ในปัจจุบันถึงแม้การเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยจะมีการพัฒนาทางด้านการจัดการสุขาภิบาลที่ดีขึ้น รวมถึงการวางโปรแกรมการถ่ายพยาธิอย่างสม่ำเสมอ แต่โรคปรสิตที่ติดจากสัตว์สู่คนยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญทางสาธารณสุข ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยหลายด้านอาทิเช่น ผู้บริโภคบางกลุ่มยังนิยมการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ดิบหรือดิบ ๆ สุก ๆ อยู่ เช่น ลาบดิบ หลู้ ก้อย แหนม โดยเฉพาะประชากรทางภาคเหนือของประเทศไทย ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดโรคปรสิตบางชนิด เช่น Trichinosis เป็นต้น โดยโรค Trichinosis เกิดจากพยาธิ Trichinella spiralis มีสุกรเป็นโฮสต์กึ่งกลางที่สำคัญตัวหนึ่ง ซึ่งจะมีการสร้างถุงซีสต์ของปรสิตไว้ในกล้ามเนื้อของสุกรและติดต่อไปยังผู้ที่บริโภคเนื้อสุกรที่ปรุงไม่สุกหรือสุก ๆ ดิบ ๆ เมื่อมีการติดปรสิตแล้วอาจจะไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการอย่างรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ซึ่งในรายที่ไม่แสดงอาการนั้นจะส่งผลให้ไม่มีการรายงานถึงการระบาดของโรคดังกล่าวและเกิดการละเลยในการควบคุมและป้องกันโรค อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาพบรายงานผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2550 ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยโรค Trichinosis ทั้งหมด 80 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย 63 รายและพบผู้ป่วยในจังหวัดเชียงรายมากที่สุดคือ 34 ราย
จากเหตุผลดังกล่าวจึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการศึกษาถึงความชุกของการติดเชื้อปรสิตของสัตว์ที่มีการนำเนื้อมาบริโภคอย่างสม่ำเสมอ โดยในการศึกษาครั้งนี้ได้ทำการศึกษาหาความชุกของปรสิตในเนื้อสุกรทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยการตรวจหาตัวอ่อนของปรสิตในกล้ามเนื้อสุกรด้วยวิธีการย่อยกล้ามเนื้อด้วยน้ำย่อยเปปซินเทียม (digestion method) เพื่อให้ทราบถึงสภาวะการระบาดของโรคอันจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนสำหรับการควบคุมและป้องกันโรคต่อไป นอกจากนี้ผลที่ได้จะยังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนางานทางด้านปศุสัตว์ทั้งในเชิงการให้ความรู้และในภาคปฏิบัติในพื้นที่ที่ได้ทำการศึกษาว่ามีการพัฒนาอย่างถูกต้องและต่อเนื่องมากน้อยเพียงใด
อุปกรณ์และวิธีการ
การเก็บตัวอย่าง : ทำการสุ่มเก็บตัวอย่าง กล้ามเนื้อกระบังลมของสุกรจำนวนทั้งหมด 156 ตัวอย่างจากโรงฆ่าสัตว์ใน 5 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน สุโขทัยและพิษณุโลก เป็นจำนวน 51, 58, 3, 15 และ29 ตัวอย่างตามลำดับ ทำการเก็บรักษาตัวอย่างที่ 4 องศาเซลเซียส และส่งตัวอย่างตรวจ ณ กลุ่มสาขาวิชาปรสิตวิทยาและพยาธิคลินิกทางสัตวแพทย์ ภาควิชาเทคนิคการสัตวแพทย์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วิธีการทดลอง : ทำการตรวจด้วยวิธีการย่อยกล้ามเนื้อ (digestion method) ด้วยน้ำย่อยเปปซินเทียม 1 % และนำตะกอนที่ได้ส่องตรวจหาตัวอ่อนปรสิตภายใต้กล้องสเตอริโอสโคป
สรุปและอภิปรายผลการทดลอง
ผลจากการตรวจตัวอย่างทั้งหมด 156 ตัวอย่างซึ่งแสดงไว้ในตารางที่ 1 พบว่าไม่เจอตัวอ่อนของปรสิตในกล้ามเนื้อสุกร
ตารางที่ 1 แสดงผลการตรวจตัวอย่างกล้ามเนื้อกระบังลมด้วยวิธีการย่อยกล้ามเนื้อ
จังหวัด |
จำนวนตัวอย่าง |
ผลการตรวจ
ตัวอย่างที่ให้ผลบวก/ทั้งหมด (%) |
เชียงราย |
58 |
0/58 (0) |
เชียงใหม่ |
51 |
0/51 (0) |
พิษณุโลก |
29 |
0/29 (0) |
สุโขทัย |
15 |
0/15 (0) |
ลำพูน |
3 |
0/3 (0) |
รวม |
156 |
0/156 (0) |
ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มสุกรที่ไปสุ่มตรวจอาจจะเป็นสุกรที่มีระบบการจัดการเลี้ยงดูที่ดี ทำให้สุกรมีโอกาสติดปรสิตชนิดนี้ต่ำ ต่างจากสุกรของชาวบ้านหรือชาวเขาที่มีการเลี้ยงแบบหลังบ้านและไม่มีการจัดการที่ดี ซึ่งสุกรมีโอกาสติดปรสิตชนิดนี้สูงกว่า ดังจะเห็นได้จากผู้ป่วยโรค Trichinosis จะมีประวัติการบริโภคเนื้อสุกรแบบสุก ๆ ดิบ ๆ และเป็นเนื้อสุกรของชาวบ้านหรือชาวเขาซึ่งมีราคาถูก |