แหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬาที่ส่งผลต่อความวิตกกังวล
และความเชื่อมั่นในตนเองก่อนการแข่งขัน

       

ความสำคัญของปัญหา

            ความวิตกกังวลและความเชื่อมั่นในตนเองมีส่วนสัมพันธ์กับการแสดงความสามารถทางการกีฬา และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นักกีฬาส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน (Martens, Burton, Rivkin & Simon, 1980; Morris, 2004) เพราะในสถานการณ์การแข่งขันนักกีฬาต้องเผชิญกับความกดดันจึงทำให้นักกีฬาส่วนใหญ่เกิดความวิตกกังวลได้ และความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นมีผลให้ความเชื่อมั่นในตนเองลดลง จากทฤษฎีความวิตกกังวลตามสถานการณ์แบบหลายมิติ (multidimensional state anxiety theory) (Martens, Vealey, & Burton, 1990) สามารถอธิบายลักษณะความวิตกกังวลทางจิตใจ ความวิตกกังวลทางร่างกาย และความเชื่อมั่นในตนเองได้อย่างชัดเจนโดยพบว่าเมื่อนักกีฬามีความวิตกกังวลทางจิตใจสูงความสามารถทางการกีฬาจะลดลง แต่เมื่อนักกีฬามีความวิตกกังวลทางร่างกายที่เหมาะสมไม่ต่ำหรือสูงจนเกินไปจะส่งผลให้ความสามารถทางการกีฬาสูงขึ้น และหากนักกีฬามีความเชื่อมั่นในตนเองสูงความสามารถทางการกีฬาจะสูงด้วย (Martens et al.,1990, Sewell & Edmondson, 1996) Vealey, Hayashi, Garner, & Giacobbi (1998) กล่าวว่า องค์ประกอบที่นำไปสู่การพัฒนาความเชื่อมั่นทางการกีฬามาจาก 3 ด้าน คือ ด้านความสำเร็จในงานที่กระทำ ประกอบด้วย ความเชี่ยวชาญทางทักษะกีฬา และการแสดงความสามารถ ด้านการกำกับตนเอง ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจ และการนำเสนอตนเองทางร่างกาย ด้านวัฒนธรรมของสังคม ประกอบด้วย  การสนับสนุนจากสังคม ความเป็นผู้นำของผู้ฝึกสอน การมีประสบการณ์ผ่านผู้อื่น  ความสะดวกสบายจากสภาพแวดล้อม และความพึงพอใจต่อสถานการณ์ จากข้อมูลการวิจัยที่ผ่านมาเป็นการเน้นย้ำว่าความวิตกกังวลและความเชื่อมั่นในตนเองเป็นสิ่งที่นักกีฬาทุกคนต้องประสบในการแข่งขัน และต้องสามารถควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมให้ได้เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในการแข่งขัน
            ดังนั้นเพื่อให้เกิดความกระจ่างเกี่ยวกับองค์ประกอบของแหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬา และความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬากับความวิตกกังวลและความเชื่อมั่นในตนเองก่อนการแข่งขัน จึงทำการวิจัยแบบผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพในลักษณะการศึกษาซ้ำ (Creswell, 2002, p.565) เพราะสามารถได้ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันได้ข้อมูลเชิงคุณภาพที่เป็นข้อมูลเชิงลึกที่ตรงตามสภาพที่ต้องการศึกษา

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

    1. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของแหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬาต่อความวิตกกังวลและความเชื่อมั่นในตนเองก่อนการแข่งขัน ตามความคิดเห็นของนักกีฬาไทย
    2. เพื่อตรวจสอบผลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของแหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬาต่อความวิตกกังวลและความเชื่อมั่นในตนเองก่อนการแข่งขัน จากปรากฏการณ์เชิงประสบการณ์ของนักกีฬาไทย
    3. เพื่อเสนอรูปแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของแหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬาต่อความวิตกกังวลและความเชื่อมั่นในตนเองก่อนการแข่งขัน ตามคุณลักษณะที่เป็นจริงของนักกีฬาไทย

    วิธีการวิจัย

                กลุ่มตัวอย่าง คือ นักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 35 อายุระหว่าง 18 - 24 ปี มีประสบการณ์ในการเข้าร่วมแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่าง 1 - 4  ปี ประกอบด้วย ฟุตบอล วอลเล่ย์บอล บาสเกตบอล ตะกร้อ และเปตอง รวมทั้งสิ้น 415 คน เป็นชาย 317 คน หญิง 98 คน การวิจัยเชิงปริมาณใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน โดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งจากการเก็บข้อมูลจนกระทั่งข้อมูลอิ่มตัว ประกอบด้วย กลุ่มตัวอย่างจำนวน 7 คน และการตรวจสอบความถูกต้องของข้อสรุปจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนนักกีฬาทุกประเภทจำนวน 8 ค

                เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณประกอบด้วย แบบสอบถามความวิตกกังวลตามสถานการณ์ ฉบับปรับปรุง (Revised Competitive State Anxiety Inventory Thai version: CSAI–2TR) แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ด้านความวิตกกังวลทางร่างกาย ด้านความวิตกกังวลทางจิตใจ และด้านความเชื่อมั่นในตนเอง และแบบสอบถามแหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬา (Source of Sport Confidence: SSCQ Thai version: SSCQ-T) แบ่งเป็น 3 ด้าน จำนวน 9 องค์ประกอบ คือ ด้านความสำเร็จในงานที่กระทำ ประกอบด้วย ความเชี่ยวชาญทางทักษะกีฬา และการแสดงความสามารถ ด้านการกำกับตนเอง ประกอบด้วย การเตรียมพร้อมด้านร่างกาย และจิตใจ และการนำเสนอตนเองทางร่างกาย และด้านวัฒนธรรมสังคม  ประกอบด้วย การสนับสนุนจากสังคม ความเป็นผู้นำของผู้ฝึกสอน การมีประสบการณ์ผ่านผู้อื่น ความสะดวกสบายจากสภาพแวดล้อม และความพึงพอใจต่อสถานการณ์ การพัฒนาแบบสอบถามแหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬาเป็นฉบับภาษาไทยใช้วิธีการแปลกลับ และหาคุณภาพของเครื่องมือด้านความเที่ยงของแบบสอบถามด้วยการหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาช ได้ค่าความเที่ยงของแบบสอบถามทั้งฉบับเท่ากับ 0.98

                เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ คือ แบบบันทึกข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก ด้วยแนวการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง ในการสัมภาษณ์ขออนุญาตบันทึกเทป      

                วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การเก็บข้อมูลเชิงปริมาณให้นักกีฬาตอบแบบสอบถามแหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬา และแบบสอบถามความวิตกกังวลตามสถานการณ์ ฉบับปรับปรุง ตามลำดับ ในช่วงก่อนการแข่งขันนัดแรก 1 วัน และให้นักกีฬาคนเดิมซึ่งได้จัดทำรหัสข้อมูลไว้ตอบแบบสอบถามความวิตกกังวลตามสถานการณ์ ฉบับปรับปรุง อีกครั้งในช่วงก่อนการแข่งขันนัดแรก 2 ชั่วโมง ส่วนการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกจนกระทั่งข้อมูลอิ่มตัว จากนั้นนำแบบตรวจสอบความถูกต้องของข้อสรุปที่ได้จากสัมภาษณ์เชิงลึกไปให้นักกีฬาที่เป็นตัวแทนนักกีฬาทุกประเภท ทำการตอบคำถามในแต่ละประเด็นอีกครั้ง

                การวิเคราะห์ข้อมูล แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ประกอบด้วย การวิเคราะห์สถิติพื้นฐาน การวิเคราะห์ความเที่ยง เชิงสอดคล้องภายใน การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน และการวิเคราะห์โมเดลความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง ด้วยโปรแกรมลิสเรล รุ่น 8.53 (Jöreskog & Sörbom, 2002) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย การจัดเตรียมข้อมูล การจำแนกแยกแยะข้อมูล และการจัดกระทำข้อมูล และสรุปเป็นข้อค้นพบ และการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการผสมผสานระหว่างข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย การตรวจสอบความสอดคล้องและความไม่สอดคล้องของเนื้อหา และนำมาสรุปร่วมกัน

    ผลการวิเคราะห์ข้อมูล

                ตอนที่ 1 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ประกอบด้วย
                ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันพบว่า แหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬา ประกอบด้วย 3 ด้าน จำนวน 8 องค์ประกอบ คือ ด้านความสำเร็จในงานที่กระทำ ประกอบด้วย การเตรียมพร้อมด้านร่างกาย จิตใจ และทักษะกีฬา การแสดงความสามารถ ด้านการกำกับตนเอง ประกอบด้วย การนำเสนอตนเองทางร่างกาย และด้านวัฒนธรรมของสังคม ประกอบด้วย การสนับสนุนจากสังคม ความเป็นผู้นำของผู้ฝึกสอน การมีประสบการณ์ผ่านผู้อื่น ความสะดวกสบายจากสภาพแวดล้อม และความพึงพอใจต่อสถานการณ์
                ผลการตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงสอดคล้องภายในของแบบสอบถามแหล่งความเชื่อมั่นทาง การกีฬา และแบบสอบถามความวิตกกังวลตามสถานการณ์ ฉบับปรับปรุง ก่อนการแข่งขัน 1 วัน และ 2 ชั่วโมง พบว่ามีค่าความเที่ยงตรงเชิงสอดคล้องภายในทั้งฉบับเท่ากับ 0.91, 0.65 และ 0.62 ตามลำดับ และแต่ละองค์ประกอบอยู่ระหว่าง 0.79 - 091, 0.71 – 0.80 และ 0.81 – 0.86 ตามลำดับ
                ผลการวิเคราะห์โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของแหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬาต่อความวิตกกังวลและความเชื่อมั่นในตนเอง ก่อนการแข่งขัน 1 วัน และ 2 ชั่วโมง พบว่าโมเดลสมมติฐานสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์อยู่ในเกณฑ์พอใช้  ค่าความเที่ยงในการวัดตัวแปรสังเกตได้แต่ละตัวค่อนข้างสูง และค่าสัมประสิทธิ์การพยากรณ์ของตัวแปรตามคือความวิตกกังวลทางร่างกาย ความวิตกกังวลทางจิตใจ และความเชื่อมั่นในตนเอง มีค่าเท่ากับ 0.13 0.26 0.49 และ 0.13 0.41 0.14 ตามลำดับ

                ตอนที่ 2 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ พบว่า
                แหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬาของนักกีฬาระดับอุดมศึกษาไทยมาจาก 3 ด้าน จำนวน 11 องค์ประกอบ โดยสอดคล้องกับการศึกษาของ Vealey et al. (1998) จำนวน 9 องค์ประกอบ ส่วนองค์ประกอบเกี่ยวกับการบาดเจ็บของตนเอง และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน เป็นแหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬาที่นักกีฬาระดับอุดมศึกษาไทยให้ความสำคัญร่วมด้วยโดยจัดอยู่ในด้านการกำกับตนเองและด้านวัฒนธรรมของสังคม ตามลำดับ นอกจากนั้นยังพบว่าแหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬามีความสัมพันธ์กับความเชื่อมั่นในตนเองในทิศทางเดียวกัน และความเชื่อมั่นในตนเองมีความสัมพันธ์กับความวิตกกังวลทางร่างกายและความวิตกกังวลทางจิตใจในทิศทางตรงข้ามกัน อีกทั้งความวิตกกังวลทางจิตใจยังมีอิทธิพลต่อความวิตกกังวลทางร่างกาย

                ตอนที่ 3 ผลการตรวจสอบความสอดคล้องระหว่างข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพ พบว่า
                แหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬา ประกอบด้วย 3 ด้าน จำนวน 10 องค์ประกอบ คือ ด้านความสำเร็จในงานที่กระทำ ประกอบด้วย การเตรียมพร้อมด้านร่างกาย จิตใจ และทักษะกีฬา และการแสดงความสามารถ ด้านการกำกับตนเอง ประกอบด้วย การนำเสนอตนเองทางร่างกาย และการบาดเจ็บของตนเอง ด้านวัฒนธรรมของสังคม ประกอบด้วย การสนับสนุนจากสังคม ความเป็นผู้นำของผู้ฝึกสอน การมีประสบการณ์ผ่านผู้อื่น ความสะดวกสบายจากสภาพแวดล้อม ความพึงพอใจต่อสถานการณ์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน  และผลการศึกษาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของแหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬาที่ส่งผลต่อความวิตกกังวลและความเชื่อมั่นในตนเองก่อนการแข่งขัน 1 วัน พบว่าแหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬาด้านความสำเร็จในงานที่กระทำ ด้านการกำกับตนเอง และด้านวัฒนธรรมของสังคม ส่งผลโดยตรงต่อความวิตกกังวลทางจิตใจและความเชื่อมั่นในตนเอง และความวิตกกังวลทางร่างกายที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความวิตกกังวลทางจิตใจ ส่วนก่อนการแข่งขัน 2 ชั่วโมง แหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬาด้านความสำเร็จในงานที่กระทำ และด้านการกำกับตนเองส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นในตนเอง ความเชื่อมั่นในตนเองส่งผลโดยตรงต่อความวิตกกังวลทางจิตใจ และความวิตกกังวลทางจิตใจส่งผลโดยตรงต่อความวิตกกังวลทางร่างกาย นอกจากนั้นแหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬาด้านความสำเร็จในงานที่กระทำและการกำกับตนเองส่งผลโดยอ้อมต่อความวิตกกังวลทางจิตใจผ่านความเชื่อมั่นในตนเอง
                                    โดยสรุปการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าแหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬาในบริบทของนักกีฬาระดับอุดมศึกษาไทยมีความแตกต่างจากแหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬาของ Vealey et al. (1998) นอกจากนี้รูปแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของแหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬา ด้านความสำเร็จในงานที่กระทำ            ด้านการกำกับตนเอง และด้านวัฒนธรรมของสังคม มีอิทธิพลต่อความวิตกกังวลทางจิตใจและความเชื่อมั่นในตนเองช่วงก่อนการแข่งขัน 1 วัน สำหรับช่วงก่อน การแข่งขัน 2 ชั่วโมง แหล่งความเชื่อมั่นทางการกีฬาด้านความสำเร็จในงานที่กระทำและด้านการกำกับตนเองมีอิทธิพลทางตรงต่อความเชื่อมั่นในตนเองและส่งผ่านไปยังความวิตกกังวลทางจิตใจ


  
คณะผู้วิจัย :
สุพัชรินทร์  ปานอุทัย1 และ นฤพนธ์  วงศ์จตุรภัทร2
หน่วยงาน :
1คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 034 – 355 - 258
2คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา โทร. 038 – 102 -222