การสำรวจ และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองกำพวน จังหวัดระนอง
Survey and Development Local Wisdom following  King Bhumipol ’s  Philosophy of
Economic Sufficiency in Kamphuan Watershed Area, Ranong Province

       

            สังคมไทยในอดีตล้วนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่แวดล้อมอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นตัวกำหนดรากฐานทางภูมิปัญญาดั่งเดิมที่สืบทอดมา  แม้ว่ากระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง  จะเป็นตัวแปรที่ทำให้สูญหายไปบ้างตามกาลเวลา แต่ก็ยังคงเหลือร่องรอยอยู่บ้างโดยเฉพาะภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีท้องถิ่นที่แสดงถึงประสบการณ์  ความรู้ ความสามารถของชาวบ้านในการดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ โดยใช้ศักยภาพของตนเองรังสรรค์และถ่ายทอดคุณค่าแห่งภูมิปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกให้เราได้ทราบว่าในบรรพกาล บรรพบุรุษของเราได้สั่งสมวิวัฒนาการความเจริญก้าวหน้าทางอารยธรรม วัฒนธรรมต่าง ๆ ที่แสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนความเป็นเอกลักษณ์ซึ่งควบคู่กับมนุษย์มานานนับพันปี

            จังหวัดระนองเป็นเมืองโบราณที่มีอายุเก่าแก่และมีความสำคัญมากเมืองหนึ่งในภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ที่ตั้งของจังหวัดระนองในปัจจุบันนั้นตั้งซ้อนทับเมืองโบราณเดิม จากหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าเมืองระนองไม่เคยร้าง เป็นเมืองโบราณที่พัฒนาขึ้นมาจากสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม จนกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และศาสนามาตลอด กล่าวได้ว่าจังหวัดระนองเป็นแหล่งอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองมานานหลายชั่วอายุคน บรรพบุรุษของชาวระนองได้ฝากร่องรอยวิถีชีวิตอันเรียบง่าย สงบสุข เป็นมรดกแก่ลูกหลานที่ไม่มีใครสามารถจะยื้อยุดแย่งชิงไปได้ นั่นคือ  “มรดกทางภูมิปัญญา”

            สถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล็งเห็นความสำคัญของทุนชุมชน เพื่อสนับสนุนและพัฒนาทุนชุมชนโดยเฉพาะทุนภูมิปัญญา ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ทุนดังกล่าวนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาชุมชนและความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้ทางให้หันกลับมาใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยกลับสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ การจัดการทรัพยากร การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน  คนกับธรรมชาติ ชุมชนกับชุมชน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดจากภูมิปัญญา (กรมพัฒนาชุมชน, 2541) 

            คณะผู้วิจัยได้ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นในการที่จะนำมาต่อยอดเพื่อเป็นฐานการพัฒนาท้องถิ่นตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้ทำการศึกษาในครั้งนี้ เพื่อเป็นการสืบค้น สืบสานให้ทราบถึงศักยภาพภูมิปัญญาของชุมชน อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพภูมิปัญญาด้วยกระบวนการเรียนรู้และผสมผสานแบบบูรณาการระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นกับภูมิปัญญาสากล (เทคโนโลยีที่เหมาะสม) ให้เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

วัตถุประสงค์

            1. เพื่อศึกษาสถานภาพของภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองกำพวน จังหวัดระนอง
            2. เพื่อสืบสาน และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองกำพวน จังหวัดระนองให้เป็นที่รู้จักแก่คนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

วิธีวิจัย

            การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงบูรณาการ กล่าวคือ การสร้างองค์ความรู้ การศึกษาเรียนรู้ร่วมกันและการเผยแพร่งานพัฒนาสู่ระบบสาธารณชน (RLDP:  Research  and  Learning  to Development  for  Public) เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่ให้เกิดการพัฒนากระบวนการการผลิต เพิ่มคุณค่า และมูลค่าให้แก่ชุมชนท้องถิ่น โดยกำหนดพื้นที่การศึกษาในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองกำพวน จังหวัดระนอง ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอสุขสำราญ  จังหวัดระนอง ประกอบด้วย ตำบลกำพวน และตำบลนาคา

            คณะผู้วิจัยได้ทำการสำรวจข้อมูล โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ได้แก่ การจัดเวทีประชาคม (village meting) การสัมภาษณ์ เชิงลึก (In-depth-interview) การประชุมกลุ่ม (Focus  Group) เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล กำหนดหัวข้อความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ออกเป็น 3 หัวข้อ คือ สภาพทั่วไป ประวัติและความเป็นมา และความรู้ท้องถิ่นของชุมชน

ผลการศึกษา

            ผลการศึกษาพบว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่มีแหล่งกำเนิดที่สำคัญจาก 3 ส่วน คือ จากการสืบทอดจากบรรพบุรุษ การประดิษฐ์คิดค้นจากประสบการณ์ของตนเอง และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเดิม สำหรับภูมิปัญญาที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดในพื้นที่มีดังนี้

1. เครื่องมือประมงพื้นบ้าน ประกอบด้วย
            1.1 อวนกลุ่มปลาทราย เจ้าของภูมิปัญญา คือ นางสุนีย์ อบรม การมัดอวนนี้ได้เรียนรู้มาจากบิดา มารดา และได้ศึกษาเพิ่มเติม
            1.2 ลอบหมึก เจ้าของภูมิปัญญา คือ นางถนอมศรี ภู่สกุล การทำลอบหมึกเกิดจากการศึกษาด้วยตนเอง โดยการไปศึกษาดูงานที่จังหวัดชุมพร และทดลองทำด้วยตนเอง ปัจจุบันมีเด็กนักเรียนในชุมชนมาเรียนรู้การทำลอบหมึกที่บ้าน และมีการสอนที่ศูนย์การเรียนรู้ที่พัฒนาชุมชนกำพวน
            1.3 หวะรุนกุ้งเคย เจ้าของภูมิปัญญา คือ นายมาอีน สวนสัน โดยเริ่มทำหวะรุนกุ้งเคย ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2524  ได้สืบทอดมาจากบิดามีการจับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ตุลาคมของทุกปี  แต่ละครั้งจะจับได้ประมาณ 30 – 40 กิโลกรัม  ซึ่งการรุนกุ้งเคยในแต่ละครั้งต้องลงไปในทะเล ประมาณ 1 – 50 เมตร จากชายฝั่ง

2. เครื่องมือ เครื่องใช้พื้นบ้าน ประกอบด้วย
            2.1 การฉลุไม้  เจ้าของภูมิปัญญา คือ นายสะและ สะอาด ได้ศึกษาและเรียนรู้จากปู่และญาติ เริ่มทำตั้งแต่ พ.ศ.2529 จนถึงปัจจุบันโดยลวดลายที่ฉลุยังคงเป็นแบบดั้งเดิม สำหรับไม้ที่ใช้ฉลุ จะเป็นไม้เนื้ออ่อน
            2.2 ไม้กวาดดอกอ้อ  เจ้าของภูมิปัญญา คือ นายวารินทร์  ศิริโสภา เริ่มทำเมื่อปี พ.ศ. 2517 โดยเริ่มจากการทดลองทำด้วยตนเอง ลองผิดลองถูก จนได้ไม้กวาดที่มีความคงทนเหมาะกับการใช้งาน วัตถุดิบส่วนใหญ่จะใช้วัสดุในท้องถิ่น

3. เกษตรแบบผสมผสาน เจ้าของภูมิปัญญา คือ นายสมุทร กำพวน ได้เริ่มทดลองทำการเกษตรแบบผสมผสาน เมื่อปี พ.ศ.2544 โดยมีน้ำสำหรับการเกษตร และใช้ในครัวเรือนจากประปาภูเขา คือ น้ำตกโตนกลอย  ซึ่งจะมีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี สำหรับในพื้นที่ทดลองมีการทำเกษตรหลายชนิด ประกอบด้วย

            1. ในช่วงแรกเริ่มทดทองปลูกไม้ผล ได้แก่ มังคุด หมาก ลองกอง และปาล์ม ในแปลงเดียวกัน จากการทดลองปลูกพบว่า ซึ่งรากของหมากจะช่วยดูดซับน้ำได้ เพื่อใช้ในหน้าแล้ง ระยะปลูกของหมากในแปลง คือ 8 x 4  เมตร
            2. บ่อเลี้ยงปลาดุก จะใช้บ่อดิน กว้าง 5 เมตร ยาว 8 เมตร ลึก 2 เมตร ปล่อยพันธุ์ปลาประมาณ 500 ตัว ช่วงแรกจะให้อาหารเม็ดสำเร็จรูป หลังจากปลาอายุได้ประมาณ 2 เดือน ก็ให้อาหารเม็ด และ อาหารสด เช่นปลาขนาดเล็ก มีอายุการเลี้ยงประมาณ 4 เดือน
            3. ปลูกพืชผักสวนครัว ได้แก่ พริก ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะนาว กระเพรา โหระพา และมะละกอ เพื่อใช้ในการประกอบอาหาร โดยใช้พื้นที่บริเวณหลังบ้าน
            4. การเลี้ยงผึ้ง เพื่อที่จะให้ผสมเกสร ไม้ผลต่างๆ โดยมีรังผึ้งจำนวน 2 รัง บริเวณสวนผลไม้ เป็นผึ้งที่อยู่ตามธรรมชาติ  โดยผึ้งจะมาทำรังปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งแต่ละปีจะได้น้ำหวานจากผึ้ง ประมาณ 20 ขวด

4. สมุนไพรพื้นบ้าน เจ้าของภูมิปัญญา คือ นางเอส้า เจมูสอ ได้รับการสืบทอดมาจากบิดาโดยได้เริ่มทำขี้ผึ้งสมุนไพรลูกประคบ เมื่อ ปี พ.ศ. 2547 ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 ได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการให้จัดตั้งเป็นกลุ่มแปรรูปขี้ผึ้งสมุนไพรลูกประคบ   มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดเส้น เคล็ด ขัดยอก และช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต

5. การนวดแผนไทย เจ้าของภูมิปัญญา คือ นางเอส้า เจมูสอ ได้รับการสืบทอดมาจากบิดา สำหรับช่วงแรกที่ได้ทำการการนวดจะใช้สมุนไพรจากน้ำมันมะพร้าว ต่อมาปี พ.ศ.2547 ก็มาเปลี่ยนมาใช้ขี้ผึ้งสมุนไพรลูกประคบแทน การนวดแผนไทย สรรพคุณในการช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย และรักษาอาการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อ

6. การละเล่นพื้นบ้าน ได้แก่ การแสดงมโนราห์ เจ้าของภูมิปัญญา คือ นายชม นิ่มกาญจนา โดยนายชม หรือมโนราห์ชม ได้เรียนรู้การรำมโนราห์ จากครูมโนราห์ คือ ครูรื่น จิตรอับษร ตั้งแต่อายุ  9 ขวบ แสดงมโนราห์ครั้งแรกที่ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ตั้งแต่อายุ  11 ขวบ และได้เปิดการแสดงทั่วภาคใต้ ยกเว้น 3 จังหวัดชายแดน ใช้ชื่อว่า “คณะเลื่อนน้อย”  ต่อมาใน ปีพ.ศ.  2515  ได้จัดตั้งคณะมโนราห์ขึ้นเอง ใช้ชื่อว่า “คณะมานะศิลป์”  ในปีพ.ศ. 2516 ได้ย้ายมาอยู่ อ.เมือง จ.กระบี่  ในปี พ.ศ.2533 ได้ย้ายมาสร้างบ้านหลังปัจจุบัน และ ปี พ.ศ. 2548 ได้รับโล่เกียรติคุณ  “ภูมิปัญญาท้องถิ่นดีเด่นปี 2548”   จากสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน

การทำลอบหมึก : หวายแดง
นางถนอมศรี   ภู่สกุล

การฉลุไม้ : ไม้จำปา หรือไม้เนื้ออ่อน               
นายสะและ   สะอาด      

 

  


ไม้กวาดดอกอ้อ :  ดอกอ้อ
นายวารินทร์   ศิริโสภา

เกษตรผสมผสาน : มังคุด หมาก
ลองกอง และปาล์มน้ำมัน
นายสมุทร   กำพวน

 

                จากผลการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการพัฒนาในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองกำพวน ดังกล่าวข้างต้น  จะเห็นได้ว่ามีภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายประการที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้ โดยเฉพาะภูมิปัญญาที่มีการใช้วัตถุดิบหลักที่มีในท้องถิ่น  อย่างไรก็ตามก็ยังมีภูมิปัญญาอีกหลายประการที่พบว่า ไม่สามารถนำมาพัฒนาต่อได้ โดยเฉพาะภูมิปัญญาด้านการละเล่น และการแสดงพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณะเฉพาะถิ่น แต่ทั้งนี้ก็ยังทรงคุณค่าทางด้านจิตใจ ดังนั้นจึงควรอนุรักษ์และสืบทอดให้แก่คนรุ่นหลัง ตลอดจนเผยแพร่สู่บุคคลทั่วไปให้เป็นที่รู้จักต่อไป

 

 

  
คณะผู้วิจัย :
สุรินทร์ภรณ์ ศรีอินทร์    วิสัย คงแก้ว    เดชา ดวงนามล  และ สหัส  ราชเมืองขวาง
หน่วยงาน :
สถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน  สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 077-893119