การละประธานในภาษาไทย
       

            ภาษาไทยเป็นภาษาหนึ่งที่สามารถละประธานได้ การละประธานของกริยาแท้มิได้เกิดเฉพาะในภาษาพูดเท่านั้น แต่ยังพบในภาษาเขียนอีกด้วย  Aroonmanakun (2000) เสนอทฤษฎี Extended Center Approach เพื่อหาคำอ้างอิงการละประธานในภาษาไทย และพบว่าโครงสร้างตามลำดับขั้นภายในสัมพันธสารไม่มีผลกับการอ้างอิงประธานในขณะที่โครงสร้างตามลำดับขั้นในระดับประโยค (hierarchical structure) มีความสัมพันธ์กับการอ้างอิงประธานในภาษาไทย
          งานวิจัยนี้ศึกษาลักษณะการละประธานในระดับประโยค โดยใช้ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ โดยมีเป้าหมายในหาหลักเกณฑ์เพื่อค้นหาคำอ้างอิงให้แก่ประธานที่ละไว้ภายในประโยคเดียวกัน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนไทยเป็นภาษาต่างประเทศและการแปลภาษาคอมพิวเตอร์

                    ผลการศึกษาพบว่าประโยคภาษาเขียนในภาษาไทยมีการละประธานจำนวนมากทั้งในประโยคหลักและประโยคย่อย โดยคำอ้างอิงอาจปรากฏก่อนหรือหลังการละประธานได้  คำอ้างอิง 1 คำสามารถใช้ในการละประธานในประโยคย่อยได้ในความถี่ตั้งแต่ 1–6 ครั้ง งานวิจัยนี้ใช้ทฤษฎีวากยสัมพันธ์ ศัพทการกในการกำหนดเกณฑ์ในการหาคำอ้างอิงประธานที่ละไว้ และพบว่าคำอ้างอิงมักเป็นคำนามหลักที่ใกล้ที่สุดซึ่งเป็นส่วนพึ่งพาของกริยาที่สูงกว่า (regent verb) ซึ่งสอดคล้องกับงานที่เสนอไว้ใน Indrambarya (2005) และ Aroonmanakun (2000) 

 

  
คณะผู้วิจัย :
กิติมา  อินทรัมพรรย์
หน่วยงาน :
ภาควิชาภาษาศาสตร์    คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02-579-5566-8 ต่อ 1512