นวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากไม้
Innovation  for  Wood  Utilization

       

                ในปัจจุบันได้มีการใช้ไม้ในอัตราที่สูงขึ้น แต่ก็พบปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ไม้บิด ไม้แตก สีไม้ไม่สม่ำเสมอ  ฯลฯ  ทำให้การใช้ประโยชน์จากไม้ไม่ได้ประโยชน์สูงสุด

                ทำให้ทางทีมงานได้มีการคิดค้นในนวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากไม้  เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด  เช่น

1.  การพัฒนาเตาอบไม้แบบประหยัด
                เนื่องจากปัญหาของการใช้ประโยชน์จากไม้คือ  เรื่องของความชื้นซึ่งความชื้นในเนื้อไม้ถ้ามีมากเกินไป เมื่อนำไปใช้งานก็จะเกิดการหดตัวแต่ถ้าความชื้นของเนื้อไม้มีน้อยเกินไป   เมื่อนำไปใช้งานก็จะเกิดการขยายตัวซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญของการใช้ประโยชน์จากไม้

                ดังนั้นในการนำไม้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้นั้นจะต้องผ่านการอบไม้ให้มีความชื้นเท่ากับความชื้นสมดุลที่จะนำไปใช้งาน  (ประเทศไทยมีความชื้นสมดุลเฉลี่ยที่  10±2% )  ก็จะทำให้ไม่เกิดปัญหาการยืดและหดตัวของเนื้อไม้

   แต่ในความเป็นจริง ณ ปัจจุบันนี้ในการอบไม้นั้นจะมีเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมไม้ขนาดใหญ่  เนื่องจากเตาอบไม้นั้นมีการลงทุนสูงต้องใช้ Boiler  เป็นแหล่งกำเนิดความร้อนทำให้ต้องลงทุนประมาณ   1-3  ล้านบาท และค่าก่อสร้างห้องอบไม้ขนาดประมาณ  700  ลบ.ฟุต  ห้องละ  300,000  บาท เนื่องจากมีอุปกรณ์ในการควบคุมยุ่งยาก  ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีเงินลงทุนไม่น้อยกว่า  4  ล้านบาท นอกจากนี้อัตราการใช้เชื้อเพลิงก็สูงทำให้อุตสาหกรรมไม้ขนาดกลาง – เล็ก  ไม่สามารถที่จะลงทุนได้

การทำให้ไม้แห้งนั้นมีปัจจัยที่สำคัญอยู่  3  ปัจจัยคือ

  • ความร้อน
  • ความเร็วลม
  • ความชื้นสัมพัทธ์

          ทำให้ทีมงานจึงมีแนวความคิดที่จะทำเตาอบไม้แบบประหยัด  เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์ไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมไม้ขนาดกลาง – เล็ก  โดยพิจารณาถึงแหล่งกำเนิดความร้อนและการลดอัตราการใช้เชื้อเพลิงให้น้อยลง

ห้องอบไม้แบบใหม่
เตาอบไม้แบบประหยัด

2.  การป้องกันการยืดหดตัวของเนื้อไม้ / การคงสีธรรมชาติของไม้ยางพาราโดยสาร PEG
                ในปัจจุบันเฟอร์นิเจอร์ของประเทศไทย  ได้นำไม้ยางพารามาใช้มากกว่า 80% แต่ได้พบปัญหาในการใช้คือ สีของไม้ยางพาราจากสีขาวเหลืองจะเปลี่ยนเป็นสีแดงอ่อนหรือน้ำตาลอ่อน  ทำให้เกิดปัญหาในการทำสีต้องมีการฟอกสี  ทำให้ต้องเพิ่มขั้นตอนในการทำงานและน้ำยาฟอกสีก็มีผลอันตรายต่อพนักงาน  นอกจากนี้ยังไม่ได้สีธรรมชาติของไม้และที่สำคัญยังเป็นการป้องกันการยืดหดตัวของเนื้อไม้อีกด้วย

                ทางทีมงานจึงได้เกิดแนวความคิดในการที่จะคงสีของไม้ยางพาราให้เป็นสีขาวธรรมชาติ โดยไม้ต้องใช้น้ำยาฟอกสี  เพื่อให้สะดวกในการทำงานและการป้องกันการยืดหดตัวของเนื้อไม้

3.  การใช้ประโยชน์จากวัสดุทางการเกษตร
                ทรัพยากรป่าไม้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญยิ่งของประเทศ ที่มีผลต่อสภาวะสมดุลของระบบ
นิเวศ  ดังนั้นหากมีการสูญเสียในทรัพยากรป่าไม้มากเท่าไร ก็ย่อมทำให้เกิดความไม่สมดุลของธรรมชาติมากยิ่งขึ้น  ดังจะเห็นได้ว่าจากสภาวะวิกฤตจากภัยธรรมชาติในปัจจุบัน  ซึ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งสาเหตุที่สำคัญก็สืบเนื่องมาจากการลดลงอย่างรวดเร็วของพื้นที่ป่าไม้  ปัจจัยที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงอย่างรวดเร็วนั้น  นอกจากจะเกิดจากการบุกรุกเข้าครอบครองพื้นที่ป่าไม้เพื่ออยู่อาศัยทำกินแล้ว  ยังเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าที่เกินกำลังการผลิตของป่า เพื่อนำไม้ธรรมชาติออกมาใช้ประโยชน์ให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของประชากร และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ  ภาวการณ์ดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ควรรีบเร่งแก้ไข และหาแนวทางปกป้องสภาพป่าไม้ให้สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ และอนุรักษ์สภาพป่าไม้ที่เหลืออยู่เพียง 86 ล้านไร่ หรือประมาณ 26% ของพื้นที่ประเทศให้คงอยู่ต่อไปได้

             ทางทีมงานจึงได้เล็งเห็นถึงการใช้ประโยชน์จากวัสดุเศษเหลือทางการเกษตรที่มีมากในประเทศไทย
ดังนั้นการนำวัสดุเศษเหลือทางการเกษตร จะเป็นวิธีการที่สามารถปกป้องป่าไม้ไว้ได้ เพราะนับวันปริมาณการบริโภคไม้สูงขึ้น  โดยเฉพาะการบริโภคไม้ของประเทศไทยมีมากกว่า 3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี  ซึ่งเป็นไม้ที่นำเข้าจากประเทศต่างๆ ถึง 75%  ของการบริโภคไม้ในประเทศ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าถ้าสามารถนำวัสดุเศษเหลือจากอุตสาหกรรมที่สกัดสมุนไพรมาเป็นวัตถุดิบทดแทนไม้จากธรรมชาติได้แล้ว ก็จะมีผลดีต่อการอนุรักษ์ป่าไม้ ลดมูลค่าการนำเข้าไม้จากต่างประเทศ และเพิ่มมูลค่าของวัสดุเศษเหลือทางการเกษตร และที่สำคัญยังเป็นการใช้ประโยชน์จากพืชทางเกษตรได้ครบวงจร

ผลิตภัณฑ์

 

  
คณะผู้วิจัย :
ทรงกลด จารุสมบัติ   ธีระ วีณิน  และอำไพ   เปี่ยมอรุณ
หน่วยงาน :
ภาควิชาวนผลิตภัณฑ์  คณะวนศาสตร์    มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.  02-9428109  โทรสาร  02-9428371