จากอดีตที่ผ่านมา ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับความผันผวนของลมฟ้าอากาศ ตลอดจนความผันแปรของน้ำ รวมทั้งข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเกิดอุทกภัย ภัยธรรมชาติ และการจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง ต่างถูกแยกกันดำเนินการด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ และข้อมูลที่รวบรวมได้กระจัดกระจายและยังไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัยในการติดตามความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางอุตุอุทกวิทยาอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศหรือระดับกว้าง อีกทั้งไม่ต่อเนื่องเชื่อมโยงให้ทราบถึงปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้เกิดความผันผวนเหล่านั้น
ในปี พ.ศ. 2538 ได้เกิดความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในแถบร้อนของเอเชีย ภายใต้ชื่อโครงการ “การศึกษาวิจัยภูมิอากาศในเขตมรสุมแถบร้อนของเอเชีย (GAME-T)” ซึ่งเป็นโครงการย่อยของการศึกษาวิจัยวัฏจักรของพลังงานและน้ำของโลก (GEWEX- Global Energy and Water Cycle Experiment) ทำให้ประเทศไทยได้รับข้อมูลและประสบการณ์จากโครงการวิจัยร่วมดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งมีฐานข้อมูลครอบคลุมทั้งด้านสมดุลของพลังงานและสมดุลของน้ำในหลายพื้นที่และในหลายลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน และในปีงบประมาณ 2545 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กลุ่มนักวิจัยทำการศึกษาวิจัยภายใต้โครงการ “การพัฒนาแบบจำลองเพื่อบริหารและบูรณาการการจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดยใช้ข้อมูลจากโครงการวิจัย GAME-T” หรือชื่อย่อว่า GAME-C ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่นักวิจัยไทยและนักวิจัยจากญี่ปุ่นได้ร่วมมือกันในการประยุกต์ใช้ฐานข้อมูลที่ได้รวบรวมมาจนถึงปัจจุบันในการสร้างแบบจำลองลักษณะของอุตุอุทกวิทยาของลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างบูรณาการ เพื่อประโยชน์ในการพยากรณ์ความผันแปรของลมฟ้าอากาศ ปริมาณน้ำฝน และน้ำท่า ในแต่ละปี และส่งผลสืบต่อไปยังการวางแผนและพัฒนาระบบช่วยตัดสินใจ (Decision support system) ในการจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กันอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไปในอนาคต
ในขณะที่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการในการแปลงยุทธศาสตร์หรือนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงได้ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่ายุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้รับการตอบสนองจากภาคประชาชนและชุมชนท้องถิ่นเท่าที่ควร
การจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำเพื่อให้ได้ผลผลิตของน้ำ (Water yield) ตามความต้องการอย่างอเนกประสงค์ ขณะเดียวกันก็ต้องการให้มีการใช้ที่ดินที่เหมาะสมหรือเป็นไปตามความต้องการของทั้งภาครัฐและภาคประชาชน จึงต้องอาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้าช่วยในการบูรณาการการจัดการทรัพยากรเพื่อให้ได้ตามเป้าประสงค์ ก็ยากที่จะหาค่าออกมาในเชิงปริมาณที่จะตอบคำถามเชิงรูปธรรมของวัตถุประสงค์ด้านต่างๆ ได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ ได้พัฒนามาถึงระดับที่จะช่วยบูรณาการความต้องการของผู้กำหนดมโนทัศน์ในการจัดการได้ จึงได้มีการพัฒนาระบบช่วยสนับสนุนการตัดสินใจที่มีทางเลือกหลายลักษณะได้ ดังที่เรียกกันว่า Decision Support System (DSS) ซึ่งปัจจุบันได้มีการประยุกต์ DSS เข้ามาช่วยในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเชิงบูรณาการกันมากขึ้น แผนงานการวิจัยนี้มีความต้องการที่จะประยุกต์แบบจำลองต่างๆ
2. วัตถุประสงค์ของโครงการ
2.1 เพื่อบูรณาการและเสริมสร้างศักยภาพของนักวิจัยจากหลาย ๆ สาขา หน่วยงานต่าง ๆ ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยั่งยืนโดยมิติการมีส่วนร่วมของชุมชน และกรอบชุมชนเป็นฐาน
2.2 เพื่อให้แบบจำลองการบริหารจัดการทรัพยากรในลุ่มน้ำที่พัฒนาแล้วโดยใช้ข้อมูลจากโครงการวิจัย GAME-T สามารถประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรมทั้งระบบลุ่มน้ำเจ้าพระยา
2.3 เพื่อเป็นการขยายผลผลิตจากการพัฒนาแบบจำลองเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบเตือนภัยที่พัฒนาขึ้น ไปสู่การใช้ประโยชน์ที่มีประสิทธิภาพทั้งในระดับหน่วยงานภาครัฐและระดับชุมชน
2.4 เพื่อจัดทำระบบช่วยตัดสินใจและระบบฐานข้อมูลสำหรับการจัดการแบบบูรณาการโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
3. ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย
3.1 ประชาชนมีความพร้อมและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละชุมชน
3.2 ได้แผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลัน แผ่นดินถล่มภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อันนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในลุ่มน้ำ
3.3 ได้ระบบเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันและแผ่นดินถล่มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ประชาชนเป็นผู้จัดการเฝ้าระวังและดูแล ด้วยชุมชนเอง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในลุ่มน้ำอื่น ๆ ได้อย่างเหมาะสม
3.4 ได้ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรและแบบจำลองเพื่อสนับสนุนระบบช่วยตัดสินใจเพื่อการจัดการทรัพยากรที่สามารถใช้ได้ทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาและในทุกกลุ่มผู้ใช้งาน
3.5 มีเครือข่ายชุมชนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีระบบและแบบแผน ในการเชื่อมโยงเครือข่ายแบบพหุภาคีที่มีส่วนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3.6 ได้นักวิจัยรุ่นใหม่ระดับปริญญาโท และปริญญาเอก
4. ระยะเวลา และสถานที่ทำการวิจัย
ระยะเวลา : กำหนดให้เริ่มดำเนินโครงการวิจัย ตั้งแต่ วันที่ 28 กันยายน 2548 -30 พฤศจิกายน 2551
สถานที่ : พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน คือ ปิง วัง ยม และน่าน สำหรับโครงการนี้ได้ดำเนินการศึกษา ในพื้นที่ลุ่มน้ำตัวอย่างคือ ลุ่มน้ำแม่วาง ลุ่มน้ำสอย ลุ่มน้ำแม่มอก และลุ่มน้ำกอน ที่เป็นตัวแทนลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ตามลำดับ ดังภาพที่ 1 เนื่องจากเป็นลุ่มน้ำที่มีปัญหาภัยพิบัติจากน้ำท่วม ภัยแล้ง และดินถล่มเป็นประจำ ดังภาพที่ 1
ภาพที่ 1 ตำแหน่งที่ตั้งและขอบเขตลุ่มน้ำที่ศึกษาทั้ง 4 ลุ่มน้ำ
5. องค์ประกอบของโครงการวิจัย
เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยนี้จึงได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานออกเป็น 3 โครงการวิจัยย่อย ได้แก่
โครงการวิจัยที่ 1 การจัดทำกรอบแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบ
บูรณาการเพื่อการจัดการทรัพยากรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างยั่งยืน
โครงการวิจัยที่ 2 โครงการจัดทำทรัพยากรข้อมูล GAME-T/GAME-C ตามมาตรฐานสากลเพื่อประยุกต์ใช้งานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
โครงการวิจัยที่ 3 โครงการบูรณาการระบบช่วยตัดสินใจ (DSS) และพัฒนาแบบจำลองในโครงการวิจัย GAME-T และระบบเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันและแผ่นดินถล่มไปสู่ชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดยกระบวนการมีส่วนร่วมและการให้บริการเพื่อสาธารณะ
6. ผลลัพธ์และตัวชี้วัดของโครงการ
6.1 ประชาชนมีความรู้และมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละชุมชน
6.2 ได้แผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลัน แผ่นดินถล่ม ภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อันนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในลุ่มน้ำ
6.3 ได้ระบบเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันและแผ่นดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัยที่ประชาชนเป็นผู้จัดการเฝ้าระวังและดูแลด้วยชุมชนเอง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในลุ่มน้ำอื่น ๆ ได้อย่างเหมาะสม
6.4 ได้ระบบช่วยตัดสินใจอันจะนำไปสู่การพัฒนาแบบจำลองเพื่อการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำที่สามารถใช้ได้ทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาและในทุกกลุ่มผู้ใช้งาน
6.5 มีระบบเครือข่ายชุมชนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีระบบและแบบแผน ในการเชื่อมโยงเครือข่ายแบบพหุภาคีที่มีส่วนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6.6 นักวิจัยรุ่นใหม่ ระดับปริญญาโท 6 คน และปริญญาเอก 1 คน
|