การเสริมเวย์โปรตีนร่วมกับการฝึกด้วยแรงต้านที่มีต่อสัดส่วนของร่างกายและ
ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในนักกีฬาวิลแชร์เรสซิ่ง

       

         เวย์โปรตีน (whey protein) เป็นโปรตีนจากน้ำนมที่มีคุณภาพสูง ประกอบไปด้วย กรดอะมิโน (amino acid) ทั้งหมดที่ร่างกายต้องการสำหรับการสังเคราะห์โปรตีน (protein synthesis) ประสิทธิภาพของการเสริมเวย์โปรตีน (whey protein supplementation) ได้มีการตรวจสอบผลโดย Burk et al. (2001) พบว่าจะมีความสัมพันธ์กับการฝึกด้วยแรงต้าน (resistance training) การศึกษาพิสูจน์ให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างเพศชายที่ได้รับการเสริมเวย์โปรตีนร่วมกับได้รับการฝึกด้วยแรงต้านส่งผลเพิ่มมวลของร่างกายที่ปราศจากไขมัน (lean muscle mass) และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (muscle strength) เพียงเล็กน้อย แต่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางด้านสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างเพศชายที่ได้รับการฝึกด้วยแรงต้านเช่นเดียวกัน แต่ได้รับการเสริมสารหลอก
         นักกีฬาจำนวนมากเลือกที่จะใช้การเสริมโปรตีนเพื่อจะช่วยในการสร้างมวลของร่างกายที่ปราศจากไขมัน และเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ แต่ประโยชน์ของการเสริมอาหารประเภทโปรตีนในการฝึกด้วยแรงต้านยังคงมีความไม่แน่นอนหลงเหลืออยู่ (Zimmer, 2005) ข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์จำนวนเล็กน้อยเท่าที่จะหาได้พยายามหาข้อยุติของการเสริมเวย์โปรตีนร่วมกับการฝึกด้วยแรงต้านในการส่งผลเพิ่มสัดส่วนของร่างกาย และสมรรถภาพความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมถึงการศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้ของการเสริมเวย์โปรตีนมีข้อจำกัดอยู่เพียงแค่กลุ่มประชากรของนักกีฬาคนปกติ

         ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัยครั้งนี้ต้องการหาข้อยุติผลของการเสริมเวย์โปรตีนร่วมกับโปรแกรมการฝึกด้วยแรงต้านเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ที่มีต่อสัดส่วนของร่างกาย และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในนักกีฬาวิลแชร์เรสซิ่ง

วิธีดำเนินการ
กลุ่มตัวอย่าง
         กลุ่มตัวอย่างของการศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นนักกีฬาวิลแชร์เรสซิ่งที่มีสุขภาพดี ไม่มีอาการบาดเจ็บ เพศชาย ได้มาโดยการอาสาสมัครจากนักกีฬาวิลช์เรสซิ่งทีมชาติไทย กลุ่มตัวอย่างทุกรายได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นนักกรีฑาที่มีความพิการจากโรคโปลิโอในระดับ T54 และ T53 จำนวน 12 ราย

วิธีการ
         การศึกษาวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบ double-blind repeated measures ในกลุ่มตัวอย่างทุกรายช่วงการฝึกซ้อม และทำการสุ่มเพื่อจัดเข้ากลุ่ม (randomly assignments) ที่ได้รับการเสริมเวย์โปรตีนปริมาณ 1.2 กรัม/ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม+ผงน้ำตาลซูโครสปริมาณ 0.3 กรัม/ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม  (n=6) หรือสารหลอกมอนโทรเดรกตินปริมาณ 1.2 กรัม/ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม+ผงน้ำตาลซูโครสปริมาณ 0.3 กรัม/ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม  (n=6)  แบ่งการเสริมออกเป็น 3 ครั้ง ในปริมาณครั้งละเท่าๆกัน/ วัน (ทำการเสริมโดยชงดื่มร่วมกับน้ำในช่วงก่อนการฝึกซ้อม หลังการฝึกซ้อม และก่อนเข้านอน) ร่วมกับโปรแกรมการฝึกด้วยแรงต้านบริเวณส่วนบนของร่างกายในรูปแบบเดียวกัน 3 วัน/ สัปดาห์ เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์

         ก่อนที่กลุ่มตัวอย่างจะเข้ารายงานตัวที่ห้องปฏิบัติการเพื่อการวัด และการเก็บรวบรวมข้อมูล กลุ่มตัวอย่างจะต้องงดกิจกรรมทางด้านร่างกายเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง ซึ่งพบว่าการสังเคราะห์โปรตีน และกระบวนการซ่อมแซมต่างๆในส่วนของกล้ามเนื้อจะสูงเพิ่มขึ้นกว่าปกติเป็นระยะเวลา 48 ชั่วโมงภายหลังมีการออกกำลังกาย (Phillips, Hartman, & Wilkinson, 1997) การวัดตัวแปรต่างๆในช่วงก่อน และหลังการเสริมเวย์โปรตีนร่วมกับการฝึกด้วยแรงต้านเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ ประกอบด้วย ส่วนสูงของกลุ่มตัวอย่างจะทำการทดสอบโดยเครื่องวัดส่วนสูงแบบติดฝาผนัง กลุ่มตัวอย่างยืนตัวตรง ไม่แกว่งแขน และไม่ใส่รองเท้า น้ำหนักตัวของกลุ่มตัวอย่างทำการทดสอบโดยเครื่องชั่งน้ำหนักตั้งพื้นแบบดิจิตอล (Yamamoto DP-6100 GP, Japan) กลุ่มตัวอย่างทำการทดสอบน้ำหนักตัวโดยสวมกางเกงว่ายน้ำเพียงชิ้นเดียว และสัดส่วนของร่างกายทำการทดสอบภายหลังจากปัสสาวะแล้วด้วยเครื่อง bioelectrical impedance analysis (BIA) (hand-held bioelectrical impedance machine, Body-1500, UK) โดยโปรแกรมจะแสดงผลค่าไขมันของร่างกาย (body fat) มวลของร่างกายที่ปราศจากไขมัน (lean body mass) และปริมาณน้ำทั้งหมดของร่างกาย (total body water) ด้วยวิธีการทดสอบตามข้อแนะนำของ National Institutes of Health Technology Assessment Conference Statement (N.I.H., 1996) และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อทำการทดสอบน้ำหนักสูงสุดที่สามารถยกได้ 1 ครั้ง ในท่าเบนซเพรส (bench press) ซึ่งเป็นมาตรฐานของวิธีการการทดสอบตามข้อแนะนำของการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา (Burk et al., 2001)

สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
                การวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านสถิติของการศึกษาวิจับครั้งนี้ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS ในการวิเคราะห์ข้อมูล วิธีดำเนินการของการศึกษาวิจัยครั้งนี้ใช้สถิติ t-test สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลที่ไม่มีความเป็นอิสระ และข้อมูลที่มีความเป็นอิสระต่อกันของกลุ่มตัวอย่าง ข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดของการศึกษาวิจัยครั้งนี้กำหนดค่าความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางด้านสถิติที่ระดับp<0.05

ผลการศึกษา
         ผลของการศึกษาวิจัยครั้งนี้พบว่าการเสริมเวย์โปรตีน และสารหลอกร่วมกับรูปแบบการฝึกด้วยแรงต้านระยะเวลา 6 สัปดาห์ ประกอบด้วย
         1) สัดส่วนของร่างกาย ได้แก่ น้ำหนักตัวช่วงก่อนการเสริม (เวย์โปรตีน 55.88±8.29 กิโลกรัม และสารหลอก 55.45±8.22 กิโลกรัม) ช่วงหลังการเสริม (เวย์โปรตีน 55.71±8.16 กิโลกรัม และสารหลอก 55.78±8.32 กิโลกรัม) ไขมันของร่างกายช่วงก่อนการเสริม (เวย์โปรตีน 8.50±1.38 กิโลกรัม และสารหลอก 8.28±1.23 กิโลกรัม) ช่วงหลังการเสริม (เวย์โปรตีน 8.31±1.24 กิโลกรัม และสารหลอก 8.30±1.24 กิโลกรัม)  มวลของร่างกายที่ปราศจากไขมันช่วงก่อนการเสริม (เวย์โปรตีน 47.13±6.93 กิโลกรัม และสารหลอก 47.16±6.98 กิโลกรัม) ช่วงหลังการเสริม (เวย์โปรตีน 47.43±6.87 กิโลกรัม และสารหลอก 47.50±6.87 กิโลกรัม)  ปริมาณน้ำทั้งหมดของร่างกายช่วงก่อนการเสริม (เวย์โปรตีน 29.70±1.96 ลิตร และสารหลอก 29.33±2.05 ลิตร) ช่วงหลังการเสริม (เวย์โปรตีน 29.41±2.16 ลิตร และสารหลอก 29.45±2.16 ลิตร)
&         และ 2) ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อทำการทดสอบน้ำหนักสูงสุดที่สามารถยกได้ 1 ครั้ง ในท่าเบนซเพรสช่วงก่อนการเสริม (เวย์โปรตีน 84.66±3.20 กิโลกรัม และสารหลอก 84.50±4.13 กิโลกรัม) ช่วงหลังการเสริม (เวย์โปรตีน 85.16±3.65 กิโลกรัม และสารหลอก 85.00±4.69 กิโลกรัม)

         จากข้อมูลทางด้านสถิติพบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญต่อสัดส่วนของร่างกาย และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อระหว่างการเสริมเวย์โปรตีน และสารหลอกร่วมกับการฝึกด้วยแรงต้านเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ในนักกีฬาวิลแชร์เรสซิ่ง

อภิปรายผล
         ข้อมูลจากรายงานของการศึกษาวิจัยครั้งนี้ไม่สนับสนุนรายงานการศึกษาวิจัยที่พบว่าการเสริมโปรตีนร่วมกับการฝึกด้วยแรงต้านเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์จะส่งผลประโยชน์ต่อสัดส่วนของร่างกาย และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมากขึ้นกว่าการฝึกด้วยแรงต้านเพียงอย่างเดียว ผลของการศึกษาวิจัยที่ได้รับจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้มีความสอดคล้องกับรายงานการศึกษาวิจัยบางส่วนที่เสนอแนะว่ารายงานการศึกษาที่ส่งผลแตกต่างออกไปอาจเกิดเนื่องจากระยะเวลาของการฝึกด้วยแรงต้านร่วมกับการเสริมโปรตีน (Condow et al., 2006)
         จากรายงานการศึกษาของ Phillips et al. (2005) พบว่ามวลของร่างกายที่ปราศจากไขมันเพิ่มขึ้นในกลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นเพศชายที่มีสุขภาพดีภายหลังการเสริมโปตีนจากนมเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับสารหลอกร่วมการฝึกด้วยแรงต้านเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ รวมถึงมีข้อเสนอแนะว่าการฝึกด้วยแรงต้านที่มีระยะเวลามากกว่าหรือเท่ากับ 12 สัปดาห์อาจจะส่งผลให้เกิดความแตกต่างขึ้นได้ อย่างไรก็ตามยังคงมีความต้องการรายงานการศึกษาเพื่อยืนยันผลที่ได้รับในอนาคต เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องมีการควบคุมในการศึกษาวิจัย ยกตัวอย่างเช่น การรับประทานอาหารของกลุ่มตัวอย่าง หรือการได้รับพลังงานของกลุ่มตัวอย่างแต่ละราย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ผลที่มีจำเพาะเจาะจงของการเสริมสาร หรือปัจจัยด้านอื่นๆที่ไม่สามารถควบคุมได้ (Zimmer, 2005)
         บทสรุปของการศึกษาวิจัยพบว่าการเสริมเวย์โปรตีนร่วมกับการฝึกด้วยแรงต้านระยะเวลา 6 สัปดาห์ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในด้านผลประโยชน์ที่มีต่อสัดส่วนของร่างกาย และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมากไปกว่าการเสริมสารหลอกร่วมกับการฝึกด้วยแรงต้านระยะเวลา 6 สัปดาห์ในนักกีฬาวีลแชร์เรสซิ่ง

  
คณะผู้วิจัย :
จักรพงษ์ ขาวถิ่น
หน่วยงาน :
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา  วิทยาเขตกำแพงแสน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. (034) 355-258