การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองกำพวนเพื่อการวางแผนการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง
Land Use Change in Kamphuan Watershed for Coastal Resources Management Planning

       

            พื้นที่ลุ่มน้ำคลองกำพวนครอบคลุมพื้นที่ของตำบลกำพวน ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง เป็นลุ่มน้ำที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชุมชนชายฝั่งและชุมชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่ลุ่มน้ำ ซึ่งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่ถูกต้องตามสมรรถนะที่ดิน เป็นปัญหาสำคัญของการบริหารจัดการลุ่มน้ำ เช่น การบุกรุกและทำลายแหล่งต้นน้ำ การชะล้างพังทลายของดินโดยจะส่งผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองกำพวนเพื่อการวางแผนการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพและลักษณะของการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองกำพวน ในช่วงปี พ.ศ. 2530 – 2551 โดยประยุกต์ใช้ข้อมูลจากการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) ใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะของงาน รวมถึงพัฒนาและปรับปรุงเพื่อจัดเก็บและจัดทำฐานข้อมูลในระดับลุ่มน้ำในรูปแบบของแผนที่ ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและการคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนสามารถนำไปสู่การศึกษาและการวางแผนการใช้ทรัพยากรที่ดินในบริเวณลุ่มน้ำคลองกำพวนและลุ่มน้ำอื่น ๆ  ต่อไป

วิธีการศึกษา

            1.  รวบรวมแผนที่สภาพภูมิประเทศมาตราส่วน 1: 50000 แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินปี 2530 และ 2540 แผนที่การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำและภาพถ่ายดาวเทียม Landsat-5 (ปี 2530 – 2551) เพื่อกำหนดลักษณะทางภูมิศาสตร์ทางกายภาพของพื้นที่
            2.  ตรวจสอบสภาพพื้นที่ร่วมกับแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน สำหรับปรับแก้ข้อมูลให้ถูกต้องก่อนนำมาพิจารณาสถานภาพและความเหมาะสมของการใช้ประโยชน์พื้นที่
            3.  แสดงขอบเขตพื้นที่ลุ่มน้ำศึกษา และจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำศึกษาใน 3 ช่วงเวลา คือ ปี 2530, 2540 และ 2551 พร้อมเสนอแนวทางสำหรับการจัดการลุ่มน้ำในระดับพื้นที่ศึกษา

ผลการศึกษา

1 .ลักษณะภูมิศาสตร์กายภาพของลุ่มน้ำ

            ลุ่มน้ำคลองกำพวนมีขนาดพื้นที่เท่ากับ 74.02  ตารางกิโลเมตร หรือ 42,260.65 ไร่ (ตารางที่ 1) เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน โดยเฉพาะด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพื้นที่ลุ่มน้ำ ลักษณะของพื้นที่ลาดเอียงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้านฝั่งทะเล
อันดามัน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลมากที่สุดประมาณ 1,350 เมตร และต่ำสุดด้านทิศตะวันตกบริเวณปากคลองกำพวนและคลองบางกล้วย ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลน้อยกว่า 5 เมตร ความลาดชันของพื้นที่เฉลี่ย 7.27 เปอร์เซ็นต์ (กาญจน์เขจร และคณะ, 2548)

2. ประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำศึกษา

            การวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม Landsat-5 สามช่วงเวลา (ปี 2530 – 2551) ร่วมกับการใช้ ground control points พบว่า สภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำศึกษาจำแนกได้ดังแสดงในภาพที่ 1-3  ลักษณะพื้นที่ลุ่มน้ำส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าดิบชื้นถึงร้อยละ 48 (23,486.67 ไร่)  47 (21,558.63 ไร่) และ 44 (20,408.99 ไร่) ในปี 2530, 2540 และ 2551 ตามลำดับ สำหรับพื้นที่ที่เป็นที่เนินและที่ราบ ประกอบด้วยพื้นที่เกษตรกรรมรูปแบบต่าง ๆ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสวนผสม ดังตารางที่  1  

ภาพที่  1  แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองกำพวน ปี 2530

ภาพที่  2  แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองกำพวน ปี 2540

ภาพที่  3  แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองกำพวน ปี 2551

ตารางที่ 1  ประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินจำแนกตามขนาดพื้นที่ ระหว่างปี 2530 – 2551

ประเภทการใช้
ประโยชน์ที่ดิน
พื้นที่ (ไร่)
ปี 2530
ปี 2540
ปี 2551
ป่าดิบชื้น 23,486.67 (48.61 %) 21,558.63 (47.03 %) 20,408.99 (44.12 %)
ปาล์มน้ำมัน 0.00 4,964.26 (10.73 %) 6,135.35 (13.26 %)
ยางพารา 5,459.98 (11.80 %) 8,770.68 (18.96 %) 5,312.35 (10.84 %)
สวนผสม 6,336.45 (13.70 %) 3,410.11 (7.80 %) 4,910.93 (10.68 %)
ชุมชน/พื้นที่เปิดโล่ง 1,919.96 (4.15 %) 2,255.81 (1.89 %) 4,541.88 (8.79 %)
ป่าชายเลน 5,020.12 (10.74 %) 4,329.21 (9.36 %) 3,473.38 (7.51 %)
นากุ้ง 0.00 520.62 (1.13 %) 866.62 (1.44 %)
ป่าชายหาด 378.14 (0.82 %) 432.86 (0.94 %) 637.62 (1.38 %)
คลอง/แหล่งน้ำ 351.35 (0.76 %) 621.49 (1.99 %) 590.89 (1.04 %)
ชายหาด 513.81 (1.11 %) 450.25 (0.17 %) 435.91 (0.94 %)
นาข้าว 3,847.44 (8.32 %) 0.00 0.00
พื้นที่รวม (ไร่) 47,313.92 (75.70 ตร. กม.)

 

3. ความเหมาะสมของการใช้ประโยชน์ที่ดิน

       ความเหมาะสมของการใช้ประโยชน์ที่ดินใช้ข้อมูลจากการแปลภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลชั้นคุณภาพลุ่มน้ำจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์การใช้ที่ดินด้านการเกษตรกรรมแต่ละประเภท พบว่า พื้นที่ลุ่มน้ำคลองกำพวนใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ กล่าวคือ พบการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นสวนผสม พื้นที่เกษตรกรรม (ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน) ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่ 1A, 1B และ 2  ในช่วง 21 ปี ดังแสดงในตารางที่  2  ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของประชัน (2539) ได้ทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ภายในช่วงเวลา 12 ปี (พ.ศ. 2525-2537) พบว่า พื้นที่ของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีการบุกรุกแผ้วถางป่าและใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ กล่าวคือ ใช้พื้นที่สำหรับเกษตรกรรม  เมือง ในพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 เนื่องจากการเพิ่มจำนวนประชากรและการขยายตัวของเมือง และจากการศึกษาของสมเกียรติ (2538) พบว่า การปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในช่วงปี พ.ศ. 2516-2536 สภาพพื้นที่ป่าไม้ในลุ่มน้ำยมเปลี่ยนแปลงไปเป็นพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เมือง  

ตารางที่  2  การใช้ประโยชน์ที่ดินเกษตรกรรมในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2530 - 2551

การใช้ประโยชน์ที่ดิน
(
Landuse Types)

ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ (Watershed class)

 พื้นที่ (ไร่)

ปี 2530

ปี 2540

ปี 2551

สวนผสม (Mixed orchard)

1A

2.77

46.74

0

 

1B

1.67

24.59

0

 

2

952.51

919.43

614.71

 

3

1,532.43

671.85

859.55

 

4

627.89

96.93

346.98

 

5

3,217.85

1,843.04

3,118.47

พื้นที่รวม

6,335.12

3,602.59

4,939.70

ยางพารา (Para rubber)

1A

21.95

19.56

57.29

 

1B

7.92

5.23

2.87

 

2

1,254.54

1,908.66

1,836.55

 

3

1,396.15

1,981.74

1,322.68

 

4

525.82

733.4

351.97

 

5

2,252.58

4,113.46

1,428.46

พื้นที่รวม

5,458.95

8,762.06

4,999.82

ปาล์มน้ำมัน (Oli palm)

1A

0

4.14

0.01

 

1B

0

1.37

0

 

2

0

1,050.17

1,840.69

 

3

0

1,122.34

1,519.40

 

4

0

541.34

668.43

 

5

0

2,238.94

2,091.69

พื้นที่รวม

0

4,958.30

6,120.22

นาข้าว (Rice)

2

754.75

0

0

 

3

514.25

0

0

 

4

139.7

0

0

 

5

2,438.74

0

0

พื้นที่รวม

3,847.44

0

0

นากุ้ง (Shrimp farm)

1A

0

0.56

 0

 

2

0

39.65

7.57

 

3

0

48.16

 0

 

5

0

432.13

658.7

พื้นที่รวม

0

520.5

666.27

รวมทั้งหมด

15,641.51

17,843.45

16,726.00

สรุปผลการศึกษาและวิจารณ์

    1. พื้นที่ลุ่มน้ำคลองกำพวนมีขนาดพื้นที่เท่ากับ 74.02  ตารางกิโลเมตร หรือ 42,260.65 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนและลาดเอียงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้านทะเลอันดามัน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบชื้นมากกว่า 45 เปอร์เซ็นต์
    2. ประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำศึกษา ประกอบด้วย ป่าดิบชื้น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา สวนผสม ชุมชน/พื้นที่เปิดโล่ง ป่าชายเลน นากุ้ง ป่าชายหาด และชายหาด ยกเว้นในปี พ.ศ. 2530 ไม่พบการใช้ที่ดินเพื่อทำนากุ้ง ส่วนสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำที่เป็นป่าดิบชื้น ขนาดพื้นที่ลดลงเฉลี่ยประมาณ  99 ไร่/ปี  ในช่วง 21 ปี โดยเปลี่ยนเป็นการใช้ที่ดินเพื่อพืชเกษตรและพืชพลังงาน ซึ่งเกิดจากนโยบายของภาครัฐ ประกอบกับราคาของผลผลิตและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น
    3. พื้นที่ป่าชายเลนลดลงประมาณ  3  เปอร์เซ็นต์  หรือลดลงเฉลี่ย  71 ไร่/ปี ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำนากุ้ง เป็นชุมชนและที่อยู่อาศัย รวมทั้งผลกระทบที่เกิดจากภัยธรรมชาติ (สึนามิ) ในปี 2547 ซึ่งพื้นที่บางส่วนถูกเปลี่ยนสภาพไปอย่างสิ้นเชิงรวมถึงผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าไม้ชายฝั่งที่ถือว่ามีบทบาทและมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชุมชนที่พึ่งพิงทรัพยากรป่าชายเลนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
    4. การใช้ที่ดินเกษตรกรรมในรูปแบบต่างๆ  เช่น การทำสวนผสม ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1A, 1B และ 2  ถึงแม้ว่ามีขนาดพื้นที่ไม่มากเมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งหมด แต่ผลกระทบจากการบุกรุกและทำลายแหล่งต้นน้ำ จะทำให้เกิดปัญหาการสูญเสียธาตุอาหารและการชะล้างพังทลายของดินอย่างรวดเร็ว คุณภาพของแหล่งน้ำเสีย เกิดภาวะน้ำท่วม ปริมาณตะกอนและสารเคมีสะสมในแหล่งน้ำ นอกจากนี้ยังมีผลต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศ เพื่อเป็นการลดผลกระทบดังกล่าวจึงต้องหลีกเลี่ยงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1A, 1B และ 2 รวมถึงใช้หลักการอนุรักษ์ดินและน้ำโดยประยุกต์รูปแบบวนเกษตรเข้ามาบูรณาการในการจัดการพื้นที่ต่อไป

    ข้อเสนอแนะและแนวทางการจัดการลุ่มน้ำในอนาคต

      1. ประเมินสถานภาพและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน รวมถึงรูปแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่ และความเหมาะสมของการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามข้อกำหนดการจัดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ
      2. ปรับปรุงและฟื้นฟูสภาพพื้นที่ เช่น การปลูกป่าฟื้นฟูในระบบนิเวศป่าบก ป่าชายเลน ระบบนิเวศลุ่มน้ำ พื้นที่ต้นน้ำ ทั้งที่เป็นป่าเสื่อมโทรมหรือถูกทำลาย
      3. กำหนดมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ เช่น การปลูกพืชแบบขั้นบันได การส่งเสริม/สนับสนุนรูปแบบระบบวนเกษตรและการปลูกพืชคลุมดินในพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว
      4. หลีกเลี่ยงกิจกรรมการชะล้างพังทลายของหน้าดินทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือกิจกรรมของมนุษย์ เช่น เกษตรกรรมในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ชุมชน/ที่อยู่อาศัย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบายของหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่  เป็นต้น
      5. ควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของลุ่มน้ำ เช่น การใช้สารเคมีในพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจและพืชพลังงาน รวมทั้งการขยายตัวของแหล่งชุมชน/ที่อยู่อาศัย
      6. เน้นการจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชนเพื่อชุมชน เช่น การตั้งกฎกติกาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำ ทั้งนี้จะต้องให้สอดคล้องกับความต้องการและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
      7. น้นการบริหารจัดการลุ่มน้ำในระดับพื้นที่จากทุกภาคส่วน เช่น หน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อประสานความร่วมมือในการทำงานและกำหนดกรอบแผนการจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำในระยะยาว เช่น โครงการจัดการและฟื้นฟูระบบนิเวศเขาสู่ทะเล  เป็นต้น
  
คณะผู้วิจัย :
เดชา  ดวงนามล, สุรินทร์ภรณ์   ศรีอินทร์, วิสัย  คงแก้ว และ สหัส  ราชเมืองขวาง
หน่วยงาน :
สถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน  สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
โทร. 077-893119