ต่อต้านเห็บโค (KU-VAC1)
Anti-tick vaccine against cattle ticks (KU-VAC1)

  
ความสำคัญและแนวคิด

        ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเห็บโค ที่มีกระจายตัวอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้น มีสภาพแวดล้อม ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ของเห็บ ทำให้เกษตรกรไทย ต้องประสบปัญหานี้มาโดยตลอด วัคซีนต่อต้านเห็บโค (KU-VAC-1) เป็นทางเลือกใหม่ที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตไทย เนื่องจากการใช้วัคซีนจะสามารถป้องกันสัตว์จากเห็บได้นานกว่าสารเคมี วัคซีนไม่มีอันตรายต่อตัวสัตว์ ไม่มีสารตกค้างในตัวสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ตลอดจนไม่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม รวมทั้งไม่เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ การใช้วัคซีนต่อต้านเห็บโคจะไม่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรไทย และจะมีผลต่อสุขภาพของคนไทยในระยะยาว เนื่องจากวัคซีนจะช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีในสัตว์ ที่มนุษย์ใช้เป็นแหล่งอาหารและลดการตกค้างของสารเคมีในสภาพแวดล้อมที่จะมีผลดีต่อคนไทยในอนาคต อีกทั้งค่าใช้จ่ายที่ลดลงก็จะกลับมาเป็นผลกำไรที่เพิ่มมากขึ้น ให้กับเกษตรกรได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

        ความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ในปัจจุบันการทำให้อาหารที่ผลิตจากสัตว์ หรือ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปลอดจากเชื้อโรคและสารเคมีที่มีความเป็นพิษต่อผู้บริโภคเป็นหัวใจสำคัญของแนวความคิดการพัฒนาวัคซีนต่อต้านเห็บโค โคกระบือเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของมนุษย์ทั้งโดยตรง ได้แก่ เนื้อ และโดยอ้อม ได้แก่ น้ำนม ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญ การเลี้ยงสัตว์โดยไม่ใช้สารเคมีเป็นส่วนสำคัญของการผลิตอาหารแบบอินทรีย์ ที่มีประโยชน์และคุณค่าที่ทุกคนอยากจะใช้บริโภค วัคซีนต่อต้านเห็บโคเป็นคำตอบของปัญหาการควบคุมเห็บโคในปัจจุบัน วัคซีนต่อต้านเห็บโคไม่มีอันตรายต่อผู้บริโภคไม่มีการตกค้างของสารเคมีในสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับผลข้างเคียงใด ๆ อันอาจเกิดจากการปนเปื้อนของสารเคมี การใช้วัคซีน KU-VAC1 เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของคน ทั้งยังสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดที่ต้องการอาหารปลอดจากการใช้สารเคมี

วัตถุประสงค์

  1. วัคซีนต่อต้านเห็บโค พัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการควบคุมเห็บโค โดยลดการใช้สารเคมี ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของทั้งผู้ใช้และในตัวสัตว์เอง
  2. วัคซีน KU-VAC1 มีราคาถูกมากกว่าสารเคมีมากเนื่องจากเป็นองค์ความรู้ภายในประเทศ สามารถจะกำหนดราคาได้เอง โดยไม่ต้องอาศัยราคาจากต่างประเทศ
  3. ลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศในแต่ละปี ลดความสูญเสียเงินตราให้กับต่างประเทศ
  4. ลดต้นทุนการผลิตสัตว์ให้กับเกษตรไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ถ้ามีการเปิดการค้าเสรี (Free Trade Areas-FTA) ในอนาคต
  5. สามารถส่งขายต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเดียวกันซึ่งไม่มีความแปรปรวนทางพันธุกรรมของเห็บมากนัก
  6. เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ เนื่องจากอาหารอินทรีย์มีราคาสูงกว่าอาหารทั่ว ๆ ไป ผู้บริโภคต้องการอาหารที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยของอาหารสูง

 

ขั้นตอนการพัฒนาวัคซีนต่อต้านเห็บโคในประเทศไทย

        วัคซีนต่อต้านเห็บโคพัฒนาจากองค์ความรู้ภายในประเทศโดยการทดสอบวัคซีนเบื้องต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 (การค้นหาโปรตีนที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นวัคซีน) โดยวัคซีนเตรียมจากเนื้อเยื่อเห็บโคภายในประเทศไทย ทำการสกัดแยกโปรตีนจากทางเดินอาหารและต่อมน้ำลายของเห็บ นำมาหาพันธุกรรมเพื่อผลิตโปรตีนที่จะใช้เป็นวัคซีนจำนวนมาก และในปี 2551 ได้ทดสอบวัคซีนในห้องปฏิบัติการภาคสนาม เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของวัคซีนในการควบคุมเห็บโค และพัฒนาในเชิงพาณิชย์

กลไกของวัคซีนต่อต้านเห็บโค

  1. ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจะเข้าไปทำลายผนังเซลล์ทางเดินอาหารของเห็บ ทำให้เห็บไม่สามารถเปลี่ยนเลือดไปเป็นไข่ ซึ่งช่วยลดอัตราการขยายพันธุ์ของเห็บตามธรรมชาติ
  2. ภูมิคุ้มกันของวัคซีนจะเข้าไปขัดขวางการทำงานของต่อมน้ำลายที่มีส่วนช่วยในการเกาะดูดเลือดของเห็บ ทำให้เห็บดูดกินเลือดได้ลดลง
  3. ภูมิคุ้มกันของวัคซีนจะมีส่วนขัดขวางเชื้อที่อาศัยอยู่ในต่อมน้ำลายของเห็บไม่ให้ถ่ายทอดไปยังสัตว์ ทำให้ลดการเกิดโรคจากเห็บ (Tick-borne disease) และลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจแก่เจ้าของสัตว์หรือเกษตรกรไทย

 

ศักยภาพในการพัฒนาใช้ประโยชน์

  1. วัคซีนKU-VAC1  สามารถใช้ทดแทนการใช้สารเคมีฆ่าเห็บที่มีมูลค่า หลายพันล้านบาทต่อปี ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ ลดการนำเข้าสารเคมีที่ถูกกำหนดราคา โดยบริษัทต่างประเทศ
  2. แม้ว่าการพัฒนาวัคซีนKU-VAC1  จะมีต้นทุนสูง แต่มีความคุ้มค่าในเชิงธุรกิจ เนื่องจากมีความยั่งยืนในการใช้มากกว่าสารเคมี ทำให้ life span ของวัคซีน KU-VAC1 จะอยู่ได้นานกว่าการใช้สารเคมีที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทุก 1-2 ปี เนื่องจากเห็บเกิดการดื้อต่อสารเคมีได้ง่ายในขณะเห็บเกิดการดื้อต่อวัคซีนได้ยากกว่า หรือไม่มีโอกาสเกิดได้เลย การลงทุนเพียงครั้งเดียว แต่สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่ามากกว่า 10 ปี ย่อมเป็นเหตุผลที่ดีในการลงทุนดังกล่าว
  3. ผลกระทบจะมีต่อเกษตรกรไทย จำนวน 1.6 ล้านครัวเรือน ที่อาศัยโค-กระบือ ทั้งไว้ใช้ในการประกอบอาชีพและเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหาร
  4. เกิดประโยชน์ในวงกว้างต่อผู้บริโภคที่ต้องการอาหารปราศจากสารเคมีหรืออาหารอินทรีย์(Organic food) เพิ่มมูลค่าของอาหารที่คนใช้บริโภคและเป็นความปลอดภัยของอาหารที่เกษตรกรควรจะตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อผู้บริโภค
  5. วัคซีนKU-VAC1มีศักยภาพในการส่งไปขายต่างประเทศได้โดยมีความเป็นไปได้สูงของการเกิดภูมิคุ้มกันที่มีต่อเห็บโคชนิดใกล้เคียงกันในภูมิภาคนี้

 

  
คณะผู้วิจัย :
สถาพร จิตตปาลพงศ์, ธีระพล ศิรินนฤมิตร, กัญจน์ แก้วมลคล และ ศราวรรณ  แก้วมงคล
หน่วยงาน :
ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์   
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  
โทร.  02-942-8438 –โทรสาร  02-942-8438