กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก กาแฟที่มีจำหน่ายมีหลายรูปแบบไม่ว่า จะเป็นกาแฟทั้งเมล็ด กาแฟคั่วบด กาแฟผงสำเร็จรูป และกาแฟสำเร็จรูปบรรจุกระป๋อง ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามสารที่ออกฤทธิ์ที่สำคัญที่พบในกาแฟแทบทุกชนิด คือ คาเฟอีน (Caffeine)
คาเฟอีนมีฤทธิ์ต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจ กระตุ้นระบบฮอร์โมน กระตุ้นระบบของไตในการขับปัสสาวะ และมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System: CNS) เป็นต้น นอกจากนี้คาเฟอีนยังทำให้นักกีฬาออกกำลังกายได้นานขึ้น (Sawynok, 1995; Daniels et al., 1998) ในระยะเริ่มแรกคาเฟอีนถูกจัดรวมอยู่ในสารต้องห้าม (banned substances) กลุ่ม Stimulants ประเภท A (IOC : International Olympic Committee) และนับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency, WADA) ได้เพิกถอนคาเฟอีนออกจากรายการสารต้องห้ามที่ไม่อนุญาตให้ใช้ (The 2004 Prohibited List) ในการแข่งขันกีฬารายการต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการโอลิมปิคสากล ทั้งนี้องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกยังคงติดตามการใช้สารคาเฟอีนในนักกีฬาโดยกำหนดให้อยู่ในรายการสารที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง (The monitoring program) มาจนถึงปัจจุบัน (World Anti-Doping Agency, 2004, 2005, 2006, 2007)
จากเหตุผลดังกล่าวผู้วิจัยได้เห็นถึงความสำคัญของคาเฟอีนและมีความสนใจที่จะศึกษาถึงผลของคาเฟอีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีอยู่ในกาแฟที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลายว่ามีผลต่อเวลาปฏิกิริยาอย่างง่าย เวลาปฏิกิริยาในการออกตัวและความเร็วของนักวิ่งระยะสั้นอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางต่อผู้ฝึกสอน นักกีฬา และผู้ที่เกี่ยวข้องนำผลการศึกษาไปพิจารณาประยุกต์ใช้คาเฟอีนในนักกีฬาตามความเหมาะสมต่อไป อีกทั้งเป็นการเพิ่มเติมข้อมูลเพื่อประกอบ การพิจารณาในการใช้สารที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังนี้ ในอันที่จะส่งผลเพิ่มสมรรถภาพของนักกีฬาและเป็นแนวทางในการศึกษาในโอกาสต่อไป
วิธีการ
กลุ่มตัวอย่างเป็นนักวิ่ง 100 เมตร ในนามทีมชาติไทย อายุ 17-19 ปี เพศชาย จำนวน 6 คน ทำการทดลองแบบ Double-blind crossover design โดยกลุ่มตัวอย่างได้รับเครื่องดื่ม 4 ชนิด ได้แก่ 1) สารละลาย Sucralose (S) 2) เครื่องดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีน 0.4167 mg/kg BW (D) 3) เครื่องดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีน 3.5 mg/kg BW (M) และ 4) เครื่องดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีน 7 mg/kg BW (C) การทดลองแต่ละครั้งห่างกันไม่น้อยกว่า 3 วัน ทำการทดสอบเวลาปฏิกิริยาอย่างง่ายในช่วงนาทีที่ 0 ก่อนดื่มและหลังดื่มนาทีที่ 25, 50, 75, 100 และ 125 ตามลำดับ ในนาทีที่ 60 ทำการทดสอบเวลาปฏิกิริยาการออกตัวและความเร็วในการวิ่ง 100 เมตรโดยบันทึกเวลาเมื่อกลุ่มตัวอย่างวิ่งผ่านระยะทาง 15, 30, 60 และ100 เมตร
ขั้นตอนการทดสอบ
ผลการทดลอง
จากรูปที่ 1 จะสังเกตเห็นว่าในเกือบทุกช่วงเวลาหลังได้รับเครื่องดื่มชนิด C โดยทำการฝึกซ้อมตามปกติประจำวัน มีผลทำให้เวลาปฏิกิริยาอย่างง่ายมีแนวโน้มเร็วกว่าการได้รับเครื่องดื่ม S, D และ M ซึ่งปริมาณการตอบสนองของร่างกายต่อปริมาณคาเฟอีนที่ได้รับที่แตกต่างกันออกไปนี้ จะเป็นไปในลักษณะที่เป็นความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกัน (dose-response relationship) กล่าวคือหากได้รับคาเฟอีนในปริมาณที่มากจะทำให้เวลาปฏิกิริยาอย่างง่ายเร็วขึ้นมากกว่าเมื่อได้รับคาเฟอีนในปริมาณที่ต่ำกว่า ซึ่งแสดงถึงช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่คาเฟอีนถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อในการกระตุ้นให้เวลาปฏิกิริยาอย่างง่ายเร็วขึ้นกว่าภาวะที่ไม่ได้รับคาเฟอีน
ภายหลังได้รับเครื่องดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนปริมาณต่างๆกัน เป็นเวลา 60 นาที เวลาปฏิกิริยาการออกตัวมีแนวโน้มเร็วกว่าได้รับสารละลาย Sucrelose (S) เล็กน้อย (ดังแสดงในรูปที่ 2) โดยไม่พบความมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งผลที่พบนี้ น่าจะเกิดจากฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางของคาเฟอีนเช่นเดียวกันกับที่ส่งผลต่อเวลาปฏิกิริยาอย่างง่าย
จากรูปที่ 3 แสดงให้เห็นถึงความเร็วเฉลี่ยในการวิ่งระยะทาง 100 เมตร ระยะต่าง ๆ โดยจะสังเกตได้ว่าช่วง 30-60 เมตรมีแนวโน้มว่าการได้รับเครื่องดื่ม C จะทำให้ความเร็วในช่วงระยะทางนี้เร็วที่สุด ในขณะที่การได้รับเครื่องดื่ม M และ D จะมีความเร็วลดหลั่นกันตามลำดับ โดยที่หากเป็นการวิ่งระยะทาง 100 เมตร จะไม่พบแนวโน้มความได้เปรียบใดๆ
สรุปผลการวิจัย
เมื่อกลุ่มตัวอย่างได้รับเครื่องดื่มชนิด S, D, M และ C มีผลทำให้เวลาปฏิกิริยาอย่างง่าย เวลาในการออกตัว และความเร็วในการวิ่ง 100 เมตร แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยมีแนวโน้มว่าการได้รับเครื่องดื่ม C จะส่งผลดีที่สุดในทุกตัวแปร |