ศักยภาพสมุนไพรไทยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติ
Potential of Thai Medicinal Herbs for Thai Economic Development

       
          ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกรวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศไทยถดถอย คณะวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล็งเห็นว่าประเทศไทยเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสมุนไพรอยู่มากมายหลายชนิด หน่วยปฏิบัติการวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ (NPOS) ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ นำโดยรศ.ดร.งามผ่อง คงคาทิพย์ และ   รศ.ดร.บุญส่ง คงคาทิพย์ ได้ทำวิจัยสมุนไพรไทยหลายชนิดที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเสริมในการรักษาโรค อาหารสัตว์ และเครื่องสำอาง ร่วมกับหน่วยงานต่างๆทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย           สมุนไพรไทยมีศักยภาพสูงในการนำไปใช้ประโยชน์แบบครบวงจร ตัวอย่างเช่น ขมิ้นชัน แพทชูลี พลู ไม้กฤษณา บอระเพ็ด และสันโศก โดยสมุนไพรเหล่านี้สามารถนำมาสกัดได้หลายรูปแบบ  ได้แก่  การสกัดน้ำมันหอมระเหยออกมาหรือการสกัดด้วยตัวทำละลายอื่นๆ เพื่อให้ได้สารออกฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ที่นำไปใช้  ตัวอย่างสมุนไพรที่มีศักยภาพสูงที่ทำในหน่วยปฏิบัติการวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ (NPOS) มีดังนี้

ขมิ้นชัน (Curcuma longa Linn)

           ขมิ้นชัน สามารถทำการวิจัยแบบครบวงจร โดยนำไปใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง เป็นยารักษาโรค คณะวิจัยได้ทำการวิจัยนำสารสกัดซึ่งมีน้ำมันหอมระเหย และเคอร์คูมินอยด์ เป็นสารออกฤทธิ์ที่สำคัญมาทำเป็นสบู่กลีเซอลีนขมิ้นชันที่ใช้ล้างหน้าและฟอกตัวได้ คุณสมบัติทำให้ผิวผ่อง ป้องกันหรือลดกระ ฝ้า ลดรอยเหี่ยวย่น ทำให้อ่อนวัย มีความชุ่มชื้นในขณะเดียวกันได้นำสารออกฤทธิ์เคอร์คูมินอยด์ในสารสกัดมาทำการเติมไฮโดรเจนได้เป็นสารสีขาวมีชื่อว่า เตตระไฮโดรเคอร์คูมินอยด์ (THC) ซึ่งมีคุณสมบัติออกฤทธิ์สูงกว่าเคอร์คูมินอยด์ เมื่อนำไปผสมในครีมจะเรียกว่า ครีมหน้าเด้ง เนื่องจากสามารถช่วยลดริ้วรอย ทำให้อ่อนวัย ลดกระ ฝ้า ทำให้ผิวผ่องได้ดี ให้ความชุ่มชื้น ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ และกันแดดได้ (ครีมหน้าเด้งและสบู่กลีเซอลีนขมิ้นชันมีจำหน่ายราคาถูกในงานฯ) ในงานนี้ยังแสดงถึงการนำสารสกัดขมิ้นชันไปผสมในอาหารสัตว์น้ำ (กุ้ง ปลา)  และสัตว์บก (สุกร ไก่) ซึ่งสามารถช่วยทดแทนสารปฏิชีวนะ เพิ่มภูมิคุ้มกันและลดต้นทุน มีความปลอดภัยสูง และมีการนำน้ำมันหอมระเหยขมิ้นชันผสมกับน้ำมันหอมระเหยอื่นมาทำเป็นน้ำยาล้างมือที่สามารถยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ได้ นอกจากนี้เป็นส่วนผสมในอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ต่างๆ แม้กระทั่งกากขมิ้นชันก็มีประโยชน์ในการนำไปทดแทนส่วนผสมในอาหารสัตว์บางชนิด ทำให้ลดต้นทุนในการผลิต และนอกจากนี้ยังพบว่า สมุนไพรขมิ้นชันสามารถป้องกันเชื้อไข้หวัดนกได้

แพทชูลี (Pogostemon  cablin )

           แพทชูลี เป็นพืชที่ให้น้ำมันหอมระเหยที่มีราคาแพง ปกติน้ำมันหอมระเหยจากแพทชูลีจะนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อมาใช้ประโยชน์เป็นสุวคนธบำบัดและนำมาใช้ในสปา แพทชูลีสามารถปลูกได้ง่าย คณะวิจัยได้ทำการศึกษาวิธีการปลูก การเก็บเกี่ยว การสกัด เพื่อให้ได้น้ำมันหอมระเหยสูงสุด พบว่าน้ำมันหอมระเหยและสารสกัดจากใบแพทชูลีสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด รวมทั้งแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว ดังนั้นคณะวิจัยจึงได้ทำการพัฒนาน้ำมันหอมระเหยและสารสกัดมาเป็นผลิตภัณฑ์สบู่ โฟมล้างหน้า และธูปหอม ส่วนกากแพทชูลีนำมาทำเป็นธูปไล่ยุงที่มีประสิทธิภาพสูง และกลิ่นชวนดม

ไม้กฤษณา (Aquilaria crassna)

            ไม้กฤษณา เป็นไม้ยืนต้นที่เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง เนื่องจากถ้าไม้กฤษณาสามารถผลิตสารหอมได้ทั้งต้น ราคาประมาณหนึ่งแสนบาท คณะวิจัยสามารถพบวิธีการกระตุ้นให้ไม้กฤษณาเกิดสารหอม เพียงเจาะรูประมาณ 60 รูต่อ 1 ต้น จะได้สารหอมประมาณ 5 โตร่า (1 โตร่า = 12 ซีซี) น้ำหอมที่ได้เป็นเกรด A+ ราคาในท้องตลาดประมาณ 8,000 บาท ดังนั้นถ้า 1 ต้น เจาะ 60 รูก็จะได้ราคาประมาณสี่หมื่นบาท อายุไม้กฤษณาที่เหมาะสมในการกระตุ้น คือมีอายุ 8 ปีขึ้นไป
             น้ำหอมกฤษณามีราคาแพงเนื่องจากสามารถใช้ประโยชน์ในเครื่องสำอาง น้ำหอม และยังเป็นตัว fixative ยารักษาโรค ธูป กำยาน และใช้ในสปา

บอระเพ็ด (Tinospora crispa)

             บอระเพ็ด เป็นไม้เถาที่พบสารออกฤทธิ์หลายชนิดโดยบอระเพ็ดแต่ละแหล่งพบปริมาณสารออกฤทธิ์ต่างกัน บางแหล่งมีน้อยมาก จนไม่ออกฤทธิ์ พบว่า สารสกัดบอระเพ็ดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ (คลอโรฟอร์ม และ เอทานอล) สามารถเพิ่มแรงบีบตัวกล้ามเนื้อหัวใจได้โดยไม่เพิ่มอัตราการเต้นหัวใจ เหมาะสำหรับเป็นสมุนไพรเสริม เป็นยาบำรุงหัวใจ เนื่องจากส่วนของบอระเพ็ดที่ใช้เป็นลำต้น ดังนั้นการรับประทานควรจะทราบแหล่งปลูกด้วยว่ามียาฆ่าแมลงเจือปนในดินที่ปลูกหรือไม่ ดังนั้นคณะวิจัยจึงได้ศึกษาการปลูกบอระเพ็ดเพื่อให้ได้สารออกฤทธิ์สูง โดยปลูกในที่ที่ปลอดยาฆ่าแมลง (organic farm) จึงเหมาะที่จะนำมาทำเป็นสมุนไพรเสริม นำมาใช้รับประทาน (มีบอระเพ็ดแคปซูลจำหน่ายในราคาถูกในงานฯ) พบว่าถ้านำลำต้นบอระเพ็ดมาสกัดด้วยน้ำ จะออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด (ลดเบาหวาน) และพบว่าบอระเพ็ดบางแหล่งไม่ออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ดังนั้นคณะวิจัยจึงได้ทำการวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ในบอระเพ็ดแต่ละแหล่ง บอระเพ็ดมีสารออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดถึง 3 ชนิด จึงทำเป็นบอระเพ็ดแคปซูลสมุนไพรเสริม (มีจำหน่ายราคาถูกในงานฯ) ที่ได้ควบคุมคุณภาพของสารออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดโดย HPLC  นอกจากนั้นยังพบสารยับยั้งเชื้อเอดส์และยับยั้งเซลล์มะเร็งในบอระเพ็ดอีกด้วย

พลู (Piper betle Linn)

               พลู เป็นไม้เถาที่มีสารออกฤทธิ์ยูจีนอล และไฮดรอกซีชาวีคอล ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียได้ดีมาก รวมทั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว ดังนั้นคณะวิจัยจึงได้ทำการศึกษาสารออกฤทธิ์จากพลูแหล่งต่างๆ พบว่าแต่ละแหล่งมีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่างกัน จึงได้นำสารสกัดพลูที่มีสารออกฤทธิ์สูง มาผสมในสบู่ที่มาสารถช่วยป้องกันและยับยั้งสิว และยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ (มีสบู่กลีเซอรีนพลู จำหน่ายในราคาถูกในงานฯ)

สันโศก  (clausena evcavata)

                สันโศก เป็นไม้พุ่ม พบได้ทั่วไป มีลำต้นสูงคล้ายกับไม้ยืนต้น พบว่าในรากและเหง้าสันโศก มีสารออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HIV-1(เอดส์) ถึง 5 ชนิด ณะวิจัยได้พบวิธีควบคุมคุณภาพของสันโศกโดยการวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ยับยั้งเอดส์เพื่อนำไปใช้เป็นสมุนไพรเสริมยับยั้งเชื้อเอดส์ การสกัดด้วย 35% เอทานอล-น้ำ โดยให้ความร้อน หรือ ที่อุณภูมิห้อง จะออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อเอดส์ได้ดี ภูมิปัญญาท้องถิ่นใช้แช่ด้วยเหล้า 35 ดีกรี ประมาณ 7 วัน และก่อนนำไปรับประทานควรนำไปอุ่นเพื่อให้เอทานอลระเหยออกไป สมุนไพรนี้จึงเป็นความหวังที่จะใช้เป็นสมุนไพรเสริมหรือเป็นยารักษาโรคเอดส์ ซึ่งนอกจากรักษาโรคเอดส์แล้ว สันโศกยังเพิ่มภูมิคุ้มกันและยับยั้งเชื้อราและเชื้อวัณโรคได้ด้วย

 

 

คณะผู้วิจัย : งามผ่อง  คงคาทิพย์1, บุญส่ง  คงคาทิพย์1 ,พูนพิไล สุวรรณฤทธิ์2 , ยุพา  มงคลสุข3 , อุไรวรรณ  ดิลกคุณานันท์3, มะลิวัลย์  ธนะสมบัติ3, ศลิษา  สุวรรณภักดิ์2, วุฒินันท์  คงทัด3,  สุพนิดา  วินิจฉัย3,  อุดมลักษณ์  สุขอัตตะ3 , เพ็ญโฉม พึ่งวิชา5 , ชโลบล อยู่สุข6 , ปารียา   อุดมกุศลศรี7, ประสาน ธรรมอุปกรณ์4, องอาจ เลาหวินิจ7, ชนินทร์  ติรวัฒนวานิช7, ทวีศักดิ์  ส่งเสริม7, ศิริรักษ์  จันทครุ7, สุชาติ  สงวนพันธุ์8, สมโภชน์  ทับเจริญ9 ,นนทวิทย์  อารีย์ชน10 ,อรพินท์ จินตสถาพร10, ประทักษ์ ตาบทิพย์วรรณ10 ,หทัยรัตน์ ริมคีรี11, รุ่งนภา  พงศ์สวัสดิ์มานิต11, ภรภัทร  สำอางค์1, กิตติมา วานิชกูล10, คมสัณห์  อิ่มพันธ์แบน1    ,พจมาลย์  บุญญถาวร1 , นราธิป  ประดิษฐ์ผล1, จันจิรา  รุจิรวณิช1, สุริยัน  สุทธิประภา1, ภาวิณี   วิเชียรนุกูล1, อริสา  เคหวิวัชชรัชกุล2, ณัฐวัชร เชื้อนพรัตน์1  ,อนุชิต  ภานุมาสวิวัฒน์1

หน่วยงาน

1หน่วยปฏิบัติการวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ (NPOS) ภาควิชา เคมี คณะวิทยาศาสตร์   ม.เกษตรศาสตร์  
2 ภาควิชาจุลชีววิทยา  คณะวิทยาศาสตร์  ม.เกษตรศาสตร์
3 สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร  ม.เกษตรศาสตร์
4 คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5 คณะเภสัชศาสตร์ ม.ลัยมหิดล
6 ภาควิชาจุลชีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.ลัยมหิดล 
7 คณะสัตวแพทยศาสตร์   ม.เกษตรศาสตร์
8 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตสัตว์ปีก  สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจฯ
9 ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงสุกรแห่งชาติ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
10คณะประมง  ม.เกษตรศาสตร์  
11 คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คณะวิจัย NPOS