เคยู-ไบโอดีเซล
       

              โครงการเคยู - ไบโอดีเซล เป็นโครงการที่ทำการศึกษาและวิจัยแบบบูรณาการเกี่ยวกับน้ำมันไบโอดีเซล โดยมีแผนงานหลักแบ่งออกได้เป็น 3 แผนงาน อันได้แก่ 1) แผนงานที่เกี่ยวกับการผลิตสบู่ดำ การปรับปรุงพันธุ์และการปลูกสบู่ดำ 2) แผนงานที่เกี่ยวกับเทคนิคการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันสบู่ดำ และ3) แผนงานที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งจากการผลิต โดยผลการศึกษาจากแผนงานที่ 1 ทำให้ได้องค์ความรู้ที่ใช้จัดการต้นสบู่ดำในด้านต่างๆ เช่น วิธีการปลูก ระยะปลูก รูปแบบการตัดแต่งกิ่งที่เหมาะสม การเลือกใช้ธาตุอาหาร ฮอร์โมนหรือสารต่างๆ วิธีการขยายพันธุ์รูปแบบต่างๆ ข้อมูลของโรค ชนิดของศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติที่มักพบ ส่วนผลจากวิจัยในแผนงานที่ 2 ทำให้เข้าใจถึงปฏิกิริยาในการผลิตไบโอดีเซลและปัจจัยต่างๆที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนเป็นไบโอดีเซลของน้ำมันสบู่ดำ อีกทั้งทราบถึงวิธีที่เหมาะสมในการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันสบู่ดำ ส่วนผลจากการศึกษาในแผนงานสุดท้าย จะทราบถึงวิธีในการเพิ่มมูลค่าของส่วนต่างๆจากสบู่ดำ เช่น กาก เปลือก เมล็ด กิ่งก้าน และลำต้นสบู่ดำ รวมถึงการเพิ่มมูลค่ากลีเซอรอลดิบ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ข้างเคียงจากการผลิตไบโอดีเซลด้วย
ผลจากแผนงานแรกจะช่วยเกษตรกรและผู้ที่สนใจสามารถปลูกและดูแลแปลงสบู่ดำได้เป็นอย่างดี เนื่องจากทราบวิธีการเขตกรรมที่เหมาะสม อีกทั้งปัจจัยสำคัญต่างๆที่มีผลกระทบต่อสบู่ดำ ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถจัดการแก้ปัญหาต่างๆในเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ส่วนแผนงานที่สองจะทำให้ทราบเทคนิคและวิธีในการผลิตไบโอดีเซลที่เหมาะสม ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเพื่อใช้พัฒนาการผลิตไบโอดีเซลในระดับอุตสาหกรรมได้ ส่วนแผนงานสุดท้าย จะช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากสบู่ดำทุกส่วนได้อย่างครบวงจร ทั้งนี้เพื่อให้มีรายได้ตลอดจากการปลูกสบู่ดำตั้งแต่แรกเริ่มไปจนถึงออกผล ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งผลรวมจากทั้งแผนงานทั้งสามนี้จะส่งผลดีต่อประเทศไม่ว่าในแง่ของเศรษฐกิจและสังคม
            โครงการฯ ได้ทำการเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยออกมาในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรมการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งได้ทำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 จนถึง ณ ปัจจุบันนี้ได้เปิดอบรมมาแล้วทั้งสิ้น 25 รุ่น นอกจากนี้ยังได้มีการจัดการสัมมนา และนิทรรศการต่างๆ ได้แก่ การสัมมนาวิชาการ เรื่อง “การประชุมวิชาการสบู่ดำแห่งชาติครั้งที่ 1” ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ในวันที่ 29 -30 พฤษภาคม 2550, การสัมมนาโครงการศึกษาและกำหนดรูปแบบการจัดการสบู่ดำเป็นเชื้อเพลิงอย่างครบวงจร ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551, การสาธิตการผลิตไบโอดีเซลชุมชนโดยจัดทำต้นแบบผลิตไบโอดีเซลในประเทศสหภาพพม่า วันที่ 28 เมษายน 2551 ณ เมืองเนบิดอร์ ประเทศสหภาพพม่า, การประชุมสัมมนาเปิดโครงการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพไบโอดีเซลและการลดของเสียจากขบวนการผลิต (พัฒนาคุณภาพการผลิตไบโอดีเซลตามมาตรฐานเชิงพาณิชย์) วันที่ 13 พฤษภาคม 2551, การจัดแสดงนิทรรศการ ในการประชุมสัมมนา “การวิจัยและพัฒนาพืชพลังงานที่ไม่ใช่พืชอาหาร” วันที่ 3 กรกฎาคม 2551 และงานนิทรรศการ “การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ” (Thailand Research Expo 2008) ระหว่างวันที่ 12-16 กันยายน 2551 ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

             นอกจากนี้โครงการฯ ยังได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ “รายงานผลการวิจัยสบู่ดำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2524 – 2530 และ 2547” และเอกสารฉบับเต็มจากการประชุมวิชาการสบู่ดำแห่งชาติครั้งที่ 1 ทั้งนี้ผลสำเร็จจากการดำเนินงานของโครงการฯที่ผ่านมาบางส่วนยังได้ออกเผยแพร่ทางโฮมเพจ www.biodiesel.rdi.ku.ac.th อีกด้วย


\\BIODIESEL2\KU-Biodiesel\Picture\การประชุมวิชาการสบู่ดำ29-30_05_50\DSCF3979.JPG \\BIODIESEL2\KU-Biodiesel\Picture\สัมมนาครบวงจร19กพ51\101MSDCF\DSC08722.JPG
\\BIODIESEL2\KU-Biodiesel\Picture\อบรมไบโอดีเซล\biodiesel(9)25_3_51\SSL13050.JPG

 

  
คณะผู้วิจัย :
เพ็ญจิตร ศรีนพคุณ และคณะ
หน่วยงาน :
ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02-942-8555 ต่อ 1209 หรือ 02-579-6830