โครงการวิจัยที่ 4  การศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตซ้ำของยางขอบกระจกที่ผลิตจากวัสดุพลาสติไซด์พีวีซี

       

       พีวีซีเป็นวัสดุเทอร์โมพลาสติกที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนพลาสติก เนื่องจากมีสมบัติเชิงกล และสมบัติทางกายภาพที่ดี ในปัจจุบันขยะพีวีซีมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งก่อสร้างต่างๆ  ในประเทศสหรัฐอเมริกาและในประเทศทวีปยุโรปขยะพีวีซีถูกฝังกลบในปริมาณมากถึง 80% การกำจัดพีวีซีโดยวิธีการฝังกลบอาจก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เช่น การปนเปื้อนของสารพิษในบาดาล การนำขยะพีวีซีไปทำการเผาในเตาเผาเพื่อใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงในการให้พลังงานความร้อน จัดว่าเป็นกระบวนการจัดการของเสียอีกวิธีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การกำจัดขยะพีวีซีโดยวิธีนี้สามารถก่อให้เกิดมลพิษทางด้านสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน เนื่องจากก๊าซ HCl ที่เกิดขึ้นจากการสลายตัวของพีวีซีซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ที่สูดดมเข้าไป หากเตาเผาขยะที่ใช้ไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่มีการควบคุมที่ดี ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นโดยการเพิ่มมูลค่า เช่น การนำกลับไปแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่หรือการรีไซเคิล ซึ่งเป็นวิธีการลดปริมาณขยะที่ดีที่สุด ในมุมมองทางด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม


 

 


          งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาถึงอิทธิพลของอัตราส่วนผสมระหว่างพีวีซีที่นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycled PVC) ต่อพีวีซีดั้งเดิม  (Virgin PVC) และอิทธิพลของสารเพิ่มเสถียรภาพทางความร้อน (Heat stabilizer) ที่มีต่อสมบัติการไหล (Rheological properties) การบวมตัว (Swelling behaviors) สมบัติทางความร้อน (Thermal properties) และสมบัติเชิงกล (Mechanical properties) ในด้านต่างๆ ตลอดจนสมบัติการต้านทานต่อการเสื่อมสภาพเนื่องจากความร้อนและรังสีอัลตราไวโอเลต (Heat and ultraviolet resistances) จากผลการทดลองพบว่า เมื่ออัตราส่วนผสมระหว่างพีวีซีที่นำกลับมาใช้ใหม่ต่อพีวีซีดั้งเดิม มีค่าเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าความหนืดและการบวมตัวของพอลิเมอร์ หลอมเหลว อุณหภูมิการเปลี่ยนสถานะคล้ายแก้ว ความต้านทานแรงดึง และความแข็งของชิ้นงานทดสอบมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หากพิจารณาถึงอิทธิพลของสารเพิ่มเสถียรภาพทางความร้อนที่ผสมลงในพีวีซี พบว่า ความหนืด การบวมตัว และอุณหภูมิการเปลี่ยนสถานะคล้ายแก้ว รวมถึงสมบัติเชิงกลของพีวีซีมีแนวโน้มลดต่ำลง เมื่อผสมสารเพิ่มเสถียรภาพทางความร้อน จากผลการวิจัยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้อย่างยิ่ง ในการนำยางขอบกระจกที่ผลิตจากวัสดุพลาสติไซด์พอลิไวนิลคลอไรด์มาทำการผลิตซ้ำ

รูปที่ 4 ผลิตภัณฑ์ยางขอบกระจกพีวีซี
ที่ไม่ได้ขนาดตามความต้องการของลูกค้า


  
คณะผู้วิจัย :
สมเจตน์ พัชรพันธ์ และคณะ
หน่วยงาน :
ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์   มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02-942-8555 ต่อ 2102-2104