โครงการวิจัยนี้ เป็นหนึ่งในโครงการจากชุดแผนงานวิจัยเรื่อง “ศักยภาพเชิงพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน : การศึกษาจากกรอบแนวคิดทางภูมิสถาปัตยกรรม” (KU’s Spatial Assessment for Sustainable Development: A Landscape Architectural Approach) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุน จากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตร-ศาสตร์ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 โดยแผนงานวิจัยชุดดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุน “โครงการวางผังแม่บททางภูมิทัศน์ประสานระบบสัญจรที่เขียวสะอาด เพื่อพัฒนาคุณภาพ สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน” (KU Integrative Transportation Plan and Landscape Initiatives) อันเป็นโครงการพัฒนากายภาพเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนอันเป็นนโยบายที่สำคัญของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยชุดปัจจุบัน
งานวิจัยนี้มุ่งเน้นไปที่การศึกษากิจกรรมการใช้และไม่ใช้จักรยานในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ตั้งแต่สาเหตุการใช้จักรยานที่น้อยลง ไปจนถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่เพื่อส่งเสริมการกลับมาใช้จักรยาน การนำความรู้ที่ได้จากงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการวางระบบเส้นทางจักรยานและลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสมของเส้นทางจักรยานในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์หลักๆ 3 ประการคือ
-
ศึกษาหาคำอธิบาย ถึงสาเหตุแห่งการใช้จักรยานที่น้อยลงในหมู่สมาชิกมหาวิทยาลัย
-
ศึกษาการวางผังเส้นทางคมนาคมและเส้นทางจักรยานของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหา เงื่อนไขและข้อจำกัดทางกายภาพที่จะมีผลต่อการพัฒนาเส้นทางจักรยานในอนาคต
-
ศึกษามาตรฐานและเกณฑ์ในการวางผังและออกแบบเส้นทางจักรยาน ตลอดจนองค์ประกอบ ของเส้นทางจักรยานในมหาวิทยาลัย และศึกษาแนวทางในการพัฒนาเส้นทางจักรยานในมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะดึงให้สมาชิกมหาวิทยาลัยกลับมาใช้รถจักรยานอีกครั้ง ซึ่งเป็นแนวทางการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยให้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่การเป็นวิทยาเขตสีเขียว (Green Campus)
วิธีการดำเนินการวิจัย นั้นเป็นการประสมวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ(Secondary Data) อันเป็นข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เข้ากับการเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ(Primary Data) อันประกอบด้วย
-
การใช้แบบสอบถาม และการสัมภาษณ์ เพื่อข้อมูลที่เกี่ยวกับทัศนคติ พฤติกรรม เหตุผลของการไม่ใช้ และความต้องการใช้จักรยานในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งนี้เป็นการเก็บข้อมูลด้วยการใช้แบบสอบถาม
-
การสำรวจสภาพทางกายภาพของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สภาพเส้นทางสัญจรในปัจจุบันและการใช้ที่ดินโดยรอบ รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเพื่อนำมาวิเคราะห์เงื่อนไข ข้อจำกัดและแนวทางในการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางจักรยานต่อไป และ
ขณะนี้ โครงการวิจัยได้ดำเนินการในส่วนของการแจกแบบสอบถาม และการสัมภาษณ์เสร็จสิ้นลงแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางจักรยาน ผลการศึกษาพบว่าจำนวนแบบสอบถามที่แจกไป 500 ชุด ได้รับคำตอบกลับมา เป็นจำนวน 406 ชุด คิดเป็น 81.20% โดย เป็นนิสิตประมาณ 50% (ปริญญาตรี 42% ปริญญาโท 8%) , บุคคลากร 28%, กลุ่มผู้ปกครองและนักเรียนโรงเรียนสาธิตฯ รวม 5% และบุคคลภายนอกอื่นๆที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยอีก 17%
กับคำถาม “ท่านเดินทางด้วยวิธีใดภายในวิทยาเขตบางเขนบ่อยที่สุด” คำตอบที่ได้รับพบว่า 1 ใน 4 ใช้รถยนต์ในการสัญจรไปมา ขณะเดียวกันก็มีสมาชิกจำนวนใกล้เคียงกันที่ใช้รถประจำทางสาธารณะ (24%) สมาชิก 12% ใช้รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีการใช้จักรยานและรถมอเตอร์ไซค์ส่วนตัวเป็นสัดส่วน 11% และ 7% ตามลำดับ ขณะที่สมาชิกอีก 21% สัญจรไปมาด้วยการเดิน
ในการสอบถามข้อมูลทัศนคติเกี่ยวกับจักรยาน ในประเด็นต่างๆ 7 ประเด็น ได้คำตอบส่วนที่เห็นด้วยมาก และเห็นด้วยเป็นสัดส่วนดังนี้
ทัศนคติเกี่ยวกับจักรยาน |
เห็นด้วยมาก(%) |
เห็นด้วย(%) |
รวมสองอย่าง |
จักรยานเป็นอัตลักษณ์ของ ม.เกษตร บางเขน |
38.4 |
38.6 |
77.0 % |
ปั่นจักรยานช่วยลดโลกร้อน |
61.0 |
33.2 |
94.2 % |
สถานศึกษาควรจะส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานมากๆ |
49.2 |
36.4 |
85.6 % |
การเดินทางโดยจักรยานนั้นช้า เสียเวลาในการเดินทาง |
5.6 |
13.5 |
19.1 % |
การปั่นจักรยานเป็นการสัญจรที่ล้าสมัย ไม่ทันยุค |
2.4 |
6.4 |
8.8 % |
จักรยานเป็นปัญหาจราจร เป็นตัวหน่วงผู้ใช้ถนนอื่นๆ |
2.2 |
11.0 |
13.2 % |
จักรยานเพิ่มอันตรายให้การจราจรบนท้องถนน |
5.9 |
23.1 |
29.0 % |
จะเห็นว่า มากกว่า 3 ใน 4 ผู้ตอบแบบสอบถาม มีทัศนคติไปในทางสนับสนุนการสัญจรด้วยการใช้จักรยาน ขณะเดียวกันทัศนคติในทางลบเกี่ยวกับการใช้จักรยานในท้องถนนก็มีน้อยมาก
สำหรับคำถามเกี่ยวกับนโยบายเรื่องจักรยานในมหาวิทยาลัย ในประเด็นต่างๆ ได้คำตอบส่วนที่เห็นด้วยมาก และเห็นด้วยเป็นสัดส่วนดังนี้
นโยบาย มก.เรื่องจักรยานในมหาวิทยาลัย |
เห็นด้วยมาก(%) |
เห็นด้วย(%) |
รวมสองอย่าง |
ควรรณรงค์ให้คนหันมาใช้จักรยานในรั้วมหาวิทยาลัย |
45.0 |
44.5 |
89.5 % |
ควรปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางจักรยานในมหาวิทยาลัย |
47.0 |
45.5 |
92.5 % |
ควรเพิ่มจำนวนที่จอดจักรยาน |
40.8 |
44.3 |
85.3 % |
ควรปรับปรุงที่จอดจักรยาน |
30.0 |
52.9 |
82.9 % |
ควรมีจักรยานสาธารณะ |
28.5 |
33.9 |
62.4 % |
ควรลดความเร็วรถที่เข้ามาใช้พื้นที่มหาวิทยาลัย |
43.1 |
40.8 |
83.9 % |
ควรจำกัดปริมาณรถที่เข้ามาใช้พื้นที่มหาวิทยาลัย |
33.7 |
32.2 |
65.9 % |
ควรรื้อฟื้นความร่มรื่นของบริเวณให้เขียวเหมือนเดิม |
65.7 |
23.1 |
88.8 % |
พบว่า มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ตอบเห็นสนับสนุนการปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางจักรยานในรั้วมหาวิทยาลัย ประมาณเกือบร้อยละ 90 เห็นความสำคัญของการรณรงค์ให้คนหันมาใช้จักรยานในรั้วมหาวิทยาลัย พร้อมๆไปกับการรื้อฟื้นความร่มรื่นของบริเวณให้ กลับมาเขียวเหมือนเดิม นโยบายอื่นๆที่คนให้ความสำคัญรองลงไป (แต่ก็ยังเห็นว่าสำคัญรวมแล้วมากกว่าร้อยละ 80) คือ นโยบายการเพิ่มจำนวนที่จอดจักรยาน นโยบายการปรับปรุงที่จอดจักรยาน และนโยบายให้มีการลดความเร็วรถที่เข้ามาใช้พื้นที่มหาวิทยาลัย นโยบายที่มีคนเห็นด้วยเกิน 60% คือ นโยบายการจัดให้มีจักรยานสาธารณะ และนโยบายจำกัดปริมาณรถยนต์ที่เข้ามาใช้พื้นที่มหาวิทยาลัย
สำหรับคำถาม “ถ้า ม.ก. บางเขนปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางรถจักรยาน ท่านจะ...” คำตอบที่ได้คือ
มีโอกาสเมื่อไร จะพยายามใช้จักรยานมากขึ้น 46%
หันกลับมาใช้จักรยานแน่นอน 31%
ไม่แน่ใจ ขอรอดูก่อน ว่าจะดีขึ้นจริงหรือไม่ 18%
ยังไงก็คงไม่ใช้จักรยาน 5%
และ “ถ้าท่านใช้จักรยาน ท่านจะใช้จักรยานเพื่อ” คำตอบที่ได้คือ
การเดินทางทั่วไป 58%
ออกกำลังกาย 29%
พักผ่อน 11%
ยังไงก็คงไม่ใช้จักรยาน 2%
ในการถามเรื่องสาเหตุปัจจัยของการไม่ใช้จักรยาน คำตอบที่ได้เรียงตามความสำคัญเป็นดังนี้ อันตรายยามค่ำคืน (11%) ไม่มีรถจักรยาน (10%) ร้อน (10%) ไม่มีทางจักรยาน (8%) ชุดทำงานไม่เอื้อต่อการปั่น (8%) บรรยากาศไม่ชวนปั่น (8%) เวลาไม่พอ (7%) จราจรหนาแน่น และรวดเร็ว (6%) และกลุ่ม 5% คือประเด็น สถานที่ที่จะไปไกลเกิน ปั่นจักรยานไม่เป็น ขี้เกียจปั่นจักรยาน ร่างกายไม่อำนวย และที่ทำงานไม่มีห้องอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า
ส่วนคำถามถึงสาเหตุปัจจัยที่จะทำให้ใช้จักรยาน คำตอบที่ได้เรียงตามความสำคัญเป็นดังนี้ ความปลอดภัยในการปั่น (16%) ความปลอดภัยของที่จอดจักรยาน (14%) มีเส้นทางเฉพาะสำหรับจักรยาน (13%) ประเด็นความสะดวกของที่จอดจักรยาน (11%) มีเส้นทางจักรยานที่เป็นทางเลือกไปตามทางที่ร่มรื่นสวยงาม (10%) ความร่มรื่นของที่จอดจักรยาน (9%) มีทางจักรยานเชื่อมไปจุดหมายสำคัญๆ ที่ใช้บ่อยๆ (8%) นอกจากนั้นก็มีประเด็นอื่นๆ เช่น ขนาดและคุณภาพของทางจักรยานได้มาตรฐาน มีกิจกรรมสร้างความน่าสนใจในการใช้จักรยาน และห้องอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า ใน/ใกล้ที่ทำงาน เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปแล้ว สมาชิกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทางการให้ความสำคัญกับประเด็นการใช้จักรยานในรั้วมหาวิทยาลัย สมาชิกส่วนมากสนับสนุนนโยบายต่างๆที่จะส่งเสริมให้มีการกลับมาใช้จักรยาน พร้อมๆกับการปรับปรุงสภาพกายภาพบริเวณมหาวิทยาลัยให้ร่มรื่นสวยงามน่าปั่นจักรยาน ทั้งนี้สมาชิกเกิน 3 ใน4 แสดงความจำนงที่จะพยายามใช้จักรยานให้มากขึ้นหากทางมหาวิทยาลัยมีการปรับปรุงพัฒนาเส้นทางจักรยาน โดยที่ผู้ตอบแบบสอบถามเกินครึ่ง (58%) ระบุว่าการจะใช้จักรยานของตนจะเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการเดินทาง ขณะที่ 29% จะใช้สำหรับการออกกำลังกาย |