งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะวิเคราะห์เปรียบเทียบสภาพการณ์การศึกษาภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โดยมุ่งประเด็นหลักด้านแรงจูงใจ การประกอบอาชีพในอนาคต ทัศนคติต่อภาษา รวมถึงศึกษาปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามในช่วงเดือนมิถุนายน 2549 – ธันวาคม 2550 และการวิจัยเอกสาร กลุ่มประชากร เป้าหมายที่สำรวจ ได้แก่ นิสิตเอกวิชาภาษาญี่ปุ่นชั้นปีที่ 1 – 4 จำนวน 101 คน นิสิตนอกสาขาที่ลงทะเบียนเรียนภาษาจีนจำนวน 271 คน ซึ่งผลการสำรวจพบว่านิสิตทั้งสองสาขามีแรงจูงใจในการเรียนแตกต่างกัน กล่าวคือแรงจูงใจที่ทำให้นิสิตเลือกเรียนภาษาญี่ปุ่นทั้งนิสิตเอกและนิสิตนอกสาขาวิชาเอกเลือกในอันดับสูงสุดคือชอบและสนใจในวัฒนธรรมญี่ปุ่น เฉลี่ยร้อยละ 61.40 และร้อยละ 70.23 ตามลำดับซึ่งวิเคราะห์ได้ว่าเป็นแรงจูงใจจากภายใน ส่วนนิสิตเอกภาษาจีนและนิสิตนอกสาขาภาษาจีนมีแรงจูงใจจากภายนอก กล่าวคือ ผู้เรียนเลือกเหตุผลในการเรียนเนื่องจากคาดว่าประเทศจีนจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจในอนาคต ร้อยละ 31.70 และร้อยละ 32.10 ตามลำดับ ด้านการประกอบอาชีพในอนาคตก็พบว่าอาชีพที่นิสิตญี่ปุ่นและจีนสนใจแตกต่างกันคือ นิสิตเอกภาษาญี่ปุ่นสนใจที่จะเป็นนักแปล ส่วนนิสิตเอกภาษาจีนสนใจการประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว ต่อทัศนคติในการเรียนพบว่าผู้เรียนเอกภาษาญี่ปุ่นชอบเรียนภาษาญี่ปุ่นเฉลี่ยร้อยละ 96.90 และผู้เรียนภาษาจีนก็ชอบเรียนเกินกว่าร้อยละ 90 นอกจากนี้ปัจจัยอื่น ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงพบว่าสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่นมีการปรับปรุงหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต 2549 โดยเน้นวิชาทักษะฟังพูดมากขึ้น มีการบรรจุวิชาสหกิจศึกษาในหลักสูตรเพื่อการฝึกงานในสถานประกอบการ ส่วนภาษาจีนนั้นพบว่ามีนิสิตนอกสาขาสนใจเรียนภาษาจีนเป็นอย่างมาก สาขาภาษาจีนขยายตัวในอัตรารวดเร็ว มีการก่อตั้งสถาบันขงจื๊อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี พ.ศ.2549 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทั้งหมดย่อมบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงแนวโน้มในการศึกษาภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีนในประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป |