ความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าในผู้ที่มีอุ้งเท้าแบนและอุ้งเท้าปกติ

       
          แผ่นพังผืดฝ่าเท้าอักเสบ (plantar fasciitis) เป็นสภาวะที่มีการอักเสบของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าที่อยู่บริเวณอุ้งเท้า (Riddle et al., 2003) ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในนักวิ่ง โดยจะพบประมาณ 25 เปอร์เซนต์ของการบาดเจ็บที่เท้าของนักวิ่ง (Karl et al., 2006) อาการสำคัญคือ การปวดอุ้งเท้าในตอนเช้าเมื่อรับน้ำหนักตัวครั้งแรกๆ อาการปวดจะทุเลาลงเมื่อได้ขยับเท้าเดินสักครู่หนึ่ง และจะปวดใหม่หากเดินมากหรือภายหลังการนั่งพักนานๆ (Aldridge et al., 2004)
          ผู้ที่มีอุ้งเท้าแบนมักจะเกิดการอักเสบของแผ่นพังผืดฝ่าเท้า (Huang et al., 2004) นอกจากนี้ Huang และคณะ (2004) ได้รายงานว่าความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าขึ้นอยู่กับลักษณะของอุ้งเท้า โดยผู้ที่มีเท้าแบนจะมีความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้ามากกว่าผู้ที่มีอุ้งเท้าปกติ แต่งานวิจัยของ Huang และคณะ (2004) ได้ศึกษาในผู้ที่มีอุ้งเท้าแบนที่มีอาการอักเสบของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าร่วมกับผู้ที่ไม่มีการอักเสบ ซึ่งอาจส่งผลให้พบว่ากลุ่มผู้ที่มีอุ้งเท้าแบนมีความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้ามากกว่ากลุ่มที่มีอุ้งเท้าปกติ เนื่องจากการอักเสบส่งผลให้แผ่นพังผืดฝ่าเท้าหนาขึ้นกว่าปกติ ดังนั้นผู้วิจัยจึงต้องการเปรียบเทียบความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าในคนเท้าปกติกับเท้าแบน โดยตัดปัจจัยร่วมคือ การอักเสบของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าออก โดยมีสมมติฐานคือ ความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าในเท้าปกติไม่แตกต่างกับความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าในเท้าแบน

อุปกรณ์และวิธีการ

           กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นนักวิ่งหญิงที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันในระดับเยาวชนหรือระดับมหาวิทยาลัย อายุระหว่าง 15-25 ปี จำนวน 20 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 10 คน คือ กลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะอุ้งเท้าปกติ และกลุ่มตัวอย่างที่ถูกวินิจฉัยว่าอุ้งเท้าแบนทั้ง 2 ข้างจากการตรวจอุ้งเท้าแบบ Navicular height โดยที่ไม่มีการอักเสบของแผ่นพังผืดฝ่าเท้า กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดจะถูกนำมาประเมินความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง โดยให้กลุ่มตัวอย่างนอนคว่ำบนเตียงและเท้าพ้นขอบเตียง จากนั้นจึงนำหัวตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง วางบนส้นเท้าในลักษณะตั้งฉากกับแผ่นพังผืดฝ่าเท้า (รูปที่ 1) แล้วทำการบันทึกภาพคลื่นเสียงความถี่สูง (sagittal sonography image) และวัดความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้า(รูปที่ 2) ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกาะต้น 1.5 เซนติเมตร (Alshami, 2007) ซึ่งทำการวัดกับเท้าทั้งสองข้าง จากนั้นนำผลที่ได้ไปวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยการทดสอบแบบวัดซ้ำ (repeated measure) และวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทาง (Two-way Analysis of Variance; ANOVA) โดยกำหนดความมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

รูปที่ 1  แสดงการวัดความหนาของ
แผ่นพังผืดฝ่าเท้าด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

รูปที่ 2  แสดงภาพคลื่นเสียงความถี่สูง
ของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าด้านข้างโดยตำแหน่ง
ของปลายลูกศร คือขอบของแผ่นพังผืดฝ่าเท้า

ผลการทดลอง

            เมื่อประเมินความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าในผู้ที่มีอุ้งเท้าแบนพบว่า ค่าเฉลี่ยของความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าในเท้าข้างที่เคยมีอาการแผ่นพังผืดฝ่าเท้าอักเสบมีค่าเท่ากับ 2.90 ± 0.39 มิลลิเมตร ส่วนความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าในเท้าข้างที่ไม่เคยมีอาการแผ่นพังผืดฝ่าเท้าอักเสบมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.98 ± 0.41มิลลิเมตร ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
           เนื่องจากเท้าข้างที่เคยอักเสบและไม่เคยอักเสบของกลุ่มตัวอย่างอุ้งเท้าแบนประกอบไปด้วยเท้าซ้ายและเท้าขวา แต่ความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าของเท้าที่เคยมีอาการอักเสบและไม่เคยมีอาการอักเสบไม่แตกต่างกัน จึงได้นำความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าของผู้ที่มีอุ้งเท้าแบนมาทำการเปรียบเทียบความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าของผู้ที่มีอุ้งเท้าปกติ โดยความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าในกลุ่มอุ้งเท้าแบนและกลุ่มอุ้งเท้าปกติมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.93 ± 0.39 มิลลิเมตร และ 2.84 ± 0.50 มิลลิเมตร ตามลำดับ ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

วิจารณ์

           จากการวิจัยครั้งนี้เป็นการเปรียบเทียบความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าในผู้ที่มีอุ้งเท้าปกติและผู้ที่มีอุ้งเท้าแบน พบว่าความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าในกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน ดังนั้น ลักษณะของอุ้งเท้าจึงไม่ใช่ปัจจัยที่มีผลต่อความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้า ซึ่งผลของการวิจัยครั้งนี้ขัดแย้งกับ Huang และคณะ (2004) ที่พบว่า ผู้ที่มีเท้าแบนจะมีความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้ามากกว่าผู้ที่มีอุ้งเท้าปกติ เนื่องจากงานวิจัยของ Huang และคณะ (2004) ได้ศึกษาในผู้ที่มีอุ้งเท้าแบนที่มีอาการอักเสบของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าร่วมกับผู้ที่ไม่มีการอักเสบ ซึ่งการอักเสบเป็นปัจจัยร่วมที่ส่งผลให้ผู้ที่มีอุ้งเท้าแบนมีความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้ามากกว่ากลุ่มที่มีอุ้งเท้าปกติ ดังที่ Cardinal et al. (1996) และ Gibbon and Long (1999) ได้รายงานว่าการอักเสบทำให้แผ่นพังผืดฝ่าเท้าหนาขึ้น แต่ในงานวิจัยครั้งนี้ได้ตัดปัจจัยร่วมคือ การอักเสบของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าออก โดยผู้ที่มีอุ้งเท้าแบนที่เคยมีอาการแผ่นพังผืดฝ่าเท้าอักเสบเพียงข้างเดียวได้รับการตรวจประเมินความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าในระยะที่ไม่มีการอักเสบ และไม่มีอาการปวดบริเวณฝ่าเท้าในระยะเวลา 6 เดือนก่อนการทดลอง ดังนั้น จึงน่าเชื่อถือได้ว่าความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้าในกลุ่มอุ้งเท้าปกติและกลุ่มอุ้งเท้าแบนไม่แตกต่างกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าลักษณะของอุ้งเท้าไม่ใช่ปัจจัยที่มีผลต่อความหนาของแผ่นพังผืดฝ่าเท้า

  

คณะผู้วิจัย :
ไพลิน  เผือกประคอง1,  สิริพร  ศศิมณฑลกุล1, พิมใจ  ศิริวงศ์ไพรัช 2 และ วราพัฒน์  วิระยะวานิช 2
หน่วยงาน :
1คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา  วิทยาเขตกำแพงแสน  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  จ.นครปฐม 73140
2ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์  โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร 10400
โทร. 029-428-675