งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาการสร้างอัตลักษณ์คนข้ามเพศในนวนิยายเรื่อง ทางสายที่สาม ของกีรตี ชนา ผลการศึกษาพบว่า อัตลักษณ์คนข้ามเพศถูกสร้างผ่านการบอกเล่าความรุนแรงที่สังคมกระทำต่อคนข้ามเพศ การใช้เรื่องเล่าแสดงให้เห็นพัฒนาการอัตลักษณ์คนข้ามเพศ การใช้วาทกรรมทางการแพทย์และวาทกรรมศาสนามาต่อสู้กับวาทกรรมกระแสหลักที่ชี้ชัดว่าภาวะข้ามเพศเป็นโรค นอกจากนั้น ผู้เขียนยังใช้การเมืองเรื่องภาพแทนในการสร้างความหมายของคนข้ามเพศขึ้นใหม่ ผสมผสานกลวิธีทางวรรณศิลป์ในการสร้างตัวละครและโครงเรื่องที่ท้าทายขนบของนวนิยายรัก ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า “ทางสายที่สาม” ที่คนข้ามเพศเลือกเดินนั้นเป็นทางที่วิพากษ์เพศสถานะของสังคม “ชาย-หญิง รักต่างเพศ” และระบอบปิตาธิปไตยได้อย่างแหลมคม |