การจัดทำกรอบแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ
เพื่อการจัดการทรัพยากรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างยั่งยืน
Integrated Natural Resources and Environment Management Planning for Sustainable Resources Management
in The Chao Phraya River Basin
       

           การจัดการทรัพยากร ในปัจจุบันได้นิยมยึดขอบเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเป็นกลักพร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านนิเวศวิทยา ประกอบกับองค์ความรู้ด้านสังคมและชุมชน ซึ่งต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมอย่างเป็นกระบวนการ เพื่อให้เกิดกลไกในการแก้ปัญหาทรัพยากรในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ชุมชนส่วนใหญ่ขาดโอกาส และความพร้อมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ขาดทักษะในการจัดการ และขาดแคลนเทคโนโลยี ดังจะเห็นได้จากความเสื่อมโทรมและการหมดไปของทรัพยากร การสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินในเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลัน ดินถล่มบ่อยครั้ง และรุนแรงมากขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศไทยเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องของชุมชน และภาครัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจนเกิดผลกระทบต่อชุมชน และความมั้นคงของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

           วัตถุประสงค์การวิจัยครั้งนี้ เพื่อจัดทำกรอบแผนการจัดการทรัพยากร และเสริมสร้างกลไกของกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรแบบพหุภาคีในพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยกำหนดพื้นที่ลุ่มน้ำในการดำเนินงาน 4 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ ลุ่มน้ำกอน เป็นตัวแทนของลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำแม่วาง เป็นตัวแทนของลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำแม่มอก เป็นตัวแทนของลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำแม่สอย เป็นตัวแทนของลุ่มน้ำวัง ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) และการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามจากคณะทำงานวางแผนหลักและประชาชนในพื้นที่ในการจัดทำฐานข้อมูลนวัตกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของโครงการวิจัย ซึ่งสามารถกำหนดเป็นกรอบแนวคิด ดังภาพที่ 1

           ซึ่งในกระบวนการประชุมเชิงปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วมประกอบด้วย การกำหนดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ลุ่มน้ำ ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นตัวแทนหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น ภาคประชาชน เพื่อจัดตั้งเป็นคณะทำงานวางแผนหลัก (Core Planning Team: CPT) และคณะผู้แทนภาคประชาชน (People Participation: PPXจากนั้นได้มีการสำรวจสภาพแวดล้อมชุมชน และการประเมินปัญหาและความต้องการของชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำ แล้วจึงดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการคณะทำงานวางแผนหลัก และคณะผู้แทนภาคประชาชนในขั้นตอนแรกเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อนำไปสู่กระบวนวิเคราะห์ประเด็นปัญหาและโอกาส ในการจัดทำแผนงานเพื่อการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมตลอดจนแนวทางนำแผนไปสู่การปฏิบัติ ผลจากการประชุมเชิงปฎิบัติการพบว่าชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ลุ่มน้ำมีความต้องการในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยปัญหาที่มีความสำคัญ ได้แก่ ความเสื่อมโทรมของป่าไม้ การชะล้างพังทลายของดิน ไฟป่า น้ำท่วมฉับพลัน ปัญหากรรมสิทธิในที่ดินทำกิน เป็นต้น ซึ่งการจัดตั้งคณะทำงานวางแผนหลัก จะมีบทบาทอย่างมากต่อการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ลุ่มน้ำ ได้มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหา และกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการลดข้อขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรควบคู่ไปด้วย อย่างไรก็ตาม ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังคงต้องการรับการสนับสนุนความร่วมมือ และองค์ความรู้ต่างๆ จากหน่วยงานราชการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความพร้อมและมีศักยภาพในการจัดการทรัพยากรได้มากยิ่งขึ้น

           ในส่วนของการนำผลการศึกษาไปสู่การปฎิบัติให้ผลอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฉบับปัจจุบัน และตามกรอบแผนการจัดการแบบผสมผสานที่ได้กำหนดขึ้นนั้น จึงต้องกำหนดรูปแบบกลไกการทำงานระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสมาชิกในชุมชน ซึ่งต้องกำหนดหน้าที่บทบาทของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน ตลอดจนแนวทางในการประสานการงานในพื้นที่ลุ่มน้ำต่อไปในอนาคต อันจะทำให้ภาคีทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตามการตัดสินใจของชุมชนในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำ ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง จึงได้มีการพัฒนาระบบช่วยสนับสนุนการตัดสินใจที่มีทางเลือกหลายลักษณะเรียกว่า Decision Support System (DSS) ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ได้นำมาใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงบูรณาการในพื้นที่ลุ่มน้ำ ร่วมกับกรรมวิธีวิจัยเชิงปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) โดยทำการประยุกต์เทคนิคด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) นำมาบูรณาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้ได้ทั้งรูปแบบการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรชาติ การใช้ประโยชน์ที่ดิน ทรัพยากรกายภาพ ชีวภาพ ที่เหมาะสมตามสภาพของภูมิประเทศ นิเวศวิทยา เศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการยอมรับของชุมชนในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนต่อไป

* เป็นข้อเสนอแนะ เพื่อให้การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมุ่งสู่ความสำเร็จ
ภาพที่ 1 กรอบแนวคิดของการวิจัย

                ผลลัพธ์จากการดำเนินงานของการจัดทำกรอบแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ เพื่อการจัดการทรัพยากรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างยั่งยืนสามารถสรุปผลการศึกษาได้ดังต่อไปนี้

                1.  ชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำมีระบบฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการจัดการทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ ฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ในรูปแบบแผนที่ได้ แก่ ภาพถ่ายทางอากาศของแต่ละหมู่บ้าน แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน แผนที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ และฐานข้อมูลด้านเศรษฐกิจสังคมของชุมชน เพื่อนำมาบูรณาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้ได้ทั้งรูปแบบการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรชาติ การใช้ประโยชน์ที่ดิน ทรัพยากรกายภาพ ชีวภาพ ที่เหมาะสมตามสภาพของภูมิประเทศ นิเวศวิทยา เศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในพื้น
                2.  กรอบแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการจัดทำอย่างเป็นขั้นตอนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำ
                3.  ฐานข้อมูลนวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต และการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำทั้ง 4 แห่ง
                4.  รูปแบบ แนวทาง วิธีการปฎิบัติ โดยมีลำดับขั้นตอน  สำหรับกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำ และการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากร  ที่สามารถใช้เป็นต้นแบบ  (Model)  ในการดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม
                5.  ชุมชนมีความพร้อม ความรู้ความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และสอดคล้องกับสถานภาพทรัพยากรของพื้นที่ลุ่มน้ำในปัจจุบัน
                6.  คณะทำงานหรือคณะกรรมการในระดับพื้นที่ลุ่มน้ำ (คณะทำงานวางแผนหลัก และคณะผู้แทนภาคประชาชนเดิมที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายอำเภอในพื้นที่ลุ่มน้ำ) เพื่อประสานความร่วมมือในการทำงานกับประชาชนในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องในอนาคต

  
คณะผู้วิจัย :
มนู  โอมะคุปต์1, กิติชัย  รัตนะ2 และ กิติพจน์  เพิ่มพูล3      
หน่วยงาน :
1ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์                                
2ภาควิชาอนุรักษวิทยา คณะวนศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
3โครงการจัดตั้งวิทยาเขตลพบุรี  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

นิสิตช่วยงาน
1)  นางสาวอารยา  สวาทพงษ์   สาขาการจัดการลุ่มน้ำและสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2)  นายธนวรรธน์  ยุทธชัย   สาขาการจัดการลุ่มน้ำและสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์