การรู้สารสนเทศของนิสิตชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
       

           การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความสามารถ ด้านการรู้สารสนเทศของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โดยจำแนกตามกลุ่มสาขาวิชา ตลอดจนเพื่อเสนอรูปแบบค้าโครงเนื้อหาบทเรียนช่วยสอนทักษะการรู้สารสนเทศบนเว็บไซต์ที่เหมาะสมสำหรับนิสิตปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตระดับปริญญาตรี ระดับชั้นปีที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2550 ภาคต้น จำนวน 364 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และ F-test
                 จากการวิจัยสรุปผลได้ดังนี้
                 1. นิสิตมีความสามารถด้านการรู้สารสนเทศโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง  เมื่อพิจารณาเป็นรายมาตรฐานพบว่า  นิสิตมีความสามารถด้านความเข้าใจบริบททางสังคม กฎหมาย และเศรษฐกิจ  และความสามารถในการกำหนดชนิดและขอบเขตของสารสนเทศที่ต้องการ ในระดับมาก รองลงมา คือ  ความสามารถในการประเมินผลสารสนเทศและแหล่งที่มาอย่างมีวิจารณญาณ รวมทั้งเชื่อมโยงสารสนเทศที่ได้มากับความรู้เดิมที่มีอยู่   ความสามารถใช้สารสนเทศในการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ   และความสามารถในการเข้าถึงสารสนเทศ   อยู่ในระดับปานกลาง ตามลำดับ  
                2.  เมื่อเปรียบเทียบความสามารถด้านการ 4 กลุ่มสาขาวิชา โดยรวมพบว่า นิสิต มีความสามารถด้านการรู้สารสนเทศไม่แตกต่างกัน ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐาน แต่เมื่อเปรียบเทียบเป็นรายมาตรฐาน พบว่า นิสิตกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์เกษตร และ กลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มีความสามารถด้านการรู้สารสนเทศแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  ในมาตรฐานที่ 1  ความสามารถในการกำหนดชนิดและขอบเขตของสารสนเทศ  โดยนิสิตกลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มีความสามารถดังกล่าวสูงกว่านิสิตกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์เกษตร ส่วนคู่อื่นไม่พบความแตกต่างกัน 
               3. นำผลการศึกษามาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ปรับประยุกต์ตามมาตรฐานของ ACRL และ Big 6 Skill Model สามารถนำเสนอรูปแบบเค้าโครงบทเรียนออนไลน์เพื่อส่งเสริมทักษะการรู้สารสนเทศที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ซึ่งประกอบไปด้วยเนื้อหา 6 โมดูล  ได้แก่ โมดูล 1 ความสำคัญของการรู้สารสนเทศ เป็นการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสารสนเทศ และการรู้สารสนเทศ ลักษณะของผู้รู้สารสนเทศ และชี้ให้ผู้เรียนตระหนักถึงความสำคัญของการรู้สารสนเทศ    โมดูล 2 การวิเคราะห์ความต้องการสารสนเทศ เป็นการให้เนื้อหาเป็นแนวทางให้ผู้เรียนฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ กำหนดลักษณะหรือคุณสมบัติของสารสนเทศ รวมไปถึงการวางแผนการสืบค้นเพื่อให้ได้มาซึ่งสารสนเทศที่ตนต้องการ    โมดูล 3 การสืบค้นสารสนเทศ   เป็นการให้แนวทางในการเลือกทรัพยากรสารสนเทศ  และแหล่งสารสนเทศ  รวมทั้งการใช้เครื่องมือสืบค้นสารสนเทศ และเทคนิคการสืบค้นได้อย่างเหมาะสม    โมดูล 4 การประเมินสารสนเทศ  นำเสนอหลักเกณฑ์การประเมินความน่าเชื่อของสารสนเทศ การวิเคราะห์ และสังเคราะห์สารสนเทศที่รวบรวมมาได้     โมดูล 5 การเรียบเรียงและนำเสนอสารสนเทศ   ให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะในการสรุปเนื้อหาที่รวบรวมมาเขียนเรียบเรียงใหม่ และอ้างอิงหรือบอกแหล่งที่มาของข้อมูลได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ    โมดูล 6 จริยธรรมทางสารสนเทศ  นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับจรรยาบรรณการเข้าถึงและการใช้สารสนเทศที่จำเป็นในวงวิชาการ  และการปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์

  
คณะผู้วิจัย :
จารุณี  สุปินะเจริญ  และ นัดดาวดี  นุ่มนาค
หน่วยงาน :
ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์    คณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.  02-579-5566-8  ต่อ 1502