สถานภาพและโอกาสในการเพิ่มสมรรถภาพการผลิตและพันธุกรรมโคและสุกรในประเทศไทย
Situation and Chance to Improve Production and Genetic Ability of Cattle and Swine in Thailand

       

          ด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความผันแปรและแข่งขันกันอยู่เสมอ และความจำเพาะของสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศของประเทศไทย เกษตรกรผู้ผลิตโคและสุกรต่างต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาระบบการผลิตของตนให้ยังคงมีประสิทธิภาพ มีต้นทุนต่ำ ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ในการดำเนินงานเรื่องดังกล่าวให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุดนั้น เกษตรกรผู้ผลิตโคและสุกรจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ที่มีความถูกต้อง และแม่นยำสูง โครงการศึกษาวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาสถานการณ์และโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพันธุกรรมโคและสุกรในประเทศไทยในปัจจุบัน ศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความผันแปรของลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ศึกษาความแตกต่างทางพันธุกรรมระดับชีววิทยาโมเลกุล (Molecular Biology) เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดเลือกพันธุ์ ประมาณค่าองค์ประกอบของความแปรปรวนและพารามิเตอร์ทางพันธุกรรม พัฒนากลวิธีในการคัดเลือกและจับคู่ผสมพันธุ์ ศึกษาแนวโน้มการพัฒนาศักยภาพการผลิตและพันธุกรรม และนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยมาเผยแพร่ ส่งเสริม และฝึกอบรมให้กับเกษตรกรเพื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพันธุกรรมโคและสุกร ตามสภาพและเงื่อนไขต่างๆ ภายในระบบการผลิตของตน

ภาพที่ 1 การประเมินสถานการณ์การผลิตและพันธุกรรมโคและสุกร

          ในการดำเนินการวิจัย คณะผู้วิจัยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทั้งเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโคและสุกร (เช่น องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย กรมปศุสัตว์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมแห่งชาติ สหกรณ์โคนมมวกเหล็กจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัดผู้เลี้ยงโคนมภาคกลาง บริษัทโฟร์ทีจำกัด เอชพีฟาร์ม และลุงเชาวน์ฟาร์ม เป็นต้น) ข้อมูลที่สนใจถูกจัดเก็บจากเกษตรกรในรูปของแบบสอบถามและการสัมภาษณ์ การวางแผนการศึกษาและทดลอง ข้อมูลที่จัดเก็บไว้แล้วในระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกษตรกรเหล่านั้นเป็นสมาชิกหรือร่วมโครงการ และการวิเคราะห์ทางชีวโมเลกุลในห้องปฏิบัติการ ข้อมูลที่รวบรวมได้ทั้งหมดถูกนำมาตรวจสอบความถูกต้องและความสมบูรณ์ จากนั้นจึงนำมาพิจารณาความเชื่อมโยงของชุดข้อมูลย่อยในรูปแบบที่พิจารณา ก่อนนำไปวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติเพื่อดูการกระจายตัวของข้อมูล จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ค่าทางสถิติ เพื่อศึกษาวิจัยในประเด็นต่างๆ ที่ต้องการศึกษา

           ผลการศึกษาวิจัยในเบื้องต้น พบว่า ความแตกต่างของปีและฤดูกาล ขนาดฟาร์มและพื้นที่ตั้งฟาร์ม ประสบการณ์ ระดับการศึกษา จำนวนแรงงาน ความสมบูรณ์ในการจัดเก็บข้อมูล ทัศนคติ ความรู้ ความเข้าใจขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติในเรื่องต่างๆ หน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นสมาชิกของเกษตรกรแต่ละราย กลุ่มพันธุ์สัตว์ที่ใช้ในฟาร์มของเกษตรกร อายุของสัตว์ และลำดับการให้ผลผลิต ล้วนมีผลต่อสมรรถภาพการผลิตโคและสุกรอย่างมีนัยสำคัญทั้งสิ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มีผลต่อความสามารถในการสร้างความสมดุลระหว่างพันธุ์สัตว์ อาหาร และการจัดการฟาร์มที่ใช้ในระบบการผลิตของเกษตรกรแต่ละราย และมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกษตรกรแต่ละรายมีความสัมฤทธิ์ผลในการผลิตโคและสุกรแตกต่างกัน

ภาพที่ 2 อิทธิพลของปัจจัยปีและฤดูกาล และขนาดฟาร์มและพื้นที่ตั้งฟาร์มต่อการให้ผลผลิตน้ำนม

          จากอดีตถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำนมดิบที่ผลิตได้จากแม่โครีดนมแต่ละตัวของเกษตรกรจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยตลอด แต่การเพิ่มขึ้นของปริมาณผลผลิตนั้นเป็นผลมาจากการปรับตัวของเกษตรกรและปัจจัยอื่นๆ มากกว่าความสามารถทางพันธุกรรมของแม่โครีดนมที่ใช้ประโยชน์ในระบบการผลิต ซึ่งอาจเป็นเพราะความแม่นยำในการคัดเลือกพ่อและแม่พันธุ์ของเกษตรกรยังคงมีค่าต่ำ ลักษณะดังกล่าวเป็นผลมาจากการขาดความรู้ ความเข้าใจ และโอกาสในการคัดเลือกและจับคู่ผสมพันธุ์ของเกษตรกร ตลอดจนการขาดข้อมูลที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถนำมาพิจารณาเปรียบเทียบความสามารถในการให้ผลผลิต หรือความสามารถพันธุกรรมของโคพ่อและแม่พันธุ์ที่สนใจได้อย่างไม่ลำเอียง
ผลการศึกษาวิจัยยังพบว่า ในปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงโคและสุกรส่วนใหญ่จัดเก็บข้อมูลพันธุ์ประวัติ (pedigree) และความสามารถในการให้ผลผลิต (performance) ของสัตว์รายตัวไม่สมบูรณ์และไม่ต่อเนื่อง ลักษณะเช่นนี้เป็นผลทำให้การใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นทำได้อย่างจำกัด และในบางครั้งก็ไม่สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ได้เลย เกษตรกรผู้เลี้ยงโคและสุกรส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญต่อการจัดเก็บข้อมูล โดยมักให้เหตุผลว่าไม่มีเวลา และการเก็บข้อมูลก่อให้เกิดความยุ่งยากต่อการปฏิบัติงาน การตัดสินใจในการปฏิบัติงานส่วนใหญ่จึงใช้ประโยชน์จากการสังเกตและความรู้สึกมากที่สุด ซึ่งลักษณะเช่นนี้อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคและสุกรในประเทศไทยและจำเป็นต้องเร่งแก้ไข

ภาพที่ 3  แนวโน้มการให้ผลผลิตน้ำนมรวมที่ 305 วัน และคุณค่าการผสมพันธุ์ของพ่อพันธุ์โคนมที่ใช้ประโยชน์ ระหว่าง พ.ศ. 2534 - 2548

          คณะผู้วิจัยได้พัฒนาหุ่นจำลองทางพันธุกรรม (Multibreed Model) และกลวิธีในการทำนายความสามารถทางพันธุกรรม (EBV; Estimated Breeding Value) ที่เหมาะสมสำหรับประชากรสัตว์หลากหลายพันธุ์ (Multibreed Best Linear Unbiased Prediction) ที่มีความแม่นยำสูงและเอื้อประโยชน์ในการเปรียบเทียบความสามารถทางพันธุกรรม สำหรับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจของสัตว์แต่ละตัวที่มีกลุ่มพันธุ์แตกต่างกันได้อย่างไม่ลำเอียง กลวิธีในการคัดเลือกและจับคู่ผสมพันธุ์ที่พัฒนาถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงความสามารถในการเจริญเติบโต การพัฒนาขนาดของร่างกาย ประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ และการให้ผลผลิตของโคและสุกรในฟาร์มเอกชน ผลลัพธ์ที่ได้ช่วยให้เกษตรกรดังกล่าวได้โคที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็วและได้ผลผลิตมากยิ่งขึ้น ส่วนในสุกรนั้นมีความสามารถในการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว มีความยาวลำตัว ความกว้างลำตัว และความสูงมากขึ้น มีจำนวนเต้านมมากขึ้น และมีการวางตัวของขาและเท้าที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

          ในปัจจุบัน คณะผู้วิจัยได้ศึกษาถึงโอกาสในการเพิ่มสมรรถภาพการผลิตและพันธุกรรมโดยการคัดเลือกสัตว์พ่อและแม่พันธุ์แต่ละตัวจากข้อมูลชีววิทยาโมเลกุล ตลอดจนศึกษาความแตกต่างหรือความผันแปรทางพันธุกรรมของรูปแบบของยีนที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ (เช่น ยีนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและการพัฒนาขนาดร่างกาย ยีนที่เกี่ยวข้องกับจำนวนลูกและการรอดชีวิตของลูก ยีนที่เกี่ยวข้องกับการตายของลูก ยีนที่เกี่ยวข้องกับปริมาณและคุณภาพของผลผลิต เป็นต้น) ข้อมูลที่ได้จากการศึกษานี้ สามารถนำมาใช้ในการกำหนดเครื่องหมายทางพันธุกรรมสำหรับการคัดเลือก  (MAS; Marker Assisted Selection) ซึ่งจะช่วยให้การตัดสินใจคัดเลือกโคพ่อและแม่พันธุ์ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความแม่นยำสูงขึ้นและเร่งให้เกิดความก้าวหน้าทางพันธุกรรมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

F:\New Picts\Jampee Farm\DSC00629.JPG D:\Sk-Picture\Sk_Album_2007\My Pictures from Nurse\Dairy Project\20071023_1st Trip-Interview\H\DSC01949.JPG

          ผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษาวิจัยในโครงการฯ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในเอกสารและเผยแพร่ในที่ประชุมทางวิชาการและวารสารระดับชาติและนานาชาติ ข้อมูลและเทคนิคการปฏิบัติบางส่วนถูกเผยแพร่ในรูปของการฝึกอบรมเชิงปฏิบิติการ ในปัจจุบันผลงานวิจัยที่พัฒนาขึ้นถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ สำหรับการพัฒนาลักษณะการให้ผลผลิตน้ำนม ไขมันนม และอายุเมื่อคลอดลูกครั้งแรกของโคนม และการพัฒนาขนาดพื้นที่สันหลัง หน้าตัดเนื้อสัน การเจริญเติบโต และจำนวนเต้านมของสุกร ส่งผลให้เกษตรกรและหน่วยงานที่ใช้ประโยชน์ได้รับผลกำไร จากการใช้เครื่องมือและกลวิธีการคัดเลือกสัตว์พ่อและแม่พันธุ์ที่พัฒนาขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ผลการศึกษาและวิจัยในครั้งนี้จึงชี้ให้เห็นถึง โอกาสและความเป็นไปได้ในการเพิ่มสมรรถภาพการผลิตและพันธุกรรมของโคและสุกรในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้สัมฤทธิ์ผลได้สูงที่สุดนั้น ยังคงอยู่ที่คุณสมบัติ (ความรู้และความเข้าใจ)  การยอมรับ และทัศนคติ (การเห็นความสำคัญและการให้ความสำคัญต่อกิจกรรม) ของเกษตรกรหรือผู้ผลิตแต่ละราย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข และให้ความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโคและสุกรในประเทศไทย

  
คณะผู้วิจัย :
ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ1 , ธนาทิพย์ สุวรรณโสภี1 และ Mauricio A. Elzo2
หน่วยงาน:
1 ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2 Department of Animal Sciences, University of Florida,Gainesville, Florida, USA.