โรคที่เป็นสาเหตุของการตายที่รุนแรงของปลานิลในประเทศไทย
Serious disease outbreaks in Nile tilapia cultured in Thailand

       

            ปลานิลนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญที่สุดทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีมูลค่าผลผลิตต่อปีกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในบันดาสัตว์น้ำจืดทั้งหมด สืบเนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์รวดเร็วและตลาดทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการสูง ทำให้รูปแบบการเลี้ยงมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นระบบการเลี้ยงเชิงพาณิชย์มากขึ้น และยังพบว่าทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนพยายามปรับปรุงสายพันธุ์ที่มีอัตราการเจริญเติบโตดีและตรงกับความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงปลานิลแปลงเพศโดยใช้ฮอร์โมน 17a-methyl-testosterone ที่มีการผลิต ทั้งปลานิลดำและปลาทับทิม จนสามารถเลี้ยงเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจสามารถส่งขายได้ทั้งตลาดในและต่างประเทศ สร้างรายได้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยง รวมทั้งธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ เช่น บริษัทอาหาร ยาและเคมีภัณฑ์ บริษัทห้องเย็น รวมไปถึงฟาร์มเพาะและอนุบาลลูกปลานิลแปลงเพศอย่างเป็นกอบเป็นกำ เกิดเป็นธุรกิจขนาดใหญ่สร้างรายได้เป็นมูลค่ามหาศาลให้แก่ประเทศ ในส่วนของปลานิลดำนั้นเกษตรกรนิยมเลี้ยงทั้งในบ่อดินและกระชัง พื้นที่การเลี้ยงส่วนใหญ่อยู่พื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท อ่างทอง อุทัยธานี นครสวรรค์ (บางพื้นที่นิยมเลี้ยงปลานิลทับทิมในกระชังเนื่องจากมีราคาสูงกว่า) รวมไปถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพบว่ามีการเลี้ยงแบบกระชังแขวนตามแหล่งน้ำสำคัญ ๆ เช่น ลำน้ำพอง ลำปาว แม่น้ำสงคราม แม่น้ำชี แม่น้ำโขงและแม่น้ำมูล นับตั้งแต่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคราม ร้อยเอ็ด ยโสธร นครพนม มุกดาหารและอุบลราชธานี

            อย่างไรก็ตามในช่วง 3-4 ปีมานี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลส่วนใหญ่ มักประสบปัญหาการตายของปลาที่รุนแรงในปลาขนาดใหญ่อายุตั้งแต่ 3-4 เดือน หรือขนาดตั้งแต่ 200-800 กรัม ซึ่งการตายของปลามักจะเกิดในช่วงหน้าร้อนไปจนถึงต้นฤดูฝน นับตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนกรกฎาคมของทุกปี ลักษณะอาการของปลาที่เริ่มแสดงความผิดปกติจะกินอาหารน้อยลง เมื่อเวลาผ่านไป 3-4 วัน ปลาบางส่วนจะเริ่มว่ายน้ำเชื่องช้าที่ผิวน้ำ ลำตัวอาจมีสีคล้ำหรือมีบาดแผลตามผิวหนัง ครีบและเกล็ด บางตัวครีบหู ครีบอก ครีบหางกร่อนและตกเลือดบริเวณโคลนครีบ ท้องบวมน้ำเล็กน้อย บางตัวแสดงอาการตาโปนหรือตาขุ่นออกมา (ภาพที่ 1) บางครั้งจะพบร่วมกับการว่ายน้ำควงสว่านไร้ทิศทางที่บริเวณผิวน้ำ ในปลาที่เลี้ยงในบ่อดินปลาที่ป่วยส่วนใหญ่จะลอยและเริ่มทยอยแสดงอาการความผิดปกติดังกล่าวและทยอยตายโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณท้ายบ่อ อัตราการตายอาจสูงถึง 60-70% หรือปลาที่เลี้ยงในกระชังอัตราการตายอาจสูงถึง 85-90% ภายใน 5-7 วัน นับตั้งแต่ปลาแสดงอาการ เมื่อทำการผ่าตรวจดูความผิดปกติภายในช่องท้องพบว่า มีน้ำสีเหลืองทะลักออกมา ตับมีสีซีด เกิดการตกเลือดและอักเสบ ถุงน้ำดีและม้ามบวมโตมาก

            จากการตรวจวินิจฉัยโรคในห้องปฏิบัติการ โดยการแยกเชื้อแบคทีเรียในอาหารเลี้ยงเชื้อพบว่า ได้โคโลนีของแบคทีเรียขนาดเล็ก สีขาวครีม ขอบเรียบจำนวนมาก เมื่อนำแบคทีเรียไปทำการย้อมสีแกรมแล้วพบว่า แบคทีเรียที่ได้มีรูปร่างกลมขนาดเล็ก (Cocci) อาจอยู่เป็นเซลล์เดี่ยว ๆ หรือต่อเป็นสายยาว ตั้งแต่ 2 เซลล์ขึ้นไป โดยเซลล์แบคทีเรียเหล่านี้ จะติดสีน้ำเงินของคริสตอลไวโอเลต (Crystal violet) แสดงถึงคุณสมบัติที่เป็นแบคทีเรียแกรมบวก ไม่เคลื่อนที่ในอาหารทดสอบ เมื่อเลี้ยงใน Blood agar แล้วเชื้อดังกล่าวสามารถย่อยสลายเม็ดเลือดแดงอย่างสมบูรณ์ได้ เมื่อทำการทดสอบคุณสมบัติทางชีวเคมีแล้วพบว่า มีคุณสมบัติตรงกับ เชื้อแบคทีเรีย Streptococcus agalactiae นอกจากนี้ภายหลังจากการทดสอบความไวของเชื้อต่อยาปฏิชีวนะแล้วพบว่า เชื้อดังกล่าวมีความไวต่อยา Enrofloxacin, Oxytetacycline, Salphamethoxazole+Trimethoprime และยาอีกหลายชนิด เกษตรกรส่วนใหญ่พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการใช้ยาปฎิชีวนะและสารเคมีบางชนิด แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการตายของปลาได้ โดยปลายังแสดงการตายต่อเนื่องและรุนแรง จนเกษตรกรส่วนใหญ่ประสพภาวะขาดทุนอย่างหนัก

            อย่างไรก็ตามในปี 2551 นี้ เหตุการณ์ปลาตายอย่างหนักได้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การตายของปลานั้นจะแสดงอาการของของโรคที่เกิดจากเชื้อ Streptococcus agalactiae น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการตาโปนหรือตาขาวขุ่น แต่กลับพบว่าปลาที่ป่วยส่วนใหญ่จะมีบาดแผลเป็นวงด่างตามผิวหนังลำตัว ท้องและโคลนครีบหาง ครีบหู ครีบท้องและครับหางกร่อน บางรายพบแผลหลุมลึกเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อ (ภาพที่ 2) เมื่อตรวจสอบปรสิตภายนอกพบ เชื้อแบคทีเรียท่อนยาวอยู่เป็นกลุ่มใหญ่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว และยังพบเชื้อโรคในกลุ่มปลิงใส เห็บระฆัง หนอนสมอหรือบางครั้งมีการระบาดร่วมกับสัตว์ในกลุ่มเห็บปลา (Isopod) โดยเฉพาะบริเวณเหงือก ลำตัว ซึ่งสามารถพบอาการดังกล่าวได้อย่างกว้างขวางในทุกพื้นที่ของประเทศ รวมถึงพื้นที่การเลี้ยงของประเทศใกล้เคียง เช่น ประเทศลาวบริเวณแม่น้ำโขงและแม่น้ำงึม ซึ่งขณะนี้โรคดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดในห้องปฏิบัติการ จากเหตุการณ์ดังกล่าวเกษตรกรเกือบทั้งหมดล้มเหลวในการใช้ยาและสารเคมีเพื่อการหยุดยั้งการระบาดและการตายของโรคอย่างสิ้นเชิง ส่วนใหญ่ต้องหยุดกิจกรรมเพื่อหาอาชีพอย่างอื่นแทนเนื่องจากไม่สามารถเลี้ยงปลาและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ จนเป็นเหตุให้ขาดทุนอย่างหนักในปัจจุบัน

            จากการเกิดโรคระบาดดังกล่าวมีข้อสังเกตที่สำคัญคือ ก่อนปลาเกิดโรค ในการเลี้ยงในบ่อดินมักพบเสมอว่าสภาวะอากาศบริเวณพื้นที่การเลี้ยงจะร้อนจัดติดต่อกันหลายวัน หลังจากนั้นเมื่อมีฝนตกหรือครึ้มฟ้าครึ้มฝนติดต่อกัน 2-3 วัน ทำให้อุณหภูมิของน้ำในรอบวันแตกต่างกันมาก สภาวะดังกล่าวยังส่งผลถึงกระบวนการย่อยสลายเพื่อนำของเสียที่เกิดขึ้นในบ่อเลี้ยง โดยเฉพาะอาหารเหลือ ของเสียและสิ่งขับถ่ายจากปลาไปใช้ประโยชน์ของจุลชีพ โดยเฉพาะแบคทีเรียและแพลงก์ตอนพืช ทำให้เกิดการตายของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ตามมา เกิดการสะสมของอนินทรีย์และอินทรีย์สารจำนวนมหาศาลในบ่อ ส่งผลให้คุณภาพน้ำทั้งทางชีวภาพ กายภาพและเคมีเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางเลวร้ายอย่างหนัก ในกรณีที่เลี้ยงในกระชังมักพบว่าก่อนการเกิดโรคนั้นน้ำในบริเวณแหล่งเลี้ยงจะนิ่งไม่มีการไหลเวียนของมวลน้ำ หรือมักมีมวลน้ำใหม่สีขุ่นไหลลงมาในแหล่งเลี้ยงปลาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงระยะวิกฤติของการเลี้ยงปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงปลาในกระชัง เหตุดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดสภาวะเครียดในปลาเนื่องจากปลาจะประสบกับภาวะที่ต้องใช้พลังงานในการปรับตัวเองให้อยู่รอดในสภาพที่เลวร้าย ส่งผลให้ปลามีสุขภาพอ่อนแอและยอมรับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย และส่งผลนำไปสู่การตายของปลาในรูปแบบต่าง ๆ ในที่สุด ปลามักจะแสดงอาการของโรคและทยอยตายเรื่อย ๆ ในช่วงแรก หรืออาจสูงถึง 80% ภายใน 5-7 วันทั้งนี้อัตราการตายของปลาหรือความรุนแรงของการเกิดโรคจะมากหรือน้อยยังขึ้นอยู่กับการจัดการสุขภาพของปลาของผู้เลี้ยง รวมไปถึงความรุนแรงของสภาวะที่ก่อให้เกิดความเครียดต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือความสามารถของเราที่จะจัดการได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพของน้ำ โดยเฉพาะการเลี้ยงในกระชัง ที่มีการไหลบ่าของน้ำลงมา

แนวทางการป้องกันปัญหาการเกิดโรค

            เพื่อให้การป้องกันโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกษตรกรควรมีหลักในการปฏิบัติดังต่อไปนี้

  1. เน้นการจัดการในช่วงวิกฤติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงที่อากาศร้อน ฝนตกติดต่อกันหลายวัน อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงฉับพลัน น้ำหลากหรือน้ำนิ่งเป็นเวลานาน  โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนและช่วงปลายฝนต้นหนาว  เกษตรกรสามารถป้องกันการการระบาดของโรคโดยการ เสริมวิตามินที่จำเป็นเช่นวิตามิน ซี (3-5 กรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม) ร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะ (3-5 กรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม) ติดต่อกันเป็นเวลา 5-7 วัน จนกว่าสภาวะอากาศจะกลับเข้าสู้ภาวะปกติ
  2. ลดหรืออย่าปล่อยปลาในอัตราที่หนาแน่นสูงหรือหลีกเลี่ยงการเลี้ยงปลาในบางช่วงเวลา โดยเฉพาะการเลี้ยงในช่วงระยะเวลาวิกฤติ เนื่องจากปลาจะมีความเสี่ยงสูงมากต่อการเกิดโรค นอกจากนี้การปล่อยปลาในอัตราที่หนาแน่นต่ำจะช่วยให้การจัดการสภาพการเลี้ยงได้ง่ายขึ้น      
  3. ระวังการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำ หากเป็นไปได้ควรติดตั้งเครื่องให้อากาศเพื่อเติมอากาศในน้ำอย่างต่อเนื่องให้เพียงพอต่อความต้องการของปลา โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืนจนถึงช่วงเช้าตรู่ และช่วงฟ้าปิดติดต่อกันหลายวัน           
  4. เพิ่มแหล่งของเกลือแร่ให้แก่ปลาโดยการเติมเกลือแกง เนื่องจากในช่วงระยะเวลาวิกฤติปลาส่วนใหญ่จะเกิดความเครียดได้ง่ายและอาจส่งผลให้ปลาสูญเสียระบบควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือแร่ การให้เกลือแกงจะเป็นการชดเชยเกลือที่สูญเสียไประหว่างเกิดความเครียด ทำให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายปลาสามารถทำงานต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง วิธีการเติมควรใส่เกลือในถุงผ้าแขวนไว้เป็นจุด ๆ ให้เกลือละลายออกมาช้า ๆ ตามขอบบ่อหรือกระชังให้ติดต่อกันจนสภาพแวดล้อมของการเลี้ยงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ   
  5. อย่าใช้ยาหรือสารเคมีอย่างพล่ำเพลื่อ เนื่องจากจะเป็นการสูญเสียค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงโดยใช่เหตุแล้ว การใช้ยาดังกล่าวยังมีผลทำให้เชื้อโรคเกิดการดื้อยาทำให้เมื่อเกิดโรคแล้วอาจส่งผลให้การใช้ยาและสารเคมีดังกล่าวไม่สามารถใช้ในการควบคุมโรคได้     


แนวทางการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดโรค

  1. ลดหรืองดให้อาหาร เนื่องจากโดยปกตินั้นมักพบว่าเมื่อปลาเริ่มป่วยอัตราการกินอาหารของปลาจะลดลง ดังนั้นเกษตรกรควรลดระดับการให้อาหารแก่ปลาเพื่อป้องกันการสูญเสียอาหารและการหมักหมมของอาหารเหลือที่อาจเป็นอาหารของเชื้อโรคในน้ำ
  2. หาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค โดยการนำตัวอย่างปลาป่วยส่งให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยให้ทันท่วงที โดยปลาที่จะนำส่งตรวจนั้นต้องอยู่ในสภาพที่มีชีวิตเท่านั้นจึงจะทำให้การตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้อย่างถูกต้องและแม่นยำที่สุด
  3. ใช้ยาหรือสารเคมีอย่างมีเหตุผล ถูกต้อง ตามความจำเป็น เมื่อพบว่าสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคมาจากแบคทีเรีย แนวทางที่สามารถรักษาปลาที่มีประสิทธิภาพและเกษตรกรสามารถทำได้คือ การผสมอาหาร ซึ่งช่วงที่ถูกต้องที่สุดในการรักษาคือ ช่วงที่พบว่าปลามีอัตราการตายระหว่าง 1-3% แรก เนื่องจากเป็นช่วงที่ปลามีการติดเชื้อน้อยอยู่ หากปล่อยให้อัตราการตายสูงขึ้นมากกว่า 20-30% ในขณะนั้นปลาส่วนใหญ่จะไม่กินอาหาร ทำให้การตอบสนองต่อการให้ยาปลาและความสำเร็จในการควบคุมโรคปลาให้มีโอกาสหายน้อย
  4. นำปลาที่เป็นโรคออกจากพื้นที่บ่อเลี้ยงหรือกระชัง โดยการนำไปฝัง เผาทำลายหรือใช้ความร้อนในการประกอบอาหาร จะเป็นการลดหรือตัดวงจรของการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ โดยเฉพาะการเลี้ยงปลาในบ่อดินขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าปลาเป็นโรคส่วนใหญ่จะว่ายลอยบริเวณท้ายบ่อ ขณะที่ปลาแข็งแรงยังขึ้นกินอาหารที่หัวบ่อ เกษตรกรสามารถใช้อวนแหเพื่อจับปลาท้ายบ่อออกไปและให้ยาผสมอาหารสำหรับปลาที่ยังกินอาหาร ร่วมกับการเสริมวิตามิน ซี เพื่อเสริมความต้านทานของระบบภูมิคุ้มกันของปลา จะสามารถรักษาและลดอัตราการตายของปลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
DSC09765 DSC06378
ภาพที่ 1 การตายของปลาที่มีสาเหคุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus agalactiae

ภาพที่ 2 การตายของปลาที่มีสาเหตุมาจากเชื้อโรคที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน

  
คณะผู้วิจัย :
ประพันธ์ศักดิ์ ศีรษะภูมิ และ นนทวิทย์ อารีย์ชน
หน่วยงาน :
ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02-5792924
'