โครงการบูรณาการระบบช่วยตัดสินใจ (DSS) และพัฒนาแบบจำลองในโครงการวิจัย GAME-T
และระบบเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลัน แผ่นดินถล่มและภัยแล้งไปสู่ชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
โดยกระบวนการมีส่วนร่วมและการให้บริการเพื่อสาธารณะ
       

                จากเหตุการณ์พิบัติภัยในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศไทยโดยเฉพาะน้ำท่วม-ดินถล่ม สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ล่าสุดเหตุภัยพิบัติน้ำท่วม-ดินถล่มในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์  สุโขทัย และแพร่ ถือว่ามีความรุนแรงมาก สาเหตุหลักมาจากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ต้นน้ำมากเกินที่ศักยภาพของพื้นที่จะรอรับได้  ประกอบกับในปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ ไปเป็นรูปแบบอื่น ๆ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น

                ในระยะเวลาที่ผ่านมานั้นสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านการป้องกัน และเตือนภัยน้ำท่วม-ดินถล่มทุกรูปแบบ ทั้งนี้ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลและพัฒนาการสร้างแบบจำลองมากมายเพื่อการบริหารและจัดการทรัพยากรโดยเฉพาะด้านภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม น้ำแล้งและดินถล่มจากโครงการวิจัยสมดุลของพลังงาน และน้ำในเขตลมมรสุมของทวีปเอเชีย และในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบกับนักวิจัยกลุ่มนี้ได้เริ่มมีการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาระบบเตือนภัยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันผลการศึกษาวิจัยความก้าวหน้าไปสู่ระดับที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานจริงในระดับประเทศได้

                ปัจจุบันข้อมูลที่ได้รวบรวมไว้นั้น ยังมิได้มีการจัดทำให้เป็นหมวดหมู่ และจัดเก็บอยู่ในระบบฐานข้อมูล การใช้ประโยชน์ข้อมูลจึงอยู่ในขอบเขตที่จำกัด หากระบบฐานข้อมูลถูกพัฒนาขึ้น จะสนับสนุนให้การสร้างแบบจำลองที่ได้จากโครงการวิจัยสมดุลของพลังงานและน้ำในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาสามารถนำมาใช้ในด้านการเตือนภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง และดินถล่มอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานโครงการวิจัยมีประสิทธิภาพและสามารถขยายผลไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง โดยอาศัยข้อมูลและผลลัพธ์ของการสร้างแบบจำลองอันเป็นผลผลิตที่ได้จากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา กลุ่มผู้ศึกษาวิจัยจึงมีแนวทางในการขยายผลองค์ความรู้ดังกล่าวมาสู่ชุมชน โดยมุ่งเน้นให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารจัดการด้วยองค์ความรู้และภูมิปัญญาของท้องถิ่นเองให้มากยิ่งขึ้น

                ในรอบปีงบประมาณที่ผ่านมา (ปีที่ 1 และปีที่ 2)โครงการวิจัยนี้ได้ดำเนินการในส่วนของโครงการย่อยที่รับผิดชอบไปแล้วในระดับหนึ่งที่เตรียมพร้อมรองรับ ผลการศึกษาที่เป็นผลลัพธ์ (Output) จากโครงการย่อยอื่น ๆ เข้ามาสู่ระบบการตัดสินใจที่ได้ดำเนินการตลอดมาเพื่อทำให้เกิดปฏิสัมพัทธ์ระหว่างผู้ใช้งาน (ผู้บริหาร นักวิชาการ และสาธารณะชน) กับระบบ ซึ่งยังจะต้องมีการพัฒนาให้ระบบทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ  จึงจำเป็นต้องดำเนินการต่อไปในปีที่ 3 ซึ่งโครงการวิจัยย่อยที่ 3 ได้กำหนดวัตถุประสงค์หลักในปีที่ 3 ไว้ดังนี้ :-

                1. เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ ข้อมูล และแบบจำลองที่ได้จากโครงการวิจัย GAME-T และ GAME-C และที่จะพัฒนาเพิ่มเติมมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ลุ่มนำเจ้าพระยา
                2. เพื่อนำข้อมูล และจัดทำระบบฐานข้อมูลจากโครงการย่อยที่ 1 และ 2 มาประมวลเป็นแนวทางบริหารจัดการทรัพยากร
                3. เพื่อพัฒนาระบบสนับสนุนในการตัดสินใจในการบริหารและจัดการทรัพยากรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดยอาศัยฐานขององค์ความรู้ที่ได้จากโครงการย่อยดังกล่าว
                4. เพื่อพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการเตือนภัยน้ำท่วม ดินถล่ม และภัยแล้ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
                5. เพื่อนำระบบสนับสนุนการตัดสินใจที่พัฒนานี้ถ่ายทอดสู่การบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นระบบ

                ผลลัพธ์จากการดำเนินงานของโครงการบูรณาการระบบช่วยตัดสินใจ (DSS) และพัฒนาแบบจำลองในโครงการวิจัย GAME-T และระบบเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลัน แผ่นดินถล่ม และภัยแล้งไปสู่ชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดยกระบวนการมีส่วนร่วมและการให้บริการเพื่อสาธารณะ ในปีที่ 3 (งบประมาณปี 2550) สามารถสรุปผลการศึกษาดังต่อไปนี้

                (1) ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูล และฐานความรู้เพื่อทำการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งประกอบไปด้วย ฐานข้อมูลชีวกายภาพ ฐานความรู้ทางเศรษฐกิจ-สังคมวัฒนธรรม และทุนการพัฒนาชุมชน ฐานข้อมูลแผนที่และสารสนเทศภูมิศาสตร์ และ ฐานข้อมูลเพื่อการเตือนภัยแบบ Real-Time แต่ละชุดฐานข้อมูลจะถูกจัดเก็บในลักษณะโครงสร้างที่แตกต่างกันตามความต้องการข้อมูลของผู้ใช้หรือแบบจำลอง ลักษณะการนำข้อมูลไปใช้งาน เพื่อใช้ในการศึกษาแบบจำลอง และองค์ความรู้ต่าง ๆ สำหรับให้นักวิจัยและประชาชนผู้สนใจได้เข้าถึงผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

                (2) การศึกษาแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน (CLUE-s) ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่วาง น้ำกอน แม่สอย และแม่มอกซึ่งเป็นลุ่มน้ำตัวแทน ซึ่งให้ผลลัพธ์ออกมาตามภาพเหตุการณ์ที่ผู้วิจัยกำหนดได้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแนวทางและมาตรการการใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้ ซึ่งสามารถนำผลลัพธ์ที่ได้มาใช้ร่วมกับ แบบจำลองเพื่อการคาดการณ์การชะล้างพังทลายของดิน (LISEM) ซึ่งจะให้การคาดการณ์การชะล้างพังทลายของดินที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยกำหนดเงื่อนไขในลักษณะต่าง ๆ รวมทั้งแบบจำลองLISEM สามารถให้ผลลัพธ์ที่ช่วยในการตัดสินใจเลือกชนิดพืชที่ทำการเพาะปลูกได้อีกด้วย ในการที่จะวางแผนในการเพาะปลูกของชุมชนนั้นต้องอาศัยปัจจัยในเรื่องของน้ำฝนเป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นการเกษตรนอกเขตชลประทานดังนั้นจึงมีการศึกษา

                (4) แบบจำลองในการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนล่วงหน้าโดยอาศัยดัชนีอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก (SST) ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนเพื่อหลีกเลี่ยงจากปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นได้ โดยพบว่าดัชนีอุณหภูมิผิวน้ำทะเล (SST) สามารถใช้ในการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ลุ่มน้ำได้เป็นอย่างดี และสามารถคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนรายเดือนล่วงหน้า 3 เดือนได้ แต่เนื่องจากขาดข้อมูลปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีการตรวจวัดอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 20 ปีย้อนหลังจึงใช้สถานีตรวจวัดในบริเวณใกล้เคียงทำให้ปริมาณน้ำฝนที่คาดการณ์จึงมีความถูกต้องลดลง

                (5) การศึกษาทุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยทุน 5 ด้านได้แก่ ทุนทรัพยากรธรรมชาติ ทุนมลพิษสิ่งแวดล้อม ทุนเศรษฐกิจ ทุนสังคมและโครงสร้างพื้นฐาน และทุนการบริหารจัดการ พบว่าทุกลุ่มน้ำศึกษามีทุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอยู่ในระดับปานกลางขึ้นไป โดยมีทุนทางเศรษฐกิจที่มีระดับที่ต่ำ นอกจากการพัฒนาทางด้านแบบจำลอง และระบบช่วยตัดสินใจอีกด้วย ซึ่งในขณะนี้ชุมชนในลุ่มน้ำตัวแทนทั้ง 4 ข้างต้นหรือผู้สนใจสามารถเข้าไปประเมินทุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเพื่อทราบสถานภาพของลุ่มน้ำของตนได้ในเว็บไซด์ของโครงการคือ http://www.gamet-c.com

                (6) พัฒนาระบบเตือนภัยน้ำท่วม-ดินถล่มโดยโครงการได้ทำการติดตั้งนำร่องที่ลุ่มน้ำแม่วาง 4 สถานี ลุ่มน้ำกอน ลุ่มน้ำแม่มอกและแม่สอยลุ่มน้ำละ 2 สถานี โดยแต่ละสถานีติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดระดับน้ำอัตโนมัติ เครื่องวัดน้ำฝนอัตโนมัติ และเครื่องวัดความชื้นในดิน รวมทั้งสัญญาณไฟและเสียงเตือนภัยซึ่งสามารถรับส่งข้อมูลระยะไกลมายังเครื่องแม่ข่ายส่วนกลางที่ศูนย์วิจัยป่าไม้แบบเวลาจริงเพื่อให้เป็นประโยชน์กับชุมชนในการติดตามสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น และบรรเทาความเสียหายได้ทันท่วงทีด้วยการเตือนภัยล่วงหน้า โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแล รักษา และร่วมกันเรียนรู้ถึงการทำงานของสถานีเตือนภัย และการเฝ้าระวังสถานการณ์โดยชุมชนเองด้วย

                (7) อบรม และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านแบบจำลองและระบบช่วยตัดสินใจเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำอย่างยืน รวมทั้งอบรมความรู้เกี่ยวกับระบบเตือนภัยน้ำท่วม-ดินถล่มล่วงหน้าให้กับชุมชนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการให้กับตัวแทนภาคประชาชนซึ่งอาศัยในพื้นที่ลุ่มน้ำศึกษา และคณะทำงานวางแผนหลักที่เป็นตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ลุ่มน้ำละ 2 ครั้ง ซึ่งจากการประชุมเชิงปฏิบัติการตัวแทนที่เข้าร่วมในการประชุมโดยเฉพาะตัวแทนภาคประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมในแต่ละครั้งเป็นจำนวนมากและยังเสนอแนะให้คณะนักวิจัยเข้าไปถ่ายทอด และอบรมความรู้ให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ชุมชนสามารถนำไปใช้ได้ด้วยตนเองต่อไป

                (8) เผยแพร่ข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยมีการติดตั้งเครื่องแม่ข่าย (Server) และจัดตั้งเว็บไซต์ของโครงการ http://www.gamet-c.com  ซึ่งประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยใช้งานระบบ และผลลัพธ์จากแบบจำลองผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และระบบเตือนภัยที่สามารถทราบระดับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ได้ รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ ข่าวสารและผลงานวิจัยของโครงการทั้งหมดสู่สาธารณะเพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดกับชุมชนในลุ่มน้ำตัวแทนด้วย

  
คณะผู้วิจัย :
 นิพนธ์  ตั้งธรรม, ปิยพงษ์ ทองดีนอก, วิสุทธิพันธ์ มหาอาชา, วีนัส  ต่วนเครือ และ ณัฐพล  ชัยยวรรณาการ
หน่วยงาน :
ภาควิชาอนุรักษ์วิทยา คณะวนศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์