มองจากภายนอกอย่างไร  มองลึกลงไปภายในก็มีคำตอบ
       

          กล้องจุลทรรศน์แบบธรรมดา และกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน  เป็นอุปกรณ์ช่วยสายตาที่ช่วยให้มนุษย์มีโอกาสเดินทางไปสู่โลกใหม่ที่มีขนาดเล็ก   ค้นหาคำตอบที่แสนจะลึกลับและมหัศจรรย์   โดยได้สัมผัสด้วยสายตา และได้เห็นสภาพตามความเป็นจริงอย่างละเอียดลึกซึ้งที่สุด      กล้องจุลทรรศน์แบบธรรมดาแบบใช้แสงในการส่องตัวอย่าง  ความยาวคลื่นแสงยาวกว่าที่จะส่องเห็นรายละเอียดของตัวอย่างได้  ภาพที่ได้จึงขาดความชัดเจน    กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนใช้ลำแสงอิเล็กตรอนที่มีคลื่นสั้นมาก   ภาพที่ปรากฏเป็นภาพขาว-ดำมีรายละเอียดสูง  กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนมี 2 ชนิด  ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานว่า ต้องการศึกษาตรวจสอบรายละเอียดภายใน หรือพื้นผิวนอกของสิ่งของหรือตัวอย่าง  กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดตรวจสอบให้เห็นรายละเอียดภายในตัวอย่างนั้นใช้ลำแสงอิเล็กตรอนส่องผ่านตัวอย่างที่ต้องเตรียมตัวอย่าง และทำให้บางเป็นพิเศษ  โดยหนาประมาณ  60-90    นาโนเมตร เท่านั้น  กล้องชนิดนี้เรียกว่า กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน  (Transmission Electron Microscope : TEM)    ส่วนกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดที่ใช้ตรวจสอบศึกษารายละเอียดบนพื้นผิวตัวอย่าง เรียกว่า  กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (Scanning Electron Microscope : SEM)    การหาข้อมูลที่สมบูรณ์ได้รายละเอียดทั้งภายในและพื้นผิวภายนอกขอสิ่งที่ต้องการ  จำเป็นต้องใช้กล้องทั้งสองชนิดควบคู่กันไป
           เทคนิคทางกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนใช้ในการตรวจสอบทางการแพทย์ เช่นการศึกษาเซลล์ หรือ องค์ประกอบภายใน  ศึกษาความผิดปกติของเนื้อเยื่อ จำแนกหรือแยกชนิดเซลล์มะเร็งหรือเนื้อร้ายว่าเป็นชนิดใด   วิเคราะห์สาเหตุการเกิดโรคในคน   การพิสูจน์หลักฐานทางชีวภาพหรือการตรวจหลักฐานทางการแพทย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนิติเวช   ด้านวิชาการเกษตร  การวิเคราะห์วิจัยโรคพืชและสัตว์   การตรวจลักษณะเฉพาะจากส่วนต่าง ๆ ของพืชเพื่อยืนยันสายพันธุ์ และจำแนกสายพันธุ์  เช่น การตรวจดูเรณู  ผิวใบ  เนื้อไม้และท่อลำเลียง    ด้านอุตสาหกรรมใช้ในการตรวจสอบคุณภาพด้านวัสดุศาสตร์ เช่นประเภทของปูนซีเมนต์  เหล็ก   และการตรวจสอบเพื่อควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น แผ่นวงจรไฟฟ้า  สิ่งทอ เส้นใยสังเคราะห์  เป็นต้น    การวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น  สารผสมอาหาร  แป้งต่าง ๆ   เส้นหมี่  ขนมปัง   อาหารแปรรูปจากแป้ง  เพื่อการตรวจสอบคุณภาพและการพัฒนาผลิตภัณฑ์     ในด้านอุตสาหกรรมอาหารประเภทเส้นก๋วยเตี๋ยวหรือเส้นบะหมี่  ผู้ประกอบการจะต้องตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์   สูตรผสมที่ใช้จะให้เส้นก๋วยเตี๋ยวลักษณะใด  เช่น  ผิวเรียบ  รูพรุนน้อย แสดงว่าสูตรผสมแป้งดี   เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงสูตรแป้งให้เหมาะสมเพื่อให้ได้เส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีคุณภาพตามรสนิยมของผู้บริโภค  ในด้านอุตสาหกรรมผลิตแผ่นวงจรขนาดเล็กรวมถึงไอซี  ใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนตรวจสอบความบกพร่องของโลหะตัวนำไฟฟ้าบนผิวของแผ่นวงจรขนาดเล็ก  หรือวิเคราะห์รอยเชื่อมของโลหะเหล่านั้นมีรอยต่อสมบูรณ์หรือไม่    ซึ่งเป็นการวิเคราะห์อย่างกว้างขวางเพื่อประโยชน์ในเชิงการค้า    กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้ประกอบการเรียน  การสอน  การศึกษา  ค้นคว้าวิจัย  ในแขนงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี    เป็นกุญแจสำคัญในการค้นคว้าหาคำตอบ

เรณูของดอกบานไม่รู้โรย (SEM)
ไดอะตอม และสาหร่ายสีเขียว  (LM)

แบคทีเรีย (TEM)
เม็ดสตาร์ชของข้าวเหนียว (SEM)

 

  

คณะผู้วิจัย :
ผจงจิต  ภูจิญญาณ์,  ยุพดี  เผ่าพันธ์ , พัชรี  อำรุง และ ชัยมงคล  คงภักดี
หน่วยงาน :
งานกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน  ฝ่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์กลาง  สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02-9428740  ต่อ 101-105