การพัฒนาคอนกรีตพรุนและคอนกรีตมวลเบาด้วยเถ้าชานอ้อยและสารตัวเติม โดยคอนกรีตมวลเบานั้นจะมีการแทนที่ทรายด้วยเถ้าชานอ้อยซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งที่ได้จากโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาล ซึ่งช่วยให้น้ำหนักลดลง ส่วนคอนกรีตพรุนจะไม่มีการแทนที่ทรายด้วยเถ้าชานอ้อย แต่จะมีการเติมสารกักกระจายฟองอากาศเช่น ผงโลหะอะลูมิเนียมลงไป เพื่อให้เกิดฟองอากาศเล็กๆ จำนวนมากภายในเนื้อคอนกรีต ซึ่งจุดประสงค์หลักของงานวิจัยนี้คือ สามารถผลิตคอนกรีตที่มีน้ำหนักเบาแต่ยังคงมีความแข็งแรงเพียงพอที่มาตรฐานยอมรับได้
วิธีการทดลองแบ่งคอนกรีตออกเป็น 2 ประเภท คือ คอนกรีตพรุน และคอนกรีตมวลเบา โดยส่วนผสมของคอนกรีตพรุน คือ ปูนซีเมนต์ ทราย และผงอะลูมิเนียม สำหรับส่วนผสมของคอนกรีตมวลเบา คือ ปูนซีเมนต์ ทราย เถ้าชานอ้อย และสารตัวเติม โดยในการเตรียมชิ้นงานนั้นจะมีการเตรียมชิ้นงานเป็น 2 แบบ คือ แบบทรงกระบอก และแบบสี่เหลี่ยมจตุรัส ซึ่งในงานวิจัยนี้มีการทดสอบสมบัติทางกล (ความต้านทานแรงอัด และความต้านทานแรงดัด) และสมบัติทางกายภาพ (การดูดซึมน้ำ) นอกจากนี้ได้มีการวิเคราะห์โครงสร้างทางจุลภาคด้วยเครื่อง SEM และวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีด้วยเครื่อง XRD
จากผลการวิจัย พบว่า การผลิตคอนกรีตพรุนสามารถผลิตได้จริงและมีความแข็งแรงตามที่ต้องการ ส่วนการผลิตคอนกรีตมวลเบานั้น ปริมาณของเถ้าชานอ้อยที่ใช้ในการแทนที่ทรายเหมาะสม คือ 50% เนื่องจากพบว่ามีการพัฒนากำลังที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับสูตรควบคุม
|