วิธีการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองทางการกีฬาของนักกีฬาทีมชาติไทย :
แนวทางการวิจัยเชิงคุณภาพ

       
          

          ความเชื่อมั่นในตนเองส่งผลต่อการแสดงความสามารถทางการกีฬาหลายประการ (Weinberg & Gould, 1999, pp. 287 – 289) ได้แก่ (1) ความเชื่อมั่นส่งผลให้นักกีฬาเกิดอารมณ์ ทางบวกและสร้างสภาวะผ่อนคลายภายใต้ ความกดดัน และในสภาวะนี้นักกีฬาจะมีความเชื่อมั่น ในผลของการแข่งขัน ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นไปตามที่คิดก็ตาม (2) ความเชื่อมั่นในตนเองส่งผล ให้นักกีฬาเกิดความตั้งใจและจดจ่ออยู่กับงานที่ต้องทำส่งผลให้ความกังวลใจ เรื่องอื่น ๆ ลดน้อย ลงไป (3) ความเชื่อมั่นในตนเองมีผลกระทบต่อการตั้งเป้าหมายและนำไปสู่ความสำเร็จ จะเห็น ได้ว่ายิ่งนักกีฬาที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง การตั้งเป้าหมายก็จะท้าทายสูงและในขณะที่ นักกีฬาที่มีความเชื่อมั่นในตนเองต่ำ ก็จะตั้งเป้าหมายที่ง่าย ๆ ซึ่งทำให้นักกีฬาเหล่านั้นไม่ได้แสดง ศักยภาพสูงสุดของตนเอง (4) ความเชื่อมั่นในตนเองส่งผลให้นักกีฬามีความพยายามเพิ่มขึ้นใน การฝึกซ้อมหรือการแข่งขันกีฬา (5) ความเชื่อมั่นในตนเองยังส่งผลต่อกลยุทธ์ในการเล่นกีฬา เพราะทำให้นักกีฬามีความกล้าเสี่ยง กล้าเล่นมากขึ้น และสุดท้าย (6) ความเชื่อมั่นในตนเอง มีผลต่อการรักษาโมเมนตัม (Momentum) ทางบวกในการแข่งขันกีฬา ซึ่งเป็นปัจจัยหลักต่อการ ประสบความสำเร็จหรือพ่ายแพ้ในเกมการแข่งขัน โดยความเชื่อมั่นในตนเองส่งผลให้นักกีฬามี ความอดทนต่อปัญหา อุปสรรคและมีความพยายามที่จะพลิกสถานการณ์ที่เสียเปรียบให้กลับมา ได้เปรียบ ไม่เหน็ดเหนื่อยกับสถานการณ์ที่ตื่นเต้น สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี (พิชิต เมืองนาโพธิ์, 2534, หน้า 38) จึงเห็นได้ว่าลักษณะต่าง ๆ ที่เกิดจากความเชื่อมั่นในตนเองคือความ คาดหวังสูงสุดต่อการประสบความสำเร็จในการกีฬา เช่นเดียวกับงานวิจัยภาพรวมของความ เชื่อมั่นในตนเองและการกำหนดทิศทางต่อการแข่งขันของวีลีย์ (Vealey,1986, pp. 221-246 ) พบว่าความเชื่อมั่นในตนเองเป็นจุดสำคัญที่มีผลต่อการแสดงความสามารถทางการกีฬา โดย ระดับของความเชื่อมั่น ในตนเองเป็นบ่งชี้ความสามารถที่จะประสบความสำเร็จในการกีฬาได้

                                                                    นอกจากนั้นแบนดูร่า (Bandura, 1986, p. 35) ยังกล่าวว่าความเชื่อมั่นในตนเอง- เฉพาะอย่างมีอิทธิพลต่อ (1) การเลือกกระทำพฤติกรรม (Choice Behavior) คือการที่บุคคลจะ เลือกทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมขึ้นอยู่กับการรับรู้ความสามารถของตนเองว่ามีความ สามารถที่จะทำกิจกรรมนั้นได้หรือไม่เพียงใด (2) มีผลต่อการใช้ความพยายาม (Persistence) และความมุมานะในการทำงาน (Effort Expenditure) บุคคลที่มีความเชื่อมั่นเฉพาะอย่างสูง จะส่งผลให้ดำรงอยู่ในกิจกรรมนั้นได้นานเมื่อพบอุปสรรคหรือประสบการณ์ที่ไม่พอใจ (3) รูปแบบ ความคิด (Thought Patterns) และปฏิกิริยาทางอารมณ์ (Emotional Reaction)
กล่าวคือบุคคลที่มีความเชื่อมั่นเฉพาะอย่างสูงจะเป็นคนที่มีความพยายามกระทำพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการ กระทำนั้น ถึงแม้บางครั้งจะประสบความล้มเหลวเขาก็จะไม่ท้อถอย และไม่อ้างว่าเป็นเรื่องของ โชคชะตา ส่วนปฏิกิริยาทางอารมณ์คือความสามารถที่จะจัดการกับสภาพแวดล้อมในภายหน้าซึ่ง ส่งผลต่อการตอบสนองทางอารมณ์ โดยบุคคลที่มีความเชื่อมั่นในตนเองเฉพาะอย่างสูงจะมีความ ภูมิใจเมื่อตนเองและแสดงความสามารถได้ดี ไม่รู้สึกอับอายเมื่อผิดพลาด มีความสุขที่ได้ใช้ พยายามและไม่เสียใจ เมื่อผลไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ พร้อมทั้งกระตุ้นตัวเองให้ใช้ความพยายามมากขึ้นเมื่อพบอุปสรรค

         ด้วยความสำคัญของความเชื่อมั่นในตนเองทางการกีฬาดังกล่าว นักกีฬาจิตวิทยา การกีฬาจึงได้พยายามศึกษาวิธีการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้กับนักกีฬา ตัวอย่างเช่น

          ไวน์เบิร์ก  และกูลด์ (Weinberg and Gould. 1999 : 299-302) กล่าวว่า ความเชื่อมั่นในตนเอง สามารถสร้างได้จากการประสบความสำเร็จ (Performance Accomplishments) การแสดง พฤติกรรมอย่างมั่นใจ (Acting Confidently)  การคิดอย่างมั่นใจ (Thinking Confidently) การจินตภาพ (Imagery) การเสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย (Physical Conditioning) และการ เตรียมตัว (Preparation) นอกจากนี้วิธีการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง ยังขึ้นอยู่กับโครงสร้างทาง สังคมและวัฒนธรรม (Vealey, 1986) ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาวิธีการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองทางการ กีฬาของนักกีฬาทีมชาติไทย และเพื่อให้เป็นแนวทางในการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง ของนักกีฬาไทย อันจะส่งผลให้นักกีฬาสามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ในการแข่งขันโดยผู้วิจัยได้เลือกใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงตามสถานการณ์ ทางการกีฬามากที่สุด


วิธีการวิจัย

แนวคำถามในการสัมภาษณ์และการสังเกต

          แนวทางคำถามเป็นคำถามเกี่ยวกับวิธีการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง ทั้งในขณะ ฝึกซ้อมและขณะแข่งขัน โดยได้มีการบันทึกเสียงตลอดการสัมภาษณ์ ส่วนการเก็บข้อมูลโดยการ สังเกต ผู้วิจัยได้สอบถามตารางเวลาในการ ฝึกซ้อมและการแข่งขัน และทำการสังเกตอย่างน้อย 2 ครั้ง ได้แก่ ในช่วงการฝึกซ้อมและการแข่งขัน ในขณะเก็บข้อมูลด้วยสังเกต ผู้วิจัยมีบทบาทเสมือน เป็นผู้ชม โดยมีจุดมุ่งหมายในการสังเกต ได้แก่ สภาพแวดล้อมของสนามฝึกซ้อม พฤติกรรมของ นักกีฬา ความสัมพันธ์ระหว่างนักกีฬากับทีม วัฒนธรรมของทีมรวมทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักกีฬา หรือผู้ปกครอง


การวิเคราะห์ข้อมูล

         ผู้วิจัยใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบวิธีการเปรียบเทียบความคงที่ (Constant Comparison) (Glaser &Strauss. 1967 cited in สาลี่ สุภาภรณ์. 2550. หน้า 176-178) โดยเริ่มจากนำเทปที่บันทึก การสัมภาษณ์ ไปถอดเทปแบบคำต่อคำ (Verbatim) และสรุปข้อมูลที่ได้จากการสังเกต หลังจาก นั้นได้ทำการกำหนดรหัส ห้กับข้อมูลแบบบรรทัดต่อบรรทัด (Line by Line) เพื่อเป็นการกำหนด ความหมายและจัดแบ่งข้อมูลออกเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ แล้วสร้างเป็นข้อสรุปเบื้องต้น โดยการนำ ข้อมูล มาจัดเข้าหัวข้อที่เหมาะสมและอธิบายหัวข้อ ส่วนข้อมูลที่ได้จาการสังเกตนั้นใช้เป็นข้อมูล สนับสนุน ข้อมูลที่ได้จาการสัมภาษณ์ ตัวอย่างเช่นนักกีฬากล่าวว่าการทำทรงผมเป็นพิเศษจะส่งผล ต่อความเชื่อมั่นในตนเอง ผู้วิจัยจะดูข้อมูลจากการสังเกตว่าในวันแข่งขันนักกีฬา มีการทำทรงผม ที่แตกต่างจากทุก ๆ วันหรือไม่ เป็นต้นหลังจากนั้นนำกลับไปให้กลุ่มตัวอย่าง ตรวจสอบความ ถูกต้องของข้อมูลและให้เพิ่มเติม หลังจากนั้นนำข้อสรุปไปตรวจ สอบอีกครั้งกับนักกีฬาที่มี คุณลักษณะเดียวกัน แล้วจึงนำเสนอผลการวิจัยในรูปแบบความเรียง

การตรวจสอบความเชื่อถือได้ของข้อมูล

        ในการตรวจสอบความเชื่อถือได้ของข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ใช้ 3 วิธีการ ได้แก่ 1) การ ตรวจสอบแบบสามเส้า (Triangulation) โดยการเก็บข้อมูล 2 วิธีการ คือ การสัมภาษณ์และ การสังเกต และ เก็บข้อมูลจากหลายชนิดกีฬา 2) ตรวจสอบกับกลุ่มตัวอย่าง (Member Checks) โดยการข้อสรุปที่ได้กลับ ไปให้กลุ่มตัวอย่างตรวจสอบความถูกต้อง และ 3) ตรวจสอบโดยเพื่อน นักวิจัย (Peer Debriefing) โดยการ ปรึกษาคณะผู้ร่วมวิจัยทั้งการกำหนดรหัส การสร้างข้อสรุปและ รูปแบบการนำเสนอ

ข้อมูลพื้นฐานกลุ่มตัวอย่าง

         
กลุ่มตัวอย่างของการวิจัยเชิงคุณภาพครั้งนี้เป็นนักกีฬาทีมชาติไทย ที่มีประสบการณ์ การแข่งขัน และการฝึกซ้อมมากกว่า 5 ปี จำนวน 20 คน เป็นนักกีฬาชาย 11 คน นักกีฬาหญิง 9 คน  โดยมีอายุระหว่าง 18 – 48 ปี มีประสบการณ์ในแข่งขันระหว่าง 5-17 ปี จาก 8 ชนิดกีฬา ได้แก่ เซปัคตะกร้อ เทควันโด เทเบิลเทนนิส บาสเกตบอล ฟันดาบสากล เทนนิส ฟุตบอลและยิงเป้าบิน โดยกลุ่มตัวอย่างได้มาจากการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง เนื่องจากหลักการของการวิจัยคุณภาพ นั้นไม่ได้มีการกำหนดจำนวนกลุ่มตัวอย่างไว้ ตั้งแต่ต้น แต่ใช้วิธีการกำหนดคุณลักษณะกลุ่มตัวอย่าง ไว้เบื้องต้น ซึ่งผู้วิจัยจะดำเนินการเก็บข้อมูลจนกระทั้งข้อมูลอิ่มตัว (หมายถึง ไม่มีข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมถึงแม้จะมีการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างใหม่) จึงได้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักกีฬาดังที่กล่าว

ผลการวิจัย

         จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่านักกีฬาทีมชาติไทย มีวิธีการสร้างความเชื่อมั่นใน ตนเองทางการกีฬาที่หลากหลาย โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้แบ่ง การนำเสนอวิธีการต่าง ๆ ในการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองออกเป็น 3 ช่วงสถานการณ์ ได้แก่ ในช่วงการฝึกซ้อม ช่วงก่อนการแข่งขัน และขณะที่ความเชื่อมั่นในตนเองลดลง

1. วิธีการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้เพิ่มขึ้นในขณะซ้อม คือการที่นักกีฬามีพัฒนาการ ในช่วงการซ้อม รวมทั้งการได้ซ้อมอย่างเต็มที่ การได้แก้ไขข้อผิดพลาดทีละอย่างและการได้แก้ไข ข้อผิดพลาดที่ผู้ฝึกสอนแนะนำ ซึ่งวิธีการต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นการให้นักกีฬาเชื่อว่าตนเองมีความ สามารถเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้นักกีฬามีความเชื่อมั่นในตนเองเพิ่มมากขึ้น

2. วิธีการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองก่อนการแข่งขัน ในสถานการณ์การแข่งขัน องค์ประกอบต่าง ๆ มีเพิ่มขึ้นจากการซ้อม เช่น ความคาดหวังในผลการแข่งขัน ผู้ชม กรรมการ หรือสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างออกไป ฉะนั้นนักกีฬาจึงต้องมีวิธีการที่ทำให้ตนเองรักษาความเชื่อมั่น ในตนเองไว้ ซึ่งวิธีการต่าง ๆ เหล่านั้น ได้แก่ การสร้างความสบายใจก่อนแข่ง เช่น จากการสวดมนต์ ไหว้พระและแผ่เมตตา พยายามทำกิจวัตรประจำวันให้เหมือน ๆ กันเพื่อป้องกัน ไม่ตนเองวอกแวก และทำตามหน้าที่ของตนเอง เพราะจะได้ไม่ต้องคิดมาก ทำตามที่ตนเองได้ซ้อมมา การหาคนอื่น คุยด้วย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะบุคลิกภาพของนักกีฬาแต่ละคนด้วย และนอกจากนั้นนักกีฬาก็ได้ นำเทคนิคทางจิตวิทยาการกีฬามาสร้างความเชื่อมั่นในตนเองก่อนการแข่งขัน โดยจะเน้นไปที่ การทบทวนวิธีการเล่นโดยการจินตภาพ รวมทั้งการจัดลำดับ ความคิด และการกระตุ้นตัวเอง การคิดว่าตนเองทำได้และการคิดในทางบวก เพื่อเป็นสร้างอารมณ์ ทางบวกให้กับนักกีฬานั้นเอง

3. วิธีการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองเมื่อนักกีฬาประเมินว่าตนเองมีความเชื่อมั่นใน ตนเองต่ำหรือไม่มีเลย ซึ่งจะเกิดขึ้นทั้งในขณะก่อนการแข่งขันและขณะแข่งขัน ตัวอย่างเช่น ผลการเล่นไม่เป็นไปตามที่คิด หรือเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นลดลงในขณะแข่งขัน นักกีฬาจะใช้วิธีการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองคือการได้ระบายให้กับคนอื่น ๆ ฟัง เพราะเมื่อ นักกีฬาได้พูดออกไปแล้วจะทำให้ตนเองมีกำลังใจขึ้น และนอกจากนั้นนักกีฬาได้ใช้วิธีการ ทางจิตวิทยาการกีฬาในการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งได้แก่ การควบคุมลมหายใจเพื่อลด อาการเกร็งของร่างกายและควบคุมสมาธิ การตัดความคิดโดย การปล่อยให้มันเป็นไปตามสถาการณ์ และการคิดดีกับตนเองเพื่อไม่ให้ตนเองเครียดมาก จึงส่งผลให้มีความเชื่อมั่นในตนเองเพิ่มมากขึ้น

สรุปและอภิปรายผลการวิจัย

          วิธีการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองของนักกีฬาทีมชาติไทย นักกีฬาได้ใช้วิธีการต่าง ๆ ในการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองหลากหลายวิธี ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ใน 3 สถานการณ์ ได้แก่ ขณะซ้อม ก่อนการแข่งขัน และขณะที่ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง โดยในช่วงซ้อม จะเน้นไปที่การทำให้ตนเองมีความสามารถเพิ่มมากขึ้นในตอนซ้อมซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่นักกีฬา นำมาเป็นข้อมูลในการเพิ่มความเชื่อมั่น ส่วนในช่วงก่อนการแข่งขันนักกีฬา จะเน้นที่ความสบายใจ จัดลำดับความคิด และการกระตุ้นตัวเอง โดยวิธีการที่นักกีฬาใช้จะใช้ทั้งพิธีกรรมทางศาสนา วิธีการทั่ว ๆ ในชีวิตประจำวันและ เทคนิคทางจิตวิทยาการกีฬา ส่วนในขณะที่นักกีฬาไม่มี ความเชื่อมั่นในตนเองหรือความเชื่อมั่นในตนเองลดลง นักกีฬาจะใช้ผ่อนคลาย ควบคุมและ ตัดความคิด ซึ่งวิธีการดังกล่าวสอดคล้องกับวิธีการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองของไวน์ เบริก และกูลด์ (Weinberg & Gould, 1999, pp. 299-302) แต่จะสังเกตได้ว่านักกีฬาไทยยังไม่ได้ใช้วิธีการ ทางจิตวิทยาการกีฬามากนั้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการนำจิตวิทยาการกีฬา ไปใช้ยังไม่แพร่หลาย และนักกีฬา ยังไม่เห็นความสำคัญของจิตวิทยาการกีฬา (ชมพูนุท  นำภา. 2551, หน้า 20) ดังนั้น การสร้างความเชื่อมั่นใน ตนเองทางการกีฬาจึงควรฝึกการจัดระบบความคิดให้กับนักกีฬา สร้างแหล่งที่เพิ่มความเชื่อมั่นในตนเอง และฝึกเทคนิคทางจิตวิทยาการกีฬาให้กับนักกีฬา โดยควรผสมผสานหรือบูรณาการกับวิธีที่นักกีฬาใช้อยู่แล้ว เช่น ปกติที่นักกีฬาสวดมนต์ เป็นประจำซึ่งก็คือการทำสมาธิ การใช้พูดกระตุ้นตัวเองแต่อาจ ต้องมีการปรับคำพูด ห้เป็นไป ตามที่ถูกต้อง การใช้จินตภาพที่นักกีฬามักจะใช้ก่อนการแข่งขัน ก็ควรฝึกเทคนิคที่ทำให้การ จินตภาพมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพิ่มให้นักกีฬา เป็นต้น

  

คณะผู้วิจัย :
วิมลมาศ  ประชากุล, นฤพนธ์  วงศ์จตุรภัทร และ พิชิต  เมืองนาโพธิ์
หน่วยงาน :
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 081-633 4631