ผลของกิจกรรมการออกกำลังกายที่มีต่อสภาวะของร่างกาย จิตใจ สมรรถภาพทางกายที่สัมพันธ์กับสุขภาพ ของบุคลากร และนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

       
          

             คณะผู้วิจัยได้จัดกิจกรรมออกกำลังกาย ให้แก่บุคลากรและนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขต กำแพงแสน เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อศึกษาว่าการออกกำลังกายที่หลากหลาย ในระดับความหนักปานกลางจะ สามารถช่วยให้บุคลากรและนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีสุขภาพจิตและสมรรถภาพทางกายดีขึ้น และมีอัตราเสี่ยงต่อโรคต่างๆน้อยลงหรือไม่  โดยผู้เข้าร่วมโครงการฯจำนวน 100 คน จะต้องออกกำลังกายอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งกิจกรรมที่จัดให้ประกอบไปด้วย 1) การออกกำลังกายเพื่อพัฒนาหัวใจให้แข็งแรง เช่น เต้นแอโรบอกซิ่ง วิ่ง เดิน ปั่นจักรยาน 2) การออกกำลังกายเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อให้แข็งแรง เช่น ยกน้ำหนัก  และ 3) การออกกำลังกายเพื่อพัฒนาความยืดหยุ่นของร่างกาย เช่น โยคะ เป็นต้น ผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยวิธี Multivariate Analysis of Variance และ One Way ANOVA with Repeated Measure (SPSS 10.0 for Windows)

             ผลจากการวิจัยแสดงให้เห็นว่า กิจกรรมการออกกำลังกายที่จัดให้ ช่วยให้ผู้เข้าร่วมวิจัยมีความเครียดลดลง (ตารางที่ 1)  และมีแนวโน้มที่จะมีความสุขมากขึ้น รวมทั้งสมรรถภาพทางกายก็ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยที่หัวใจแข็งแรงขึ้น มีความจุปอดมากขึ้น และกล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นดีขึ้น สำหรับผลของการออกกำลังกายที่มีต่อการลดอัตราเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆนั้น พบว่าการออกกำลังกายส่งผลให้ระดับ Triglyceride ในกระแสเลือดลดลง จึงช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน และยังช่วยลดความดันโลหิต (ความดัน Diastolic ลดลงจาก 79 mmHg เป็น 74 mmHg) แต่การออกกำลังกายเพียง 3 เดือนนี้ ไม่เพียงพอ ที่จะช่วยลดระดับ Low Density Lipoprotein Cholesterol (LDL-C) ได้อย่างชัดเจน ซึ่ง LDL-C เป็นคลอเลสเตอรอลที่มักไปอุดตันที่หลอดเลือด การที่ระดับ LDL-C ไม่ลดลงอย่างชัดเจน อาจเนื่องมาจากผู้เข้าร่วมวิจัย สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ซึ่งเป็นพฤติกรรมปกติของประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ต้องการควบคุมอาหาร ดังนั้นพฤติกรรมการออกกำลังกายแบบนี้ ในระยะเวลาเพียง 3 เดือน จึงไม่เพียงพอในการลดระดับ LDL-C ในผู้ที่ไม่ควบคุมการรับประทานอาหารได้

ตารางที่ 1 ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของตัวแปรทางสุขภาพร่างกายและจิตใจ

ตัวแปรศึกษา

ก่อนเข้าร่วมโครงการฯ

หลังเข้าร่วมโครงการฯ 3 เดือน

ระดับความเครียด (คะแนน)

15.96 + 6.23

13.84 + 6.23*

ระดับความสุข (คะแนน)

33.08 + 5.37

33.75  + 4.78

Triglyceride

87.67 + 48.43

67.50 + 34.55*

LDL-C (mg/dl)

123.23 + 27.04

118.61 + 24.97

* มีความแตกต่างระหว่างก่อนเข้าร่วมและหลังเข้าร่วมโครงการฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05

             

             คณะผู้วิจัยขอขอบคุณ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ให้งบประมาณสนับสนุนการวิจัยนี้

  
คณะผู้วิจัย :
สิริพร ศศิมณฑลกุล และคณะ
หน่วยงาน :
สาขาวิชาชีวกลศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02-9428675