ในปัจจุบันความต้องการใช้ไม้ยางพาราทั้งในด้านเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือความต้องการใช้เนื้อไม้โดยตรงยังคงมีอยู่และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากไม้มีคุณสมบัติเฉพาะตัวและความสวยงาม จากความสำคัญและความต้องการใช้ไม้เพิ่มมากขึ้น การค้นคว้าและการวิจัยเพื่อเป็นแนวทางในการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาปรับใช้ต่ออุตสาหกรรมการผลิตประเภทต่างๆที่ใช้ไม้เป็นวัตถุดิบ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกระบวนการผลิต การใช้ประโยชน์ และการเพิ่มมูลค่าของไม้ขึ้นมา
ในสถานการณ์ปัจจุบันไม้ชนิดสำคัญ และมีขนาดใหญ่ในป่าธรรมชาติสามารถหาได้ยาก เนื่องจากถูกนำไปใช้อย่างฟุ่มเฟือยในอดีต จึงทำให้เหลือเพียงไม้ไม่กี่ชนิดที่นำมาใช้ในงานปัจจุบัน ไม้ยางพาราก็เป็นไม้จำนวนนั้น แต่เนื่องจากการใช้ประโยชน์จากไม้ยางพาราที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ยังเป็นการใช้ประโยชน์ไม่ได้อย่างคุ้มค่า ดังนั้นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงมีความจำเป็นและต้องนำมาใช้มากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของไม้ยางพาราได้อย่างสูงสุด และมีอายุการใช้งานยืนยาว กอร์ปกับอุตสาหกรรมที่ใช้ไม้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ อันได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ และผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา อุตสาหกรรมแผ่นไม้ประกอบ ฯลฯ มีความต้องการใช้บริการทางวิชาการในภาควิชาวนผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้คุณภาพของเฟอร์นิเจอร์ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา มีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ไม้เชิงวิศวกรรมจากไม้ยางพารา
ประเทศไทยใช้ไม้ยางพาราในอุตสาหกรรมไม้แปรรูป, เฟอร์นิเจอร์, ทำแผ่นไม้ประกอบ ฯลฯ ซึ่งไม้ยางพาราถือว่าเป็นไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยในแต่ละปีจะมีการโค่นต้นยางพาราปีละ 25,000 ไร่ แต่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 30-35% ส่วนที่เหลือจะถูกเผาทิ้ง และไม้ที่นำมาใช้ประโยชน์ในแต่ละขั้นตอนก็มีการสูญเสียอย่างมากมาย เช่นในการเลื่อยไม้ยางพาราจะมีการสูญเสียถึง 50-55% ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวทำให้คณะผู้วิจัยมีความคิดว่าหากเราสามารถเพิ่มมูลค่าจากไม้ยางพาราจากโรงงานอุตสาหกรรมไม้ยางพารา ประกอบกับประเทศไทยมีการเจริญเติบโตในด้านก่อสร้างสูงขึ้นทุกปีทำให้เกิดความคิดว่าถ้าสามารถนำไม้ยางพาราที่มีมากมายเหล่านี้มาทำเป็นวัสดุก่อสร้าง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศจึงทำให้เกิดแนวความคิดในการทำ Engineered Wood จากไม้ยางพารา ซึ่งผลงานวิจัยนี้สามารถที่จะเพิ่มมูลค่าไม้ยางพารา ซึ่งในปัจจุบันไม้ยางพารามีราคาสูงขึ้นทุกๆวันซึ่งจะทำให้เป็นการใช้ประโยชน์ไม้ยางพาราได้อย่างคุ้มค่าสูงสุดและตอบสนองต่อความต้องการของประเทศในด้านการก่อสร้างได้อย่างถูกต้อง
ระบบการปลูกยางพาราเพื่อผลิตชิ้นไม้สับ
ในปัจจุบันประเทศไทย มีการใช้ไม้ยางพาราขนาดเล็กที่ใช้จากกิ่ง,ก้าน เพื่อใช้ในการผลิตอุตสาหกรรมแผ่นไม้ประกอบ เช่น Particle board MDF แต่เนื่องจากการใช้ไม้เหล่านั้นต้องรอการโค่นไม้ยางพาราที่มีอายุประมาณ 25 ปี ทำให้มีปริมาณไม่เพียงพอต่อการผลิตในอุตสาหกรรม คณะผู้วิจัยจึงมีความคิดว่า ถ้ามีการจัดการปลูกไม้ยางพาราแบบใหม่ เพื่อให้ผลผลิตในการเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมภายในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น (3ปี) และยังสามารถมีต้นยางพาราเหลือไว้สำหรับกรีดยางได้ตามปรกติเหมือนเดิม ซึ่ง จะเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น การใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างคุ้มค่า และที่สำคัญทำให้มีวัตถุดิบป้อนต่อโรงงานอุตสาหกรรมแผ่นไม้ประกับอย่างพอเพียง
|