การจัดลำดับทางสังคมของสุนัข
The hierarchy of dogs

       

          ปัจจุบัน การเลี้ยงสุนัขเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงไว้ใช้งาน  เฝ้าบ้าน  หรือเป็นเพื่อนคลายเหงา ซึ่งสุนัขเหล่านี้จะได้รับความรักความดูแลเอาใจใส่เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในครอบครัว หลายครั้งที่พบว่าสุนัขที่นำเข้ามาเลี้ยงในบ้านนั้นก่อปัญหาให้กับเจ้าของ ซึ่งพบว่าพฤติกรรมเหล่านั้นเกิดจากสัญชาตญาณที่สุนัขทุกสายพันธุ์ได้รับการถ่ายทอดกันมา คือการจัดลำดับทางสังคมโดยที่ไม่เว้นแม้แต่กับมนุษย์  สุนัขแต่ละตัวจะมีพฤติกรรมแสดงออกแตกต่างกันไป จะพบว่าสุนัขที่เป็นพวกที่มีพฤติกรรมเด่น มักจะเป็นจ่าฝูงหรือเป็นผู้นำ ทำให้สุนัขในกลุ่มนี้มีอุปนิสัยที่ข่มสุนัขตัวอื่น รักอิสระ จึงไม่ยอมให้ใครมาข่มตน เมื่อเทียบกับสุนัขที่อยู่ระดับกลางๆ  ที่ไม่มีพฤติกรรมการข่มตัวอื่น จะมีความเป็นมิตรมากกว่า

อุปกรณ์และวิธีการ

          ตัวอย่างสุนัข : เป็นสุนัขพันธุ์ทางเพศผู้จำนวน 20 ตัว และเพศเมียจำนวน 20 ตัว มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง อายุระหว่าง 1-6 ปี
          สถานที่ : โดยใช้โรงเรือนควบคุมอุณหภูมิ คอกทดสอบขนาดกว้าง 1.5 เมตร ยาว 2.5 เมตร ปิดด้านข้างด้วยตะแกรงเหล็กสูง 1.5 เมตร และปิดทับอีกชั้นด้วยผ้าสีน้ำเงินเข้มสูง 0.5 เมตรสาม กำหนดจุดทดสอบห่างจากท้ายคอก ยาว 0.5 เมตร ด้วยเส้นสีแดง

วิธีการ :
1. เตรียมสุนัขไว้ด้านในคอกทดสอบที่ปิดด้วยผ้าทั้ง 3 ด้าน
2. ผู้ทดสอบเดินเข้าไปในกรง ประจำที่จุดทดสอบ
3. ผู้ทดสอบทำการทดสอบสุนัขด้วยวิธี VOLHARD PUPPY APTITUDE TEST โดยมีทั้งหมด 5 การทดสอบ ดังนี้
    3.1 การมีสังคม: เป็นการทดสอบที่จะวัดระดับการเข้าสังคม ความไว้ใจ ของสุนัขที่มีต่อมนุษย์ โดยการเรียกสุนัขเข้ามาหา
    3.2 การพึ่งพา: การทดสอบจะช่วยสรุประดับการพึ่งพาของสุนัข ว่าสุนัขที่นำมาทดสอบนั้นต้องการการพึ่งพาจากมนุษย์มากน้อยเพียงใด โดยการเรียกสุนัขให้สุนัขเดินตาม
    3.3 การยอมรับ: การทดสอบจะช่วยสรุประดับความยอมรับหรือ  ความเชื่อฟัง  ตอนที่สุนัขเกิดความเครียด เมื่อโดนกระทำทางร่างกาย โดยการกดสุนัขให้นอนราบกับพื้นค้างไว้ 30 วินาที
    3.4 ความเป็นมิตร: การทดสอบนี้จะช่วยสรุประดับการยอมรับทางสังคมที่สุนัขจะข่มกัน ด้วยการกัด กระโดดหรือพยายามที่จะอยู่สูงกว่ามนุษย์ โดยการลูบหัวและลำตัวของสุนัขอย่างรวดเร็ว
    3.5 ความก้าวร้าว: การทดสอบนี้จะช่วยสรุประดับการยอมรับการถูกข่มในขณะที่สุนัขรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ไม่มีอิสระ โดยการอุ้มสุนัขขึ้นให้สูงจากพื้นนาน 30 วินาที

สรุปและอภิปรายผลการทดลอง

 

          จากการนำสุนัขพันธุ์ผสมจำนวน 40 ตัวมาทดสอบการจัดลำดับทางสังคมของสุนัขด้วยวิธี VOLHARD PUPPY APTITUDE TEST โดยมีทั้งหมด 5 การทดสอบ คือ การมีสังคม  การพึ่งพา   การยอมรับ  ความเป็นมิตร  และความก้าวร้าว  ตามลำดับ ซึ่งจะแบ่งสุนัขออกเป็น 6 กลุ่ม  สุนัขกลุ่ม 1 มีความก้าวร้าวสูงสุด และกลุ่มถัดไปจะมีความก้าวร้าวที่ลดหลั่นลงมาจนถึงสุนัขกลุ่ม 6 ที่ขี้กลัวมากที่สุด จากการทดสอบ พบว่ามีสุนัขที่เป็นกลุ่ม 1 จำนวน 1 ตัว(2.5%) ,กลุ่ม 2 จำนวน 6 ตัว(15.0%), กลุ่ม 3 จำนวน 20 ตัว(50.0%), กลุ่ม 4 จำนวน 5 ตัว(12.5%), กลุ่ม 5 จำนวน 5 ตัว(12.5%), และสุนัขกลุ่ม 6 จำนวน 3 ตัว(7.5%) จะเห็นได้ว่ามีการจัดลำดับทางสังคมของสุนัขทุกกลุ่มในจำนวนที่แตกต่างกัน โดยพบว่าสุนัขส่วนมากจัดอยู่ในกลุ่มสุนัขกลุ่ม 3 ซึ่งมีนิสัยร่าเริง  เหมาะที่จะพิจารณาเลือกมาเลี้ยงไว้ในครอบครัว  ทั้งนี้ลำดับที่เกิดขึ้นในสังคมอาจมีการปรับเปลี่ยนได้ ตามพฤติกรรมหรือความสัมพันธ์ทางสังคมที่เปลี่ยนไป

  
คณะผู้วิจัย :
ธนู แต้กิจพัฒนา1, กฤติกา เข่งสมุทร1, บงกช ภูสวัสดิ์รัตนา1, สุพจนา เจริญสิน2, รักษ์จินดา วัฒนาลัย2และ สมัคร สุจริต2
หน่วยงาน :
1 นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะเทคนิคการสัตวแพทย์
2 คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์