การใช้ประโยชน์มูลสัตว์เป็นปุ๋ยให้กับพืชอย่างมีประสิทธิภาพ
       

               ของเสียที่ได้จากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่ ได้แก่ มูลสัตว์ ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นของแข็งนั้นประกอบด้วยเศษของพืชและสัตว์ซึ่งเป็นอาหารที่สัตว์กินเข้าไปแล้วไม่สามารถย่อยหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้หมดจึงเหลือเป็นกากที่สัตว์ขับถ่ายออกมา โดยเศษอาหารเหล่านี้ได้ผ่านกระบวนการย่อยสลายไปบางส่วนแล้วในทางเดินอาหาร ดังนั้น ในส่วนที่เป็นมูลสัตว์จึงยังอุดมไปด้วยธาตุอาหารชนิดต่าง ๆ รวมทั้งสารอินทรีย์ที่ละลายน้ำได้หลายชนิด ซึ่งเมื่อรวมกันเข้าก็จะมีองค์ประกอบที่สามารถใช้เป็นธาตุอาหารที่สมบูรณ์ของพืชได้ ส่วนมูลสัตว์แต่ละชนิดจะมีธาตุอาหารชนิดใดมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่สัตว์ชนิดนั้น ๆ กินเข้าไปเป็นปัจจัยสำคัญ รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ ระบบการย่อยอาหารของสัตว์ วิธีการให้อาหารรวมทั้งการจัดการรวบรวมมูลสุกรและของเสียในฟาร์มด้วย
จากการศึกษาปริมาณธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในมูลสัตว์ชนิดต่าง ๆ พบว่ามูลสัตว์แต่ละชนิดมีปริมาณธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรองและจุลธาตุอาหารในปริมาณที่แตกต่างกัน
เมื่อเปรียบเทียบปริมาณธาตุอาหารในมูลสัตว์ชนิดต่าง ๆ จะเห็นว่ามูลสุกรและกากตะกอนของมูลสุกรจากบ่อหมักก๊าซชีวภาพ รวมทั้งมูลของไก่ไข่มีปริมาณธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก ทองแดง แมงกานีสและสังกะสีมากกว่ามูลโค ขณะที่มูลโคมีปริมาณธาตุโพแทสเซียมและโซเดียมมากกว่ามูลสุกร อย่างไรก็ตามปริมาณธาตุอาหารเหล่านี้อาจมีความผันแปรไปตามชนิดของวัตถุดิบอาหารรวมทั้งแร่ธาตุที่เสริมลงในอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์นั้นด้วย

การทำน้ำสกัดจากมูลสัตว์
                น้ำสกัดมูลสัตว์ ได้จากการนำมูลสัตว์แห้ง เช่น มูลสุกร มูลโค บรรจุลงในถุงไนลอน (มุ้งเขียว) แล้วแช่ในน้ำ อัตราส่วนมูลสุกร 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 10 ลิตร ปิดฝาถังให้สนิท และหมักไว้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วยกถุงที่บรรจุมูลสุกรออกจากถังจะได้น้ำสกัดมูลสัตว์สีน้ำตาลใส ซึ่งควรบรรจุเก็บไว้ในถังหรือภาชนะที่มีฝาปิด น้ำสกัดมูลสัตว์ที่ได้สามารถหมักเก็บไว้ใช้ได้นาน ซึ่งจะทำให้น้ำสกัดใสยิ่งขึ้น และมีธาตุอาหารในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในปริมาณมากยิ่งขึ้น การทำน้ำสกัดมูลสัตว์จะทำให้ประหยัดกว่าการใช้มูลสัตว์เป็นปุ๋ยทางดินโดยตรง เนื่องจากมูลสัตว์แห้ง 1 กิโลกรัม ทำน้ำสกัดได้ประมาณ 8 ลิตร นำน้ำสกัดส่วนใสที่ได้มาเจือจางกับน้ำได้ 10 – 20 เท่า เป็น 80 – 160 ลิตร เพื่อใช้เป็นปุ๋ยรดทางดินหรือฉีดพ่นทางใบ ส่วนกากของมูลสัตว์ที่เหลือ สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยทางดินได้เลยโดยไม่ต้องเสียเวลาหมักนานถึง 45 วัน เหมือนปุ๋ยหมักทั่วไป

                น้ำสกัดมูลสัตว์มีปริมาณธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และจุลธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช สามารถใช้เป็นปุ๋ยรดทางดินและฉีดพ่นทางใบเพื่อเร่งการเจริญเติบโต การเพิ่มผลผลิตของพืช อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นปุ๋ยเพื่อแก้ไขอาการขาดธาตุอาหารของพืชได้ น้ำสกัดมูลสุกรมีปริมาณธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และจุลธาตุเกือบทุกธาตุในปริมาณมากกว่าที่พบในน้ำสกัดมูลไก่ไข่และน้ำสกัดมูลโคนม ยกเว้นโพแทสเซียมที่พบในน้ำสกัดมูลไก่ไข่มากกว่าเล็กน้อย และแคลเซียมที่พบในน้ำสกัดมูลโคนมมากกว่า ดังนั้น หากต้องการใช้น้ำสกัดมูลไก่ไข่หรือโคนมเป็นปุ๋ยฉีดพ่นทางใบ ควรจะใช้ในอัตราส่วนมากกว่าน้ำสกัดมูลสุกร เนื่องจากน้ำสกัดมูลสุกรมีปริมาณธาตุอาหารมากกว่าหรือเข้มข้นกว่าน้ำสกัดมูลโคนม

การใช้ประโยชน์มูลสัตว์ในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการทำนาข้าว
                1.1  การหมักตอซังโดยไม่ต้องเผา มีประโยชน์ คือ สิ่งที่มีชีวิตในดินรวมทั้งจุลินทรีย์ดินทำกิจกรรมได้ตามปกติ ทำให้ดินมีอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารพืชเพิ่มขึ้น  ส่วนของเนื้อดินละเอียดขึ้น เดินแล้วนุ่มเท้า ดินโปร่ง ทำให้รากต้นข้าวแผ่กระจายในดินได้ดีขึ้น ต้นข้าวแข็งแรง ซึ่งการหมักจะทำได้ทันทีหลักการเก็บเกี่ยว โดยเกลี่ยฟางให้กระจายทั่วแปลง และปฏิบัติดังนี้
                -  หว่านมูลสัตว์แห้ง เช่น มูลสุกร มูลโคอัตรา  250 กก.ต่อไร่ ให้ทั่วแปลง
                - ใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ พด.2 (หมักจากเศษผัก ผลไม้หรือสัตว์) จำนวน 5 ลิตร/ไร่ผสมกับน้ำ 100 ลิตร พร้อมกับสารเร่ง พด.1 แล้วคนให้เข้ากัน นาน 15 นาที จากนั้นค่อย ๆ เทปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ได้นี้ไปพร้อมกับน้ำ ที่ปล่อยเข้าแปลงนา หรือสาดสารละลายปุ๋ยอินทรีย์น้ำให้ทั่วแปลงนา  โดยให้ระดับน้ำท่วมต่อซัง แล้วปล่อยให้ย่อยสลายประมาณ 10-15 วัน 
-   ทำเทือกเพื่อปรับพื้นที่ให้เสมอกัน แล้วหว่านเมล็ดพันธุ์  หรือปักดำครั้งใหม่ต่อไป
1.2  ใช้น้ำสกัดมูลสุกรแช่เมล็ดพันธุ์ข้าว มีประโยชน์ ช่วยให้เมล็ดข้าวมีธาตุอาหารพืชสะสมในเมล็ดมากขึ้น อีกทั้งน้ำสกัดมูลสุกรมีแคลเซียม ซึ่งช่วยในการงอกของเมล็ด สร้างเซลล์ใหม่ในส่วนของยอดและราก ทำให้ข้าวเจริญเติบโตได้เร็ว นอกจากช่วยเพิ่มการงอกของเมล็ด ทำให้ประหยัดเวลาในการแช่และบ่มข้าวแล้ว ข้าวเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าวัชพืช ประกอบกับการหมักฟางจะทำให้รากหญ้าและเมล็ดวัชพืชที่เหลืออยู่ในดินโดนหมักย่อยไปด้วยทำให้มีวัชพืชในแปลงน้อยลง
                วิธีการแช่ข้าว นำน้ำสกัดมูลสุกรอัตราส่วน 1 ลิตร ผสมน้ำให้ได้ 20 ลิตร แช่เมล็ดพันธุ์เป็นเวลา 8 – 12 ชั่วโมง (ขึ้นกับความหนาของเปลือกเมล็ด) นำข้าวขึ้นจากน้ำเพื่อทำการบ่มเมล็ด ให้นำน้ำสกัดมูลสุกรที่เหลือจากการแช่ข้าวราดลงบนกระสอบที่บรรจุข้าวอยู่ ประมาณ 4 – 5 ชั่วโมงต่อครั้ง หรือ ไม่ให้ข้าวแห้ง จนกระทั่งเมล็ดข้าวงอกพร้อมที่จะปลูก หรือถ้าไม่สามารถแช่ข้าวจำนวนมากในน้ำสกัดมูลสุกรได้ ให้แช่ตามวิธีการปกติ แต่เมื่อนำกระสอบข้าวขึ้นจากน้ำแล้ว ให้นำน้ำสกัดมูลสุกรอัตราส่วน 1 ลิตร ผสมน้ำให้ได้ 20 ลิตร ราดลงบนกระสอบที่บรรจุข้าว ประมาณ 4 – 5 ชั่วโมงต่อครั้ง เพื่อไม่ให้ข้าวแห้ง จนกระทั่งเมล็ดข้าวงอกพร้อมที่จะปลูก
1.3 ใช้น้ำสกัดมูลสุกรฉีดพ่นทางใบ มีประโยชน์ ช่วยทำให้พืชได้รับธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และจุลธาตุอาหารได้เร็วขึ้นกว่าการให้ปุ๋ยทางดิน พืชได้รับธาตุอาหารครบซึ่งจัดเป็นการป้องกันความขาดธาตุอาหาร และช่วยเสริมธาตุอาหารที่พืชขาดได้ จะช่วยชะลอความเสื่อมของใบไปได้อีกระยะหนึ่ง ทำให้ใบพืชมีสีเขียวเข้ม ตั้งตรงและยังทำหน้าที่สังเคราะห์ด้วยแสง สร้างแป้งต่อไปจนกระทั่งเก็บเกี่ยว ส่งผลให้เมล็ดข้าวสมบูรณ์ มีเมล็ดข้าวที่ลีบน้อยลง  ขั้วเมล็ดข้าวยังสดและเหนียวอยู่ เมล็ดข้าวจึงไม่ค่อยร่วงหลุดในช่วงเก็บเกี่ยว 

วิธีการฉีดพ่นทางใบ  ทำได้โดย
- ข้าวมีอายุ 1 เดือน นำน้ำสกัดมูลสุกร 1 ลิตร ผสมน้ำให้ครบ 20 ลิตร  พร้อมกับสารจับใบ 3 – 5 ซีซี ฉีดพ่นทางใบ ในช่วงเวลา เช้าหรือเย็น  การฉีดพ่นให้ได้ผลดีนั้นละอองปุ๋ยน้ำควรมีขนาดเล็กและสัมผัสกับผิวใบทั่วถึงทั้งด้านบดและด้านล่าง
-  ข้าวมีอายุ 1 เดือนขึ้นไป นำน้ำสกัดมูลสุกร 1 ลิตร ผสมน้ำให้ครบ 10 ลิตร  พร้อมกับสารจับใบ 3 – 5 ซีซี ฉีดพ่นทางใบ ในช่วงเวลา เช้าหรือเย็น
-  หากพบว่าข้าวในบางบริเวณไม่สม่ำเสมอ ให้ใช้น้ำสกัดมูลสุกร 1 ลิตร ผสมน้ำให้ครบ 10 ลิตร  พร้อมกับสารจับใบ 3 – 5 ซีซี     ฉีดพ่นบริเวณดังกล่าวในช่วงเวลาเช้าหรือเย็น ก็จะช่วยให้ข้าวเสมอกันได้
                1.4 ใช้น้ำสกัดมูลสุกรรดให้พืชทางดิน มีประโยชน์ ทำให้พืชได้รับธาตุอาหารผ่านทางรากได้ในระหว่างการเจริญเติบโตและเป็นการให้ปุ๋ยที่ประหยัดค่าใช้จ่ายและให้ผลเร็วกว่าการใช้มูลสุกรแห้งเป็นปุ๋ยทางดินกับพืช
วิธีการให้ปุ๋ย  ทำโดยนำน้ำสกัดมูลสุกรเข้มข้นปล่อยลงสู่แปลงข้าว อัตราส่วน 100 ลิตรต่อ 1 ไร่ โดยให้พร้อมกับน้ำที่ปล่อยหรือสูบเข้าแปลง  จำนวน 2 ครั้ง  เมื่อข้าวอายุ 30 และ 60 วัน

ตารางที่  4  การให้น้ำสกัดมูลสุกรในนาข้าว

ช่วงอายุ

การใช้

15  วัน

- ฉีดน้ำสกัดมูลสุกรทางใบ  น้ำสกัด 1 ลิตร เติมน้ำให้ครบ 20 ลิตร

30  วัน

- ฉีดน้ำสกัดมูลสุกรทางใบ  น้ำสกัด 1 ลิตร เติมน้ำให้ครบ 20 ลิตร
- ให้น้ำสกัดมูลสุกรทางดิน อัตรา 100 ลิตร/ไร่

45  วัน

- ฉีดน้ำสกัดมูลสุกรทางใบ  น้ำสกัด 1 ลิตร เติมน้ำให้ครบ 10 ลิตร

60  วัน

- ฉีดน้ำสกัดมูลสุกรทางใบ  น้ำสกัด 1 ลิตร เติมน้ำให้ครบ 10 ลิตร
- ให้น้ำสกัดมูลสุกรทางดิน อัตรา 100 ลิตร/ไร่

75  วัน

- ฉีดน้ำสกัดมูลสุกรทางใบ  น้ำสกัด 1 ลิตร เติมน้ำให้ครบ 10 ลิตร
- กรณีที่ข้าวออกรวงไม่สม่ำเสมอให้ฉีดน้ำสกัดมูลสุกรทางใบ  
น้ำสกัด  1 ลิตร เติมน้ำให้ครบ 20 ลิตร อีกครั้ง บริเวณที่ข้าวเจริญเติบโตช้า

ข้อดีของการใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ในการเพิ่มผลผลิตข้าว

    •  ย่นระยะเวลาในการแช่และบ่มข้าว
    • เปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดพันธุ์สูง ข้าวที่งอกมีความแข็งแรง
    • ต้นข้าวเจริญเติบโตได้เร็ว ทำให้หญ้าโตได้ช้ากว่า ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดหญ้าได้
    • ต้นข้าวมีความแข็งแรง มีความต้านทานต่อโรค และแมลง
    • จำนวนเมล็ดต่อรวงมากขึ้น เมล็ดข้าวมีความสมบูรณ์ เมล็ดเต่ง ได้น้ำหนัก
    • ระยะเก็บเกี่ยว ใบธงของข้าวยังเขียวอยู่และข้าวจะมีขั้วเหนียว ทำให้ข้าวไม่ร่วงหล่นในระหว่างการเก็บเกี่ยว
    • มีความปลอดภัยต่อเกษตรกรในขั้นตอนการผลิตข้าว และข้าวที่ได้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากสามารถลดหรืองดการใช้สารเคมีลงได้
    • ลดต้นทุนการผลิต ในเรื่องของปุ๋ย สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช
    • ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น

             อ้อย

    1. การใช้น้ำสกัดมูลสุกรฉีดพ่นทางใบ  ใช้น้ำสกัดมูลสุกรอัตรา 1 ลิตรผสมน้ำ 10 ลิตร ผสมสารจับใบ  3-5 ซีซี  ฉีดพ่นทางใบในช่วงที่ต้นอ้อยยังไม่สูงมากนัก
    2. ใช้น้ำสกัดมูลสุกรปล่อยไปตามร่อง  พร้อมกับการขึ้นน้ำให้อ้อย  ประมาณ 2 เดือนต่อ 1 ครั้ง  นอกจากช่วยเร่งให้อ้อยโตเร็วแล้วยังทำให้อ้อยมีความหวานเพิ่มขึ้นด้วย

             พืชผัก

    1. ใช้น้ำสกัดมูลสุกรแช่เมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก  ซึ่งจะทำให้เมล็ดผักงอกเร็วและเจริญตั้งตัวได้เร็วกว่าเมล็ดที่ไม่ได้แช่ 
    วิธีการ ใช้น้ำสกัดมูลสุกรอัตราส่วน 1 ลิตร เติมน้ำให้ได้ 20 ลิตร แล้วนำเมล็ดพันธุ์พืชที่ปลูกแช่น้ำเป็นเวลา 6-12 ชม. ก่อนหว่าน  หรืออาจผึ่งลมให้เมล็ดพันธุ์แห้งก่อน  แล้วนำไปปลูก ซึ่งขึ้นกับเมล็ดพันธุ์แต่ละชนิด
    2. ใช้น้ำสกัดมูลสุกรฉีดพ่นทางใบ คือ  ทำให้พืชได้รับธาตุอาหารชนิดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น  พืชจะมีสีเขียวเข้ม  ใบมีขนาดใหญ่  หนา และยาวขึ้น  กาบใบหรือก้านใบแข็งและมีลักษณะตั้งขึ้น  พืชมีน้ำหนักใบและลำต้นมากขึ้นอย่างชัดเจน
    วิธีการ ใช้น้ำสกัดมูลสุกรอัตรา 1 ลิตรผสมน้ำ 10-20 ลิตรผสมสารจับใบ 3-5 ซีซี  ฉีดพ่นทางใบช่วงเวลาเช้าหรือเย็น  สัปดาห์ละครั้ง
    3. ใช้น้ำสกัดมูลสุกรรดให้พืชทางดิน  ก่อนหว่านเมล็ดพันธุ์ หรือในช่วงเร่งการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ โดยใช้น้ำสกัดมูลสุกรอัตรา 1 ลิตรผสมน้ำ 10 ลิตร รดทางดิน

             ไม้ผล

    1. ใช้น้ำสกัดมูลสุกรฉีดพ่นทางใบ  จะทำให้พืชมีการสร้างใบและทรงพุ่มใหม่ได้เร็ว  ทำให้พืชออกดอก  ผลได้เร็วขึ้น  ให้ผลผลิตมากขึ้นและมีรสชาติดีด้วย  โดยใช้น้ำสกัดมูลสุกร 1 ลิตรผสมน้ำ 10-20 ลิตรพร้อมสารจับใบ 3-5 ซีซี ฉีดพ่นทางใบในช่วงเวลาเช้าหรือเย็น เดือนละ 1-2 ครั้ง  จนกระทั่งพืชมีการสร้างทรงพุ่มเต็มที่  ให้หยุดฉีด  เพื่อให้พืชสร้างดอกและผลต่อไป
    2. ใช้น้ำสกัดมูลสุกรรดทางดิน  โดยใช้น้ำสกัดมูลสุกรเจือจางด้วยน้ำ 10 เท่า รดทางดิน ต้นละ 1-2 ลิตรเดือนละ 1-2 ครั้ง ในช่วงเร่งการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ  หรือจะใช้น้ำสกัดมูลสุกรเข้มข้น ให้พร้อมกับการให้น้ำแบบระบบน้ำหยด

               ไม้ดอก

    1.  ใช้น้ำสกัดมูลสุกรฉีดพ่นทางใบ  จะทำให้พืชมีการสร้างดอกได้เร็วขึ้น  ดอกมีความสมบูรณ์  ขนาดใหญ่  สีเข้มสดใส  ก้านดอกแข็ง  ยืดอายุการเก็บได้นานขึ้น  อีกทั้งต้นที่เก็บเกี่ยวไปแล้วไม่โทรม  ยังสามารถให้ดอกได้เร็วขึ้น  โดยใช้น้ำสกัดมูลสุกร 1 ลิตร ผสมน้ำ 10-20 ลิตรพร้อมสารจับใบ 3-5 ซีซี ฉีดพ่นทางใบในช่วงเวลาเช้าหรือเย็น สัปดาห์ละ 1 ครั้ง 
    2.  ใช้น้ำสกัดมูลสุกรรดทางดิน  โดยใช้น้ำสกัดมูลสุกรเจือจางด้วยน้ำ 10 เท่า รดทางดิน ต้นละ 1-2 ลิตรสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  หรือจะใช้น้ำสกัดมูลสุกรเข้มข้น ให้พร้อมกับการให้น้ำแบบระบบต่างๆ  ในช่วงเร่งการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ

    รูปประกอบผลงานวิจัย

  

คณะผู้วิจัย :
์อุทัย   คันโธ   และ  สุกัญญา   จัตตุพรพงษ์
หน่วยงาน :
ศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาวิชาการอาหารสัตว์
สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจฯ  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม
โทร.  034 – 352035  โทรสาร  034 - 352037