คลิินิก ปลวก ศัตรูในบ้านเรือน ศัตรูทางการเกษตร และการป้องกันกำจัดด้วยสมุนไพร
Termites Household Pests, Agricultural Pests and Their Control with Herbs
        
          
               การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม (climatic changes) โดยเฉพาะระดับน้ำเค็มใต้ดิน (ground salt water levels) และความร้อนของพื้นพิภพ (global warming) ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นประสานกับการแผ่ขยายพื้นที่เมือง (urbanization) นำไปสู่ปัญหาแมลงศัตรูพืชและศัตรูในบ้านเรือน ทำให้ปีหนึ่งๆประเทศไทยต้องนำเข้าสารเคมีมาใช้กำจัดปลวกและศัตรูในบ้านเรือนและทางการเกษตรจำนวนมาก ซึ่งเป็นสาเหตุของอันตรายต่อผู้บริโภค สภาพแวดล้อม พิษตกค้างในอาหาร การสร้างความต้านทานและยังเป็นปัญหาต่อเนื่องกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ เราทราบหรือไม่ว่าสารเคมีต่างๆที่เรานำเข้ามาใช้มีอยู่แล้วในพืชสมุนไพรของบ้านเราทั้งสิ้น

                พืชก็เหมือนสัตว์โดยทั่วไป เป็นสิ่งที่มีชีวิตที่ต้องต่อสู้ กับการรบกวนจากสัตว์กินพืช (herbivores) เช่นแมลง และสัตว์ศัตรูพืชอื่นๆเช่นหนูเป็นต้น รวมไปถึงการต้านทานโรคพืชของพืชแต่ละชนิดด้วย สิ่งที่มีชีวิตเหล่านี้มีวิวัฒนาการมาพร้อมๆกัน (Co-evolution) นับพันล้านปี และถือเป็น animal plant interaction ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่นำไปสู่วิวัฒนาการของการคัดเลือกตามธรรมชาติ (Natural selection) ส่วนหนึ่งของการป้องกันตัวของพืชคือการสร้างสารสำคัญตามธรรมชาติที่เรียกว่าสารทุติยภูมิ (secondary plant substanes) ซึ่งเป็นสาร alleochemicals สารดังกล่าวเป็นสารที่เกิดจากกระบวนการเมแทบอลิซึมในการดำรงชีพของพืช และได้รับการคัดเลือกตามธรรมชาติ ให้คงอยู่ในระบบนิเวศวิทยา ทำให้พืชเหล่านี้ประสบผลสำเร็จอยู่รอดจากศัตรูนับพันล้านปี พืชชนิดใดก็ตามที่มีการสร้างสารเหล่านี้ไม่เพียงพอก็จะถูกคัดเลือกทิ้งจากระบบนิเวศไป ตัวอย่างสารสำคัญที่พืชสร้างขึ้นเช่นสารในกลุ่ม Triterpinoids ที่พบในต้นสัก ที่ปลวกไม่สามารถย่อยสลายได้ ทำให้ไม้สักเป็นต้นไม้ชนิดเดียวที่ปลวกไม่กิน รากหางไหลมีสารที่เรียกว่า rotenone จะทำให้สัตว์ไม่สามารถสร้างพลังงานได้และตายในที่สุด

                สารเคมีธรรมชาติในพืชอีกหลายชนิดที่แสดงผลโดยตรงและโดยอ้อมต่อประชากรศัตรูพืชและศัตรูในบ้านเรือน เช่นสาร curcumin ที่พบในเหง้าขมิ้นชัน มีผลหยุดการทำงานของเอนไซม์ของเชื้อราและฆ่าจุลินทรีย์ในท้องปลวก สาร annonine ในเมล็ดน้อยหน่า มีผลต่อการทำลายเยื่อ mucus membrane ใช้ในการควบคุมประชากรของไรแดงอัฟริกันได้อย่างดี สาร azadirachtin จากเมล็ดสะเดามีผลต่อการยับยั้ง ecdysol hormone ลดการพัฒนาการของหนอนใยผัก สาร rotenone จากรากหางไหล และรากหนอนตายหยากเป็นสารที่มีผลต่อการหายใจระดับเซลล์กำจัดแมลงปากดูดและเจาะดูด และปลวก สาร citronellol จากใบตะไคร้หอม มีผลต่อเอนไซม์ที่ใช้ในการสื่อประสาทในยุง แมลงวัน และ แมลงสาบ สาร eupathal จากใบสาบเสือมีผลต่อการเพิ่มปริมาณเกล็ดเลือดในสัตว์เลือดอุ่นและลดระดับเอนไซม์เอสเทอเรสทำให้แมลงไม่วางไข่ ใช้ในการกำจัดหนอนใยผัก และเห็บหมัด สาร capsaisin จากเมล็ดพริก เป็นสารที่เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ในระบบ mixed function oxidase ลดอนุมูลอิสสละในสัตว์เลือดอุ่นแต่ลดปฏิกิริยา glutathion-S-transferase ในมอดข้าวสาร กดภูมิคุ้มกันในปลวก รวมทั้งเป็นองค์ประกอบของสมุนไพรอื่นเช่น ฟ้าทะลายโจรในการไล่หนู และใช้ผสมกับสารสกัดจากสาบเสือใช้ไล่นกพิราบ สาร selinnadiene ในหัวแห้วหมูเป็นสารที่มีโครงสร้างคล้าย organochlorine มีผลในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์เอสเทอเรสในปลวก และลูกน้ำยุงก้นปล่องและไล่จิ้งจก รวมถึงใช้ในการควบคุมประชากรมดได้อย่างดี สาร sesamine ในเมล็ดงา เป็นสารที่มีผลในการยับยั้งการพัฒนาของอนุมูลอิสสละในสัตว์เลือดอุ่นแต่มีผลในการลดการทำงานของ monooxygenase ในแมลงวันผลไม้  และ หนอนเจาะสมออเมริกัน สาร mangostin ในเปลือกมังคุดเป็นสารที่พบว่ามีผลต่อการทำลายระบบภูมิคุ้มกันในแมลงหลายชนิดที่อยู่ในโรงเก็บ และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล สาร alkaloids จากเหง้าว่าน้ำ และ บอระเพ็ด มีผลในการยับยั้ง โคลีนเอสเทอเรส ในเลือดและเห็บหมัด ทำให้เห็บหมัดและเลือดไม่สามารถเจาะดูดเลือดและเกาะบน host ได้ และมีผลทำให้สัตว์เหล่านี้ไม่ได้รับอาหารที่เพียงพอและฝ่อในที่สุด ในขณะที่สาร  saponin จากกากเมล็ดชา และผลปะคำดีควาย ให้ผลดีต่อการลดประชากรหอยเชอรี และปลาศัตรูของชาวนากุ้ง ได้อย่างดี

               จากการวิจัยที่ผ่านมาเป็นระยะเวลามากกว่า 30 ปี ได้ผลการวิจัยสมุนไพรเพื่อทำการกำจัดแมลงและศัตรูในบ้านเรือนและในไร่นา ได้หลากชนิดคือ สมุนไพรกำจัดปลวก เหยื่อล่อปลวก สมุนไพรกำจัดหนู เหยื่อล่อหนู สมุนไพรกำจัดแมลงสาบ เหยื่อล่อแมลงสาบ สมุนไพรกำจัดมด เหยื่อล่อมด แชมพูกำจัดเห็บ-หมัด - เลือด สมุนไพรกำจัดหอยเชอรี สมุนไพรกำจัดหนอนใยผัก สมุนไพรกำจัดแมลงวันและแมลงวันผลไม้ สมุนไพรกำจัดมอดในเนื้อไม้ สมุนไพรกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล สมุนไพรไล่จิ้งจก-ตุ๊กแก สมุนไพรกำจัดเชื้อรา สมุนไพรไล่นก สมุนไพรเพิ่มคุณภาพไหมไทย รวมถึงสมุนไพรกำจัดวัชพืชต่างๆ นอกจากนี้ยังได้วิจัยสูตรสมุนไพรเพื่อทำเป็นเครื่องสำอาง เช่นครีมหน้านวล และสมุนไพรเพิ่มกระบวนการเผาผลาญเช่นสมุนไพรบำรุงหลอดเลือด สมุนไพรลดความดันเลือด สมุนไพรลดน้ำตาลในเลือด งานวิจัยทั้งหมดนี้ได้ให้การพัฒนาวิชาการและอบรมบุคคลต่างๆไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ นักวิชาการ นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเพื่อเป็นวิทยาทานทั่วประเทศไทยไม่ผูกขาดในเรื่องธุรกิจ ผู้สนใจกรุณาติดตามทาง WWW.SURAPHON.COM หรือ WWW.SURAPHONHERBS.COM ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนทั่วไปในมหาวิทยาลัยฯ อย่างไรก็ตามผู้ที่มีความสนใจในรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อโดยตรงที่ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือโทรศัพท์ 089-980-4983, 089-260-9725 และ 083-1236234

ความสำคัญของปลวก: ปลวกถือเป็นสัตว์ผู้ย่อยสลายในระบบนิเวศ มีวิวัฒนาการมานานกว่า 320 ล้านปี ปัจจุบันการขยายพื้นที่เพาะปลูก ก็ดี การปลูกสร้างบ้านเรือนก็ตาม เป็นการบุกรุกที่อาศัยของปลวก โดยเฉพาะพื้นที่ ในเมืองหลวง มีการเทคอนกรีตชั้นล่างทุกบ้าน ปลวกไม่มีที่อยู่อาศัยและหาอาหาร จึงแทรกตัวเข้าตามรอยแตกของพื้น เมื่อสิ่งก่อสร้างมีอายุเกิน 5 ปีมักพบรอยแยก แตกของพื้นคอนกรีต การสร้าง built- in ก็คือการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยให้ปลวก เพราะโครงสร้างของ built- in คล้ายรังปลวก สถาปนิกต้องมีความเข้าใจระบบนิเวศวิทยาของปลวกด้วย และต้องมีการวางแผนการวางท่อ mini-tube ภายในแล้วต่อท่อเข้ากับสารสมุนไพร ติดเครื่องตั้งเวลาให้ทำการฉีดพ่นทุกๆเดือน วิธีการนี้ไม่เหมาะในการใช้สารฆ่าแมลงเพราะการใช้สารฆ่าแมลงถี่เกินไปจะมีผลต่อสุขภาพที่อยู่อาศัยโดยตรง และการสร้างความต้านทานของปลวกจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว อีกนิสัยหนึ่งของปลวกคือชอบบ้านที่รก มีมุมมืด มีที่ชื้นและเงียบและเนื้อไม้ในอายุเกิน 5 ปีจะพบปัญหาเป็นประจำ และอีกสาเหตุหนึ่งก็คือการเพิ่มระดับของน้ำเค็มใต้ดิน ประสารกับอุณหภูมิของพื้นดินที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ปลวกเกิดสภาวะความกดดันของการอยู่อาศัย (ecological stress) ทำให้ปลวกต้องจำเป็นที่ต้องขึ้นมาอาศัยในบ้านเรือนของมนุษย์

การป้องกัน บ้านมีอายุเกิน 5 ปีต้องมีการซ่อมแซมรอยแยก รอยแตก อุดด้วยกาวซีเมนต์ เปลี่ยนกระทงฝ้า ทำลายทางเดินของปลวก ลดความชื้นภายในบ้านโดยทำทางระบายอากาศ ไม่ใช้วัสดุกั้นความชื้นปิดพื้น เช็ดพื้นให้แห้งตลอดเวลาโดยเฉพาะในห้องน้ำ ขอบวงกบ ขอบบัวต้องแห้ง  ลดความมืดที่ห้องใต้บันได รอบบริเวณบ้านโดยเฉพาะผนังด้าน นอกตัวอาคารอย่านำแท้งน้ำไปวางติดผนัง ต้องสามารถทำความสะอาดได้รอบบริเวณบ้านอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง  บ้านมี built-in ต้องวางท่อ mini-tube ซึ่ง รศ.ดร.สุรพล วิเศษสรรค์ ประดิษฐ์ นอกจากนี้บ้านที่ไม่มีผู้อยู่อาศัยมีความเสี่ยงต่อการเข้าทำลายของปลวกไม่ควรเก็บสะสมกระดาษ เอกสารที่เป็นกระดาษควรเก็บเข้าตู้โปร่งที่ทำด้วยโลหะหรือเก็บใส่กล่องพลาสติกปิดฝาแน่นไม่ให้ความชื้นเข้าได้ ปลวกไม่กินกระดาษที่แห้ง

ปัจจัย 7 ประการที่เป็นเหตุทำให้มีปลวกในที่อยู่อาศัย

  1. วัสดุตกแต่งบ้านมาจากวัสดุมาตรฐานต่ำ เช่นทำจากไม้อัดชานอ้อยอัด ไม้เนื้ออ่อนอายุน้อย
  2. สะสมอาหารปลวกในที่พักอาศัย เช่นหนังสือ กล่องกระดาษ ฝ้ายิบซั่ม
  3. บริเวณบ้านมีที่มืด ทึบ แสงสว่างเข้าไม่ถึง การระบายอากาศไม่ดี หรือมีร่องรอยรั่ว น้ำซึม
  4. บ้านปลูกติดพื้นดิน หรือส่วนขอโครงสร้างบ้านมีมุมอับ อยู่ในที่เงียบ หรือห่างไกลจากชุมชน
  5. มีรอยแตกของพื้นปูนรอบบ้าน และในตัวบ้าน รวมถึงมีการเชื่อมต่อระหว่างพื้นดินกับวัสดุภายในบ้าน และโครงสร้างการต่อขยายที่มีระบบฐานรากไม่สัมพันธ์กัน
  6. วัสดุไม้หรือกระดาษสัมผัสหรือเชื่อมต่อกับผนังและพื้น  
  7. ไม่มีการเคลื่อนย้ายสิ่งของที่เป็นกระดาษ และหรือไม้เป็นเวลานาน

ปัจจัย 7 ประการในการควบคุมปลวกในบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ

    1. ปรับปรุงบ้านทุกๆ 5 ปี เปลี่ยนวัสดุไม้ที่หมดอายุ ซ่อมรอยรั่วซึมของเพดาน หลังคา ห้องน้ำ
    2. ปรับปรุงทางระบายอากาศ และแสงแดด ให้มีอากาศถ่ายเทในทุกพื้นที่ของบ้าน เปิด ประตู หน้าต่าง เป็นประจำ อาทิตย์ละครั้งเป็นอย่างน้อย ปรับปรุงพื้นที่ใต้หลังคาและใต้พื้นบ้านให้มีแสงส่วางเข้าถึง
    3. ไม่นำสิ่งของ เช่นตู้  กระดาษ กล่อง วัสดุเหลือใช้วางในพื้นที่รอบบ้าน หมั่นเช็ครอยร้าว แตกของปูนซีเมนรอบบ้าน พื้นบ้าน และในบ้าน ถ้าพบให้ซ่อมทันที
    4. ไม่สะสมวัสดุเหลือใช้ในรูปหนังสือ กระดาษ กล่อง วัสดุไม้เนื้ออ่อน ซึ่งรวมถึงวัสดุตกแต่งผิว ถ้ามีความจำเป็นต้องสะสม ให้ใส่กล่องพลาสติกปิดฝา หรือวางในชั้นเหล็ก ห่างจากผนังและสูงจากพื้น 10 เซนติเมตร เป็นอย่างน้อย
    5. ก่อนปลูกอาคาร วางแผนเทพื้นซีเมนต์ ก่อนทำคานคอดิน สูงจากซีเมนต์ 1.20 เมตร รอบๆเสาทุกต้น อัดแน่นด้วยหินสอง กว้าง 25 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร
    6. ตรวจสอบด้วยตนเอง เดือนละครั้ง โดยเน้นที่ห้องครัว ห้องน้ำ ห้องใต้บันได ห้องเก็บของ ตู้ต่างๆขอบบัวและวงกบรวมถึงตู้ติดผนังต่างๆที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน
    7. ใช้สารสมุนไพรฉีดอัดใต้บ้านผ่านท่อ ขอบบัว วงกบ ตู้ติดผนังเป็นประจำ ในกรณีที่เป็นวัสดุไม้ตกแต่ง ให้ทำบริเวณฉีดพ่นสารสมุนไพร ในบริเวณที่กำหนด ทุก 3 เดือน ถ้าเลี่ยงได้ ไม่ควรทำจากวัสดุไม้เนื้ออ่อนเพื่อตกแต่งภายในบ้าน ถ้าต้องการความสวยงามให้ทำในรูปจับเซี้ยมซีเมนต์ ระบายสีจะดีกว่า ผู้ที่ต้องการปลูกสิ่งก่อสร้างที่อยู่อาศัยสามารถขอแปลนบ้านปลอดปลวกได้ ที่ภาควิชาสัตววิทยา 089-9804983, 089-2609725083-1236234

    บ้านปลอดปลวก (Termites free home) (ผู้สนใจขอแบบแปลนได้ที่ ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , ภาพจริง อยู่ในพื้นที่ ต.หาดเจ้าสำราญ อ.เมือง จ.เพชรบุรี)

    Front View
    Side View
    อัตราส่วน 1:100

    House Draft Specification:

    ฐานราก ทำคานระดับดิน เทซีเมนต์ทับ หนา 7 เซนติเมตร
    เสา เสาคอนกรีตทุกต้น สูงจากพื้นซีเมนต์ไม่น้อยกว่า 1.20 เมตร รอบเสาบุด้วยหินสอง กว้าง 25 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร

    คาน วางคานที่ระดับเสาสูงอย่างน้อย 1.20 เมตร  จากนั้นวางแผ่นพื้นปูน วัสดุภายในบ้านเป็นไม้เนื้อแข็ง ที่มีอายุได้ขนาด ไม่มีกระพี้ หรือเป็นปีกไม้

    ฝ้า  ทำจากกระเบื้องแผ่นเรียบ แผ่นปูนพลาสเตอร์ ใช้วัสดุโลหะทำโครง กลางบ้านใช้กระจกใสสะท้อนแสงลงสู่ชั้นล่าง ตรงทางเดินบันได

    หลังคา ดั้ง จั่ว สูงจากขื่อ แป มากกว่า 2.00 เมตร  วางกระเบื้องแก้วโปร่งแสง ทางด้านตะวันตก และตะวันออกเนื้อที่ 10% ของพื้นที่หลังคา พร้อมบุฉนวนความร้อน เว้นว่างในส่วนกระเบื้องแก้วโปร่งแสง

    วัสดุ ตกแต่ง ไม่มีไม้อัดชานอ้อยเป็นวัสดุตกแต่ง  ไม้ยางอายุต่ำ  ปีก กระพี้ไม้ โครงสร้างที่มีลักษณะเป็นกล่อง มืด ทึบ การระบายอากาศไม่ดี ไม่ต่อท่อไฟฟ้าใต้ดิน

    ความชื้น ระบบท่อที่ผ่านพื้นดินบุด้วยหินสอง โดยรอบ ลึก 30 เซนติเมตร ก่อนขึ้นสู่ตัวบ้าน ทางห้องน้ำเพียงจุดเดียว ติดบล๊อกแก้ว เรียงกัน 3 ก้อน เป็นระยะๆ เพื่อให้แสงผ่านเข้า พร้อมทำช่องกระจกเพื่อเปิดดูภายในได้ ทุกที่ในช่องท่อต้องแห้งและเย็น

    ห้องใต้บันได ติดกับผนังด้านนอก โล่ง ไม่ใช้เป็นห้องเก็บของ  โล่ง และติดบล็อกแก้ว 9 ก้อน ต่อพื้นที่ผนัง 3 ตารางเมตร ถ้าไม่ติดผนังด้านนอกต้องปล่อยโล่ง

    ห้องเก็บของ  วัสดุที่เป็นกระดาษ หนังสือ ใส่กล่องพล๊าสติกปิดแน่น วางวัสดุกลางห้อง ผนังด้านทิศตะวันตกต้องติดด้านนอกบ้าน พร้อมติดบล็อกแก้ว 9 ก้อน ต่อพื้นที่ฝา 12 ตารางเมตร ถ้าเป็นไปได้ต้องแยกห้องเก็บของออกจากตัวบ้าน

คณะผู้วิจัย :
สุรพล วิเศษสรรค์ และคณะวิจัย ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
หน่วยงาน  ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 089-9804983, 089-2609725, 083-1236234