เทคโนโลยีการกลั่นสุญญากาศน้ำส้มไม้ในเชิงพาณิชย์
Vacuum Distillation Technology  of wood vinegar for Commercial Scale

       

        น้ำส้มไม้หรือน้ำส้มควันไม้ (Wood Vinegar) ชื่อทางวิทยาศาสตร์  Pyroligneous Acid  or Pyroligneous Liquor เป็นของเหลวสีน้ำตาลใสมีกลิ่นควันไฟ ชิมดูจะมีรสเปรี้ยวเนื่องจากกภาพความเป็นกรดโดยของเหลวนี้จะผลิตได้จากการควบแน่นควันไฟที่เกิดขึ้น ในขณะที่ฟืนไม้กำลังเปลี่ยนเป็นถ่านในเตาเผา (ขั้นตอนที่เรียกว่า Carbonization )  ที่อุณหภูมิระหว่าง 300 0C-400 0C  ในสภาวะอุณหภูมิดังกล่าวสารประกอบต่างๆ ในไม้ฟืนจะถูกความร้อนสลายตัวทำให้เกิดเป็นสารประกอบใหม่อันเป็นประโยชน์ในหลายๆด้านไม่ว่า จะเป็นการปลูกพืช การเลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ หรือการนำไปใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรมอื่น

ภาพที่ 1 การเก็บน้ำส้มไม้จากเตาผลิตถ่าน

         ประโยชน์ของน้ำส้มไม้ที่ยังไม่ได้กลั่น สามารถใช้ได้หลายประการ อาทิเช่น
1. เป็นสารป้องกันศัตรูทำลายพืช 
2. เป็นสารช่วยในการปรับปรุงสภาพดิน 
3. เป็นสารช่วยดับกลิ่น Deodorant และช่วยฆ่าเชื้อโรคต่างๆ (Disinfection)
4. เป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช
5. เป็นสารป้องกันเนื้อไม้จากรา และแมลง 

         น้ำส้มไม้ที่กล่าวว่ามีคุณประโยชน์มากมายนั้น ว่าไปแล้วก็ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้ครอบจักรวาลเช่นเดียวกับ  ถ่านไม้ไม่ว่าจะนำมาใช้ในครัวเรือนใช้ในงานเกษตรกรรม ปศุสัตว์  และอุตสาหกรรมการผลิตอีกสารพัดชนิด ทั้งนี้ คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดของผลิตภัณฑ์น้ำส้มไม้เห็นจะเป็นข้อที่ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นธรรมชาติ สอดคล้องกับกระแสการบริโภค ในปัจจุบันที่เน้นเรื่องของความปลอดภัย ปลอดสารพิษสามารถใช้ได้อย่างสะดวก  ไร้สารเคมีตกค้างส่งผลให้ขณะนี้  การนำน้ำส้มไม้เข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรม  เป็นเรื่องที่ไม่ยากเย็นนัก น้ำส้มไม้นั้นมีสารประกอบ มากกว่า 200 ชนิดเช่นกรดอินทรีย์และแอลกอฮอล์ชนิดต่าง ๆ รวมทั้งสารอินทรีย์อื่น ๆ เช่น กรดอะซีติก(Acetic acid), กรดโปรไพโอนิค  (Propionic acid) และแร่ธาตุตามธรรมชาติอีกนานาชนิดซึ่งเป็นประโยชน์หลายประการ ในประเทศญี่ปุ่น การใช้งานผลพลอยได้จากการผลิตถ่าน คือน้ำส้มควันไม้ แพร่หลายมานานมากแล้ว ใช้กันทั้งในด้านอุตสาหกรรม  และเกษตรกรรมเป็นผลดีอย่างที่เชื่อถือได้ทีเดียว ส่วนในการใช้ในบ้านเรา การใช้งานน้ำส้มไม้ยังอยู่ในวงจำกัด

         ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ได้ทำการเผยแพร่ และให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตถ่านและน้ำส้มไม้ แก่เกษตรกรที่สนใจ โดยความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (มก.-ธ.ก.ส.) ทำให้เกษตรกรสามารถผลิตถ่านและน้ำส้มไม้ไว้ใช้ในครัวเรือน และชุมชนได้ แต่เนื่องจากน้ำส้มไม้นั้นยังสามารถนำมาทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีก โดยต้องนำมาทำให้มีความบริสุทธิ์มากขึ้น ดังนั้นทางศูนย์วิจัยป่าไม้ จึงได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับ เทคโนโลยีการกลั่นสุญญากาศน้ำส้มไม้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์น้ำส้มไม้ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านต่างๆได้อีกมากมาย

ภาพที่ 2 การให้ความรู้แก่เกษตรผู้ผลิตน้ำส้มไม้

ภาพที่ 3 การจัดนิทรรศการเทคโนโลยีการกลั่นสุญญากาศน้ำส้มไม้ในเชิงพาณิชย์ ณ วังสวนกุหลาบ

         ประโยชน์ของน้ำส้มไม้ที่ผ่านการกลั่น สามารถใช้ได้หลายประการ อาทิเช่น
1. ใช้ในอาหาร (Food Processing) ใช้พ่น หยด รมควัน เคลือบ หรือเติมในเนื้อปลา ไส้กรอก เป็นต้น เพื่อช่วยรักษาความสดของเนื้อปลาและเนื้อสัตว์
2. ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลสด บรรเทาอาการเจ็บปวดต่างๆ
3.  ใช้ลดกลิ่นเหม็นของเหงื่อ ช่วยการไหลเวียนของเลือด เป็นต้น
4. ใช้ผลิตสารช่วยย่อย ทั้งมนุษย์ และปศุสัตว์ และช่วยให้ระบบการดูดซึมอาหารทำงานได้ดี
5. ใช้ผลิตยาฆ่าเชื้อไทฟอยส์  ยารักษาโรคผิวหนัง อาหารเสริมการทำงานของตับเป็นต้น
6.  ใช้ผลิตสารปรับผิวนุ่ม ทั้งใช้โดยตรงทางผิวหนัง หรือผสมน้ำอาบ

 

ภาพที่ 4 น้ำส้มไม้ดิบ (ซ้ายมือ) และน้ำส้มไม้กลั่น (ขวามือ)

ภาพที่ 5 ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ได้จากน้ำส้มไม้กลั่น

 

  
คณะผู้วิจัย :
นิคม  แหลมสัก  และนายอัจฉริยะ  โชติขันธ์
หน่วยงาน
ศูนย์วิจัยป่าไม้  คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์