การผลิต และการใช้ประโยชน์กวาวเครือขาวทางด้านการเกษตร
Production and Utilization of Kwao Krue Khaw in Agricultureal Aplication

       
เทคนิคการขยายพันธุ์กวาวเครือขาว SARDI190 ด้วยวิธีการตัดชำ

        จากการทดลองขยายพันธุ์กวาวเครือขาว SARDI190 ด้วยวิธีการตัดชำ พบว่าสามารถทำได้อย่างรวดเร็วกว่าวิธีอื่นๆ แต่ต้องมีเทคนิคบางอย่างเช่น ความเข้มข้นของฮอร์โมนเร่งราก ความสูงของวัสดุเพาะชำ การให้น้ำเพื่อควบคุมความชื้นในแต่ละช่วงอายุการชำ วิธีการ และผลการดำเนินการสรุปได้ดังนี้

  1. การพ่นน้ำเป็นหมอกในช่วง 2 สัปดาห์แรก แต่ละครั้งห่างกัน 8 นาที พ่นอยู่นานครั้งละนาที และ  ในช่วงสัปดาห์ที่3-4 ห่างกันครั้งละ 12 นาที นาน 1 นาที
  2. กิ่งชำกวาวเครือขาวจะเริ่มออกราก ตั้งแต่ 18-21 วัน
  3. กล้ากวาวเครือขาวที่ตัดชำมีรากสมบูรณ์เมื่ออายุ 28-30
  4. การชำกิ่งกวาวเครือขาวในแปลงมีจำนวนต้นที่รอดตายและย้ายออกจากเรือนเพาะชำ 70.64 %
  5. การชำกิ่งกวาวเครือขาวในแปลงมีจำนวนต้นที่รอดตายจนถึงอายุ 70 วัน 67.48 %
  6. การชำกิ่งกวาวเครือขาวในถุงเพาะชำขนาด 3.5x7.0 นิ้วมีการรอดตายของกิ่งชำน้อยกว่า การชำในถุงขนาด 5x10 นิ้ว
  7. การใช้ฮอร์โมนเร่งรากที่มีความเข้มข้นสูงทำให้กิ่งชำไม่ตาย แต่ไม่ออกราก
  8. ลูกที่เกิดจากการตัดชำมีลายพิมพ์ ดีเอ็นเอ เหมือนกับต้นแม่ทุกประการ

ภาพที่  1  แสดงลักษณะของโครงสร้างโรงเพาะชำและระบบพ่นหมอก

ภาพที่  2 แสดงการออกรากของกิ่งชำในแปลงเพาะชำ

ภาพที่  3 แสดงลายพิมพ์นิ้วมือ ดีเอ็นเอ ของกวาวเครือขาว SARDI190 ต้นแม่ ต้นลูก และ ต้นเปรียบเทียบ

 

การใช้ประโยชน์สารเร่งการเจริญเติบโตในกวาวเครือขาวในการผลิตพืช

          กวาวเครือขาวสามารถส่งเสริมการเจริญของไม้ดอกได้  ซึ่งทดสอบการเร่งการออกดอกของกุหลาบในสภาพปลอดเชื้อ โดยนำแคลลัส ของกุหลาบหนู มาเพาะเลี้ยงบนอาหารวุ้น สูตร MS (Murashige and Skoog 1962) พบว่าอาหารวุ้นที่มีส่วนผสมของสารสกัดกวาวเครือขาวมีส่วนในการชักนำการเจริญของดอกกุหลาบหนูเป็นอย่างดี

          กวาวเครือขาวส่งเสริมการเจริญของต้นพืชในแปลงปลูกในสภาพธรรมชาติ        พบว่าการใช้สารสกัด กวาวเครือขาวฉีดพ่นในแปลงปลูกผักคะน้ามีแนวโน้ม  ทำให้ใบผักคะน้าอวบอ้วน  และมีน้ำหนักสูงกว่าต้นปกติ  ซึ่งในส่วนของการเจริญของผักคะน้านี้ จะยืนยันผลการทดลองโดยทำซ้ำในปีต่อไป

         ในส่วนของการใช้ในพริกที่ปลูกในระบบอินทรีย์นั้นยังเห็นผลไม่ชัดเจน

ภาพที่ 4 แสดงเปรียบเทียบแคลลัสกุหลาบบนอาหารวุ้น สูตรMS  กับ แคลลัสที่มีการเจริญเป็นต้นเพาะเลี้ยงด้วยอาหารวุ้นสูตร MS ผสมกวาวเครือ

ภาพที่ 5 แสดงเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของผักคะน้าต้นควบคุมกับต้นที่ฉีดพ่นด้วยสารสกัดกวาวเครือขาว

 

การพัฒนาการผลิตต้นพันธุ์กวาวเครือขาว(Pueraria  candollei  Grah. ex Benth. var. mirifica ( Airy Shaw et. Shaw Suvat ) Niyomdh )ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

          วิธีการฟอกฆ่าเชื้อกวาวเครือที่เหมาะสมคือ การฟอกทั้งตายอด และตาข้างด้วย คลอร็อกซ์ ที่ความเข้มข้น 10% ครั้งที่ 1 เป็นเวลา 10 นาทีและครั้งที่ 2 เป็นเวลา 10 นาที ได้ชิ้นส่วนที่รอดชีวิต และปราศจากเชื้อสูงสุดที่ 50 เปอร์เซ็นต์

          สูตรอาหารที่สามารถชักนำให้ยอดกวาวเครือเกิดกลุ่มยอดใหม่ คือ อาหารแข็งสูตร MS ที่เติม BA  ความเข้มข้น 2 มิลลิกรัมต่อลิตรและ GA  ความเข้มข้น 0.1 มิลลิกรัมต่อลิตร ให้จำนวนกลุ่มยอดเฉลี่ยสูงสุด 8.2 ยอด  รองลงมาคือยอดที่เกิดจากอาหาร MS ที่มี BA ความเข้มข้น 1  มิลลิกรัมต่อลิตร และ GA  ความเข้มข้น 0.1 มิลลิกรัมต่อลิตร ที่มีจำนวนยอดเท่ากับ 3.4  เมื่อเพาะเลี้ยงเป็นเวลา 60 วัน  ส่วนการเติมผงกวาวเครือขาว0.5, 1 และ 1.5 กรัมต่อลิตร ลงในอาหารสูตร MS ที่มี BA 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตรพบว่าทุกระดับของผงกวาวเครือขาว  มีแนวโน้มสามารถชักนำให้เกิดยอดที่มีลักษณะปกติได้

ภาพที่ 6  ลักษณะยอดกวาวเครือในสภาพปลอดเชื้อบนอาหาร MS

ภาพที่ 7   ยอดที่เกิดขึ้นใหม่เมื่อเลี้ยงยอดกวาวเครือบนอาหารสูตร MS ที่เติม BA 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร และ ผงกวาวเครือ 0.5, 1 และ 1.5 กรัมต่อลิตร เป็นเวลา 30 วัน

        จากผลรวมของโครงการวิจัยนี้สามารถขยายพันธุ์กวาวเครือขาวเพื่อใช้ปลูกเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จด้วยกระบวนการตัดชำ ส่วนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้องพัฒนาต่อไป การใช้ประโยชน์ในพืชได้ผลดีพอควร

  
คณะผู้วิจัย :
สมโภชน์ ทับเจริญ1,ภาณี ทองพำนัก2 และ ยุพา ปานแก้ว3
หน่วยงาน
1ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงสุกรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม
2งานเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์พืช ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จ.นครปฐม
3หน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพเพื่ออุตสาหกรรม สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทาง การเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จ.กรุงเทพมหานคร