม้พุ่ม 11 ชนิด ไม้เลื้อย 11 ชนิด ไม้คลุมดิน 21 ชนิด ไม้ล้มลุก 21 ชนิด และพืชน้ำจำนวน 6 ชนิด สามารถจำแนกลักษณะทางอนุกรมวิธานได้ 45 วงศ์ 79 สกุล ไม้ยืนต้น (tree) ได้แก่ กระถินเทศ จามจุรี จิก เชียด ดีหมี เติม ทิ้งถ่อน ปอหูช้าง ผีเสื้อ พิลังกาสา เพกา ยาบใบยาว สะเดา ส้มจี๋ ขี้เหล็ก และทองหลาง ไม้พุ่ม (shrub) ได้แก่ กระตังบาย ชุมเห็ดไทย มะแว้งต้น ไผ่ซางดอย ผักคันทรง หวายดำ หญ้าขัดใบป้อม หญ้าขัดใบยาว หนาด มะเขือพวง และต๋าว ไม้เลื้อย (vine) ได้แก่ กะทกรกป่า เสาวรส เกล็ดนาคราช เครือเถากาด เถาวัลย์ปูน มันดง มันเสา ลิเภายุ่ง ขี้กา และตดหมูตดหมา พืชคลุมดิน (ground cover) ได้แก่ กูด น้ำนมราชสีห์ ผักปลาบใบแคบ ผักปลาบในกว้าง บัวตอง ผักบุ้งนา กระดุมทองเลื้อย บัวบก ไมยราบต้น ไมยราบไทย หญ้ากร่อน หญ้าคมบางเล็ก หญ้าคา หญ้าถอดปล้อง หญ้าตองกง หญ้าตีนนก หญ้าเขมร หญ้าแฝก หญ้าง๊าด หญ้าขจรจบ และกกสามเหลี่ยม ไม้ล้มลุก (herb) ได้แก่ กรดน้ำ กล้วยป่า คว่ำตายหงายเป็น โด่ไม่รู้ล้ม บอน บุก ผักหนาม ผักแครด ผักโขมหนาม พญายอ ละหุ่งขาว ว่านชักมดลูก สาบแร้งสาบกา สาบเสือ เส้ง สับปะรดป่า อุตพิษ เอื้องเพ็ดม้า พญาใต้ใบ เทียนนา และกะเม็ง และพืชน้ำ ได้แก่ ขาเขียด ผักแว่น นางรักทุ่ง ตาลปัตรฤาษี กูดเขากวาง และแหนเป็ดใหญ่
จากการสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์พืชพรรณธรรมชาติตามภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวภูฟ้า พบว่า มีพืชพรรณธรรมชาติในพื้นที่ “ภูฟ้า” หลากหลายชนิดที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์โดยภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งเป็นพืชอาหาร พืชสมุนไพร หรือการผลิตเป็นข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งพืชบางชนิดกลายเป็นสินค้าที่สำคัญของชุมชน และได้รับการส่งเสริมเป็นสินค้าหัตถกรรมในโครงการภูฟ้าพัฒนาตามแนวพระราชดำริฯ อาทิ เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากก้านดอกของหญ้าสามเหลี่ยม
การใช้เถาวัลย์ปูนซึ่งเป็นพรรณไม้เถาที่ชาว อ.บ่อเกลือนำมาใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญาที่สืบทอดมาแต่โบราณ เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น คือ การนำเถาของพืชชนิดนี้มาต้มรวมกับน้ำเกลือสินเธาว์ที่ได้จากบ่อเกลือโบราณที่สำคัญในพื้นที่นี้ ซึ่งจะทำให้ผลึกของเกลือมีความละเอียดและมีสีขาวสดใส
จากการสำรวจพืชพรรณธรรมชาติในพื้นที่ภูฟ้า ในโซนของชุมชน และพื้นที่เกษตรกรรมที่ห้อมล้อมด้วย พื้นที่ป่าไม้ ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1-A นั้นทำให้ได้พบพืชพรรณธรรมชาติชนิดต่างๆ ที่มีคุณค่าหลากหลายชนิด ที่ชาวบ้านมีการนำมาใช้ประโยชน์เป็นความรู้ที่สืบทอดอยู่ในชุมชนทั้งมีการใช้เป็นพืชอาหาร พืชสมุนไพร ตลอดจนการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถจำหน่ายเป็นสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้ จึงนับว่าเป็นการผสมผสานที่ที่มีคุณค่าของมรดกทางทรัพยากรธรรมชาติกับมรดกทางภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของ “คนกับป่า” ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อหนุนกันและกันในการดำรงชีวิต จะเป็นเรื่องน่ายินดีนิ่งนักหากชาวบ้านได้เห็นคุณค่าและหวงแหนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศของ “ภูฟ้า” ไว้ให้สมบูรณ์ดังเดิมสู่รุ่นลูกหลานต่อๆ ไปในอนาคต
|