ความหลากหลายทางชีวภาพฐานรากแห่งความยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่นป่าตะวันตก

 

โครงการสำรวจรวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพระดับท้องถิ่น (พื้นที่กลุ่มป่าตะวันตก)

          

          ความหลากหลายทางชีวภาพเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตและความอยู่รอดของมวลมนุษย์ โดยความหมายแล้ว ความหลากหลายทางชีวภาพคือ ความผันแปรแตกต่างกันของสิ่งมีชีวิตทั้งมวลที่มีอยู่ในโลกรวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ทรัพยากรชีวภาพจัดเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นที่พึ่งพิงของมนุษย์โดยให้ปัจจัยสี่ การใช้ประโยชน์จากคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพของมนุษย์ในแต่ละท้องถิ่นอาจแตกต่างกันไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่นนั้น สามารถกล่าวได้ว่าชุมชนท้องถิ่นจะมั่นคงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่นยังคงอยู่

       กลุ่มป่าตะวันตกเป็นผืนป่าที่กว้างใหญ่และสำคัญที่สุดของประเทศ บางส่วนมีความสำคัญจนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ผืนป่าแห่งนี้เป็นแหล่งรวมทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ป่านานาชนิด รอบแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์แห่งนี้ก็ยังคงมีสภาพของระบบนิเวศป่าไม้ที่สมบูรณ์อยู่มาก นับเป็นที่พึ่งพิงของชุมชนในท้องถิ่นทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ตามด้วยป่าตะวันตกเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่หลายล้านไร        การสำรวจรวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพที่ผ่านมายังไม่สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบนิเวศตามแนวขอบผืนป่า ดังนั้น พื้นที่ชายขอบป่าตะวันตกที่ติดกับชุมชนใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี นครสวรรค์ และกำแพงเพชร จึงถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการสำรวจรวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในระดับท้องถิ่น ของสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปี 2550 ครอบคลุมพื้นที่ 50 ตำบล และต่อเนื่องในปี 2551 อีกจำนวน 7 ตำบล และเนื่องจากลักษณะงานเป็นงานศึกษาเชิงวิจัยที่กระบวนการศึกษาและการวิธีการสำรวจต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งนอกจากประเด็นการศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์แล้ว การศึกษาสำรวจภูมิปัญญาท้องถิ่นก็จัดเป็นบริบทหนึ่งภายใต้โครงการด้วย ผลจากการศึกษาจะสามารถสะท้อนให้เห็นศักยภาพของพื้นที่ชุมชนและพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตกได้เป็นอย่างดี
          การสำรวจความหลากชนิดของพรรณพืช ดำเนินการไปได้แล้ว 50 ตำบล สามารถระบุชนิดพืชที่พบในแต่ละจังหวัดตามลำดับ คือ จังหวัดอุทัยธานี 80 วงศ์ 228 สกุล 315 ชนิด จังหวัดกำแพงเพชร 61 วงศ์ 161 สกุล 209 ชนิด และจังหวัดนครสวรรค์ 58 วงศ์ 146 สกุล 188 ชนิด และ เมื่อพิจารณาในภาพรวมทั้งกลุ่มป่า สามารถสรุปได้ว่า สำรวจพบพืช 83 วงศ์ 243 สกุล 333 ชนิด จำแนกเป็นกลุ่มเฟิร์น 5 วงศ์ 5 สกุล 5 ชนิด กลุ่มพืชเมล็ดเปลือย 1 วงศ์ 1 สกุล 1 ชนิดกลุ่มพืชดอก 77 วงศ์ 237 สกุล 327 ชนิด จำแนกเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ 66 วงศ์ 206 สกุล 291 ชนิด และพืชใบเลี้ยงเดี่ยว 11 วงศ์ 31 สกุล 36ชนิดซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของพืชพรรณในป่าที่ใกล้ชิดชุมชนมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย ในขณะที่ผลการสำรวจความหลากชนิดของสัตว์ป่าที่ได้กระทำทั้งการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิและสำรวจในภาคสนาม สามารถจำแนกชนิดสัตว์ป่าออกเป็น 4 กลุ่มสัตว์ ได้แก่

            1) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สามารถจำแนกได้ 6 อันดับ 11 วงศ์ 17 ชนิด ได้แก่ กระต่ายป่า กระรอกท้องแดง กระรอกปลายหางดำ กระเล็นขนปลายหูสั้น กระจ้อน หนูพุกใหญ่ หนูพุกเล็ก อ้นเล็ก เม่นหางพวง แมวดาว อีเห็นข้างลาย พังพอนเล็ก พังพอนกินปู ลิงแสม กระแตเหนือ หมูป่า และกวางป่า

กระรอกท้องแดง
หมูป่า
พังพอนกินปู
กระเล็นขนปลายหูสั้น

 

              2) นก สามารถจำแนกได้ 15 อันดับ 39 วงศ์ 182 ชนิด  เช่น นกกระทาทุ่ง นกหัวขวานสามนิ้ว
หลังทอง นกกะรางหัวขวาน นกหกเล็กปากแดง และ เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ เป็นต้น

นกกินปลีคอแดง
นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า
เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ

 

          3) สัตว์เลื้อยคลาน สามารถจำแนกได้ 1 อันดับ 5 วงศ์ 14 ชนิด ได้แก่ จิ้งจกหางหนาม จิ้งจกหางแบน ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าสวน กิ้งก่าแก้วเหนือ กิ้งก่าหัวแดง แย้เหนือ จิ้งเหลนหลากลาย จิ้งเหลนบ้านจิ้งเหลนเรียวท้องเหลือง จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ กิ้งก่าบินปีกส้มไหหลำ งูสิงบ้าน และจิ้งเหลนลาย ซึ่งพบสัตว์เลื้อยคลานในหลายเส้นทางและมีจำนวนชนิดน้อยกว่าปกติ เนื่องจากเป็นป่าใกล้ชุมชน และมีการใช้ประโยชน์จึงพบเห็นได้น้อย

จิ้งจกหางหนาม
กิ้งก่าหัวแดง
จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ

 

          4) สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สามารถจำแนกได้ 1 อันดับ 4 วงศ์ 5 ชนิด ได้แก่ กบห้วยขาปุ่ม
ปาดบ้าน อึ่งกรายลายเลอะ กบอ่องเล็ก และกบทูด

กบห้วยขาปุ่ม
ปาดบ้าน

 

          จากการสำรวจพบว่า สำรวจพบชนิดพันธุ์ค่อนข้างน้อยกว่าปกติ เนื่องจากพื้นที่ศึกษาเป็นป่าใกล้ชุมชน และมีการใช้ประโยชน์ ประกอบกับสัตว์ประเภทนี้อ่อนไหวต่อกิจกรรมของมนุษย์ บางพื้นที่สำรวจไม่ใช่ถิ่นอาศัยของสัตว์ประเภทนั้น ๆ

 

         การสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ จากการสำรวจภาคสนาม รวมทั้งสิ้น 100 สถานี พบปลาทั้งสิ้น 25 วงศ์ 61 สกุล 102 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นปลาในวงศ์ปลาตะเพียน (43 ชนิด) รองลงมาเป็นปลาในวงศ์ปลาจิ้งจก (11 ชนิด) และวงศ์ปลาหมู (9 ชนิด) ตามลำดับ ที่เหลือเป็นวงศ์อื่นๆ จะเห็นได้ว่าการศึกษาครั้งนี้มีสัดส่วนของปลาน้ำจืดในพื้นที่ถึงร้อยละ 31 ของชนิดปลาน้ำจืดที่พบในระบบแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดรวมถึงแม่น้ำบางปะกง หรือร้อยละ 18 ของชนิดปลาน้ำจืดที่พบในประเทศไทย

 

         การสำรวจสัตว์พื้นท้องน้ำ พบว่ามีทั้งสิ้น 49 วงศ์ 79  สกุล 89 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มตัวอ่อนแมลงน้ำ (54 สกุล 54 ชนิด) และกลุ่มหอย (21 สกุล 30 ชนิด) ที่เหลือเป็นกลุ่มกุ้ง-ปู เห็บปลา และไส้เดือนน้ำ  และเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมเอกสารแล้วพบว่าการศึกษาครั้งนี้มีจำนวนชนิดของสัตว์พื้นท้องน้ำมากกว่าที่เคยมีการศึกษามาซึ่งพบสัตว์พื้นท้องน้ำเพียง 26  วงศ์ 31 ชนิดเท่านั้น  (กรมชลประทาน 2540, 2543 และ 2550) โดยสัตว์พื้นท้องน้ำจัดว่ามีความสำคัญในระบบนิเวศทางน้ำและการประมงเป็นอย่างมาก เนื่องจากสัตว์พื้นท้องน้ำประกอบด้วยสัตว์ต่างๆ หลายกลุ่ม เช่น ตัวอ่อนของแมลงน้ำ ตัวอ่อนของสัตว์ในกลุ่มกุ้ง-ปู ซึ่งเป็นอาหารที่ดีของปลา หากแหล่งน้ำใดมีสัตว์พื้นท้องน้ำอุดมสมบูรณ์ย่อมส่งผลให้มีผลผลิตของปลาและสัตว์น้ำในกลุ่มอื่นๆ อุดมสมบูรณ์ตามไปด้วย  นอกจากนี้สัตว์พื้นท้องน้ำยังสามารถใช้เป็นดัชนีหรือตัวบ่งชี้สภาพสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ซึ่งในการสำรวจครั้งนี้พบว่ามีสัตว์พื้นท้องน้ำที่สามารถใช้ในด้านการบ่งบอกถึงสภาพน้ำว่าแหล่งน้ำยังมีน้ำคุณภาพดีมากครบทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ แมลงชีปะขาว (Ephemeroptera) หนอนปลอกน้ำ (Trichoptera) และแมลงเกาะหิน (Plecoptera)

         การสำรวจพรรณไม้น้ำ พบว่ามีทั้งสิ้น 26 วงศ์ 37  สกุล 52 ชนิด โดยเป็นพืชชายน้ำ 44 ชนิด พืชลอยน้ำ 5 ชนิด พืชโผล่พ้นน้ำ 2 ชนิด และพืชใต้น้ำ 1 ชนิด ซึ่งมากกว่าข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมเอกสาร ที่พบเพียง 25 วงศ์ 38 ชนิด เท่านั้น  (กรมชลประทาน 2540, 2543 และ 2550) และพบว่ามีพรรณไม้น้ำหลายชนิดที่สามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดสิ่งแวดล้อมได้ โดยจอก แหน และแหนแดง เป็นตัวบ่งชี้ว่าสภาพแหล่งน้ำแหล่งนั้นหรือบริเวณนั้นเป็นน้ำนิ่ง ไคร้น้ำใช้บ่งบอกถึงสภาพของลำน้ำว่ามีน้ำตลอดทั้งปี มีความลาดชันของพื้นท้องน้ำสูง และมีน้ำไหลแรงในฤดูฝน และริคเซียบ่งบอกว่าแหล่งน้ำแห่งนั้นเป็นน้ำอ่อน ส่วนหญ้าหนวดปลาดุก ไมยราบยักษ์ และผักตบชวานั้นเป็นวัชพืชร้ายแรงที่มีการแพร่ระบาดในแหล่งน้ำได้อย่างรวดเร็วและควรมีการเฝ้าระวัง

          การสำรวจรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น พบว่ามีภูมิปัญญาที่ก่อตัวมาจากการเรียนรู้อยู่คู่กับป่าละแวกบ้าน เป็นความสามารถในการนำความหลากหลายทางชีวภาพของผืนป่าตะวันตกมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน บางภูมิปัญญาถูกพัฒนาต่อยอดเป็นรายได้เลี้ยงชีพ หรือการบำบัดรักษาโรค โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา กลายเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ซึ่งลักษณะภูมิปัญญามีความสอดคล้องกับวิถีการดำรงชีพของคนในพื้นถิ่นตั้งแต่อดีตและยังดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน  จากการศึกษาสามารถรวบรวมรายชื่อบุคคล ผู้รู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านต่างๆ จำนวน 128 ราย แบ่งได้ 8 กลุ่ม  คือ  ด้านการเกษตร ด้านหัตถกรรม ด้านการรักษาโรคพื้นบ้าน (การดูแลสุขภาพ) ด้านสมุนไพร ด้านภาษาและวรรณกรรม ด้านนันทนาการ ด้านพิธีกรรมความเชื่อ  ด้านอาหารและโภชนาการ
ทั้งนี้สามารถเข้าศึกษารายละเอียดและกิจกรรมอื่นๆ ของโครงการฯ ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.localbio.mnre.go.th

การหาสมุนไพรจากป่า
การสาธิตงานจักสาน

 

 

 

  

คณะผู้วิจัย :
ที่ปรึกษาโครงการ : สามัคคี บุณยะวัฒน์              
หัวหน้าโครงการ : กาญจน์เขจร ชูชีพ
ผู้ร่วมโครงการ : นิคม  แหลมสัก  พูลศิริ ชูชีพ  ฉัตรชัย  เงินแสงสรวย  พงศ์เชฏฐ์  พิชิตกุล  ประทีป ด้วงแค  วัชระ สงวนสมบัติ  โดม  ประทุมทอง  พุทธชาติ  ชุณสาคร  ชัชวาลย์ ธรรมสอน  ปรีดา  ทองสุขงาม  วุฒิพล  หัวเมืองแก้ว  ยุทธพงษ์  คีรีมังคละ  สมเกียรติ ชัยพิบูลย์  สุวรรณา ถนอมศักดิ์   กิติชัย  รัตนะ  จเร  เลิศสุดวิชัย  วีระภาส คุณรัตนสิริ  ณัฐฐา  รัตตกุล  ทรงฤทธิ์ นนทนำ  ธารทิพย์ ธรรมสอน  สุรเชษฐ์  สีแดง  ภัทร สว่างดี  ฤทัยรัตน์ กสิกรรม  ณิชนันทน์ บุญญาทรัพย์  และ ชลดา หมั่นหินลาด
หน่วยงาน

  1. ภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  2. ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  3. ภาควิชาอนุรักษ์วิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  4. ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  5. ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  6. ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  7. ศูนย์วิจัยระบบนิเวศเกษตร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  8. คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
  9. สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
  10. พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

สถานที่ติดต่อ : ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.02-942-8372 ต่อ 15