“คลินิกเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ”
Healthy Food Menu Clinic

          

           ในสังคมยุคปัจจุบันพบว่าผู้บริโภคมีพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม มีการบริโภคผักผลไม้น้อย มีการบริโภคอาหารที่มีรสหวานและมีไขมันสูง ส่งผลให้เกิดปัญหาของการมีน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆตามมาอีกหลายชนิด  เช่น โรค  เบาหวาน โรคไขมันอุดตันในหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคและเป็นภาระในการดูแลรักษาทั้งในระดับครอบครัวและประเทศ นอกจากนี้ยังพบปัญหาดังกล่าวในคนที่มีอายุน้อยมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเห็นความสำคัญในการนำเสนอเมนูอาหารเพื่อสุขภาพเพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ ลดความเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนตลอดช่วงวัยต่างๆ  ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โดยมีการเผยแพร่ผลงานวิจัยรวม 4 เรื่อง ได้แก่ เรื่อง “80 ตำรับอาหารพระราชทานสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน”  “การพัฒนาผลิตภัณฑ์นักเก็ตผัก”  “การใช้สารทดแทนไขมันในการผลิตขนมเปี๊ยะแคลอรีต่ำ” และ “การพัฒนาขนมไทยที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีพลังงานต่ำ” มาประกอบคำแนะนำเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ และการนำเมนูอาหารเพื่อสุขภาพไปใช้ประโยชน์สำหรับครอบครัว ชุมชน และการพัฒนาสู่ระดับธุรกิจ นอกจากนี้คลินิกให้บริการการประเมินภาวะโภชนาการของผู้สนใจด้วยค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) ปริมาณไขมันและปริมาณน้ำในร่างกาย เพื่อให้คำแนะนำการบริโภคอาหารที่เหมาะสมกับภาวะโภชนาการของผู้บริโภค

                ผลงานวิจัย เรื่อง “80 ตำรับอาหารพระราชทานสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน” เป็นผลงานวิจัยที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระดำริและมีพระมหากรุณาธิคุณทรงประทานข้อแนะนำองค์ความรู้จากผลงานพระวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทที่ทรงศึกษาในสาขาวิชาพัฒนาการครอบครัวและเด็ก  ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เพื่อเป็นกรอบในการศึกษาเพิ่มเติมจากรายการอาหารที่ใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กในส่วนภูมิภาค เพื่อนำมาจัดทำเป็นตำรับอาหารเพื่อส่งเสริมโภชนาการสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนและจัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาที่เวียนมาบรรจบในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารในการนำตำรับพระกระยาหารจานโปรดของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ จำนวน 9 รายการ มารวมไว้ใน 80 ตำรับอาหารพระราชทานด้วย

                การจัดเมนูอาหารกลางวันเพื่อสุขภาพสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนควรคำนึงถึงหลักการจัดอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านสมอง ควรคำนึงถึงความพอประมาณของค่าใช้จ่ายด้วยการเลือกใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น การใช้อาหารตามฤดูกาล และการวางแผนการผลิตที่ดี รวมทั้งความปลอดภัยในการบริโภค ให้มีการปรุงอาหารถูกสุขลักษณะและการใช้ส่วนผสมที่สะอาด มีคุณภาพมาตรฐาน นอกจากนี้ควรใช้เทคนิคที่จะช่วยให้อาหารดูน่ารับประทาน อันจะช่วยส่งเสริมการบริโภคอาหารของเด็ก

พระกระยาหารจานโปรดพระเจ้าหลานเธอ     พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ
·  ข้าวผัดแอปเปิล
·  แกงจืดบะช่อฟัก
·  ต้มซุปไก่
·  ปลากะพงนึ่งซีอิ้ว
·  ปลาทับทิมผัดซอสมะเขือเทศ
·  ปลาสับปั้นทอด
·  หมู-ไข่พะโล้
·  โคโรเกะ
·  โครเกตไส้แฮม

                ผลงานวิจัย เรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารนักเก็ตผัก” เกิดจากแนวคิดในการส่งเสริมการบริโภคผักเพื่อสุขภาพ โดยการนำส่วนผสมของผักชนิดต่างๆประกอบด้วยมันฝรั่งบดร้อยละ 46.41 และผักรวมร้อยละ 46.41 ซึ่งได้แก่ แครอท ข้าวโพดหวาน เมล็ดถั่วลันเตา เห็ดหอมแห้ง ผสมกับ เกลือป่น เนยสด ผงฟูสองขั้นตอน น้ำตาลทรายขาว ไข่ขาวผง ทดแทนเนื้อสัตว์และผสมกับเครื่องเทศ ประกอบด้วยกระเทียงผง ลูกผักชีป่น ซีอิ้วขาว เพื่อกลบกลิ่นเหม็นเขียวของผัก นำมาอัดในแม่พิมพ์ ห่อด้วยพลาสติก พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นรูปที่เรียกว่า “นัตเก็ต” (nugget) นำแช่แข็งที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 ชั่วโมง แล้วนำออกมาตัดเป็นชิ้นขนาดหนา 1 เซนติเมตร นำไปชุบกับน้ำแป้งชุบทอดและขนมปังป่น แล้วทอดในน้ำมันก่อนบริโภค ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีสีเหลืองกรอบน่ารับประทาน

1

1

                ผลงานวิจัย เรื่อง “การใช้สารทดแทนไขมันในการผลิตขนมเปี๊ยะแคลอรีต่ำ”  เป็นงานวิจัยที่มีเป้าหมายในการลดปริมาณไขมันในขนมเปี๊ยะด้วยการใช้มอลโตเดกตริน (maltodextrin) ซึ่งเป็นสารโพลิเมอร์ของน้ำตาลที่ได้จากการย่อยสลายแป้ง ไม่มีรสหวาน สามารถย่อยสลายในระบบทางเดินอาหาร โดยผสมในส่วนผสมของแป้งสาลี น้ำ น้ำตาลทราย น้ำมันพืชบางส่วน มอลโตเดกตรินช่วยทำให้เกิดเจลที่สามารถทดแทนส่วนผสมที่เป็นไขมันและน้ำมันในขนมเปี๊ยะ ทำให้ขนมเปี๊ยะมีพลังงานลดลงจากเดิม ส่วนไส้ประกอบด้วยไส้ถั่วแดงหรือไส้เผือกหรือไส้อื่นๆตามชอบ อบที่อุณหภูมิ 170 องศาเซลเซียส โดยใช้ไฟล่างเป็นเวลาประมาณ 30 นาที

                ผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาขนมไทยที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีพลังงานต่ำ”  เป็นงานวิจัยที่มีเป้าหมายในการลดพลังงานในขนมไทย ด้วยการใช้ซูคราโลสซึ่งเป็นสารให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงานทดแทนน้ำตาลในขนมไทยประเภทแกงบวด ทับทิมกรอบ หม้อแกง และตะโก้ พบว่าสามารถทดแทนน้ำตาลในระดับต่างกันในขนมไทยแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่ของน้ำตาลในขนม  และส่งผลให้ขนมมีพลังงานต่ำลง นอกจากนี้การใช้กะทิธัญพืชทดแทนกะทิเพื่อปรับสัดส่วนของกรดไขมันอิ่มตัว กรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง และกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้นในขนมหม้อแกงและตะโก้ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค ส่วนแกงบวด และทับทิมกรอบ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังชอบกลิ่นหอมและรสชาติของกะทิจากมะพร้าวมากกว่า

1
ขนมหม้อแกงพลังงานต่ำ

1
ตะโก้พลังงานต่ำ

                                การประเมินภาวะโภชนาการด้วยค่าดัชนีมวลกายเป็นวิธีประเมินอย่างง่ายและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลถึงการบอกภาวะการมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมและความสัมพันธ์กับภาวะอ้วน ผอมของร่างกายเพื่อเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพของตนเองและการเลือกอาหารบริโภค นอกจากนี้การประเมินภาวะไขมันในร่างกาย ยังช่วยบอกภาวะความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด บุคคลที่มีไขมันในช่องท้องมากพบว่ามีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าคนที่มีไขมันในส่วนอื่นของร่างกาย

 

   
คณะผู้วิจัย :
ทัศนีย์ ลิ้มสุวรรณ,   มาริษา ภู่ภิญโญ, สุจิตตา เรืองรัศมี,  สาวิตรี พังงา  และ  สุขกมล ปัญญาจันทร์
หน่วยงาน   
ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.    0-2579-5514 ต่อ 108, 102 08-9107-4492