การส่งเสริมการผลิตสตรอเบอรี่เชิงการค้าในเขตภาคเหนือตอนล่าง
The Extension Strawberry Production of Commercial in North East area

       
          สตรอเบอรีจัดเป็นผลไม้เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีการปลูกกระจายกันมากที่สุดในโลก สามารถพบได้แทบทุกประเทศตั้งแต่แถบขั้วโลกลงมาถึงพื้นที่ในเขตร้อนซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งสภาพภูมิอากาศและดินที่ใช้ปลูก บางพันธุ์สามารถปลูกได้ดีในทางเหนือของโลก เช่นรัฐ Alaska หรือในทางเขตใต้ เช่นแถบ Equator ในประเทศไทยพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และในพื้นที่สูงของบางจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นจังหวัดเพชรบูรณ์  และเลย (ณรงค์ชัย  พิพัฒน์ธนวงศ์,  2543) ปัจจุบันสตรอเบอรีเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือ ผลผลิตที่ได้มีทั้งการจำหน่ายเพื่อบริโภคผลสด และส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อการแปรรูป ทั้งภายในและต่างประเทศสามารถทำรายได้ที่ดีให้แก่เกษตรกร (ประสาทพร และดนัย,  2543) ในปี  พ.ศ. 2541 มีการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศจำนวน 1,420  ตัน คิดเป็นมูลค่า 54 ล้านบาท ( กรมศุลกากร,  2542 )   แต่แนวโน้มในการส่งออกไปยังต่างประเทศลดลง ในขณะที่ความต้องการในประเทศและต่างประเทศมีความต้องการสูงขึ้นโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น (เวช  เต๋จ๊ะ,  2546) การปลูกสตรอเบอรีในประเทศไทยมีการศึกษาอย่างจริงจังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา โดยการนำของโครงการหลวง คัดเลือกพันธุ์ สตรอเบอรีที่สามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นของทางภาคเหนือได้ 3 พันธุ์ ซึ่งต่อมาในปีพ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานสตรอเบอรีพันธุ์ใหม่ทั้ง 3 พันธุ์ ให้แก่เกษตรกรนำไปปลูกบนพื้นที่สูง ได้แก่พันธุ์พระราชทาน 13  พระราชทาน 16 และพระราชทาน 20 จากนั้นได้มีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาพันธุ์และวิธีการปลูกสตรอเบอรีให้เป็นพืชทดแทนฝิ่นของชาวเขาในภาคเหนือ และนำไปส่งเสริมให้แก่เกษตรกรชาวเขาบนพื้นที่สูง โดยการนำของมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งได้พันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายพันธุ์ และมีรสชาติแตกต่างกันไปตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค พันธุ์ที่ได้ทำการส่งเสริมในปัจจุบัน ได้แก่พันธุ์พระราชทาน 50 พระราชทาน70  พระราชทาน 72 และพันธุ์เนียวโฮ (Nyoho) เป็นต้น (กฐิน  ศรีมงคล และคณะ,  2547)

          นอกจากนี้การปลูกสตรอเบอรีได้ขยายพื้นที่ไปในเขตภาคเหนือตอนล่างเพิ่มขึ้น สำหรับการผลิตสตรอเบอรีในพื้นที่นี้  เกษตรกรยังขาดความรู้ทางด้านวิชาการและประสบการณ์ในการผลิตต้นไหลที่ใช้ในการขยายพันธุ์ ปัญหาที่ประสบอยู่ในขณะนี้ คือ ความต้องการต้นไหลสตรอ
เบอรีของเกษตรกรในพื้นที่เพื่อนำไปปลูกเก็บเกี่ยวผลผลิตในฤดูกาล  ไม่ต่ำกว่า  100,000 ต้น/ปี โดยเกษตรกรได้รับต้นไหลจากสถานีวิจัยเพชรบูรณ์ แต่การผลิตต้นไหลสตรอเบอรียังไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร เมื่อถึงฤดูกาลปลูกเกษตรกรต้องไปซื้อต้นไหลสตรอเบอรีจากจังหวัดเชียงใหม่มาทำการปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการผลิตสตรอเบอรี อีกทั้งยังมีความเสียหายจากการขนส่ง รวมถึงปัญหาโรคและแมลงที่ติดมากับต้นไหลสตรอเบอรี หากเกษตรกรสามารถผลิตต้นไหลสตรอเบอรีได้เองแล้ว จะเป็นการลดต้นทุนในการผลิต และลดความเสี่ยงกับการใช้สารเคมีที่ติดมากับต้นไหล

          การส่งเสริมให้เกษตรกรในเขตภาคเหนือตอนล่าง ผลิตต้นไหลปลูกสตรอเบอรี รวมไปถึงการปลูกในเชิงการค้านั้น  การผลิตต้นไหลสตรอเบอรี 2 สายพันธุ์ โดยใช้เป็นพันธุ์ที่เป็นการค้า และเกษตรกรสามารถผลิตได้ดีในปัจจุบันนี้ ได้แก่พันธุ์พระราชทาน 50    และพันธุ์  329  (Yale)   ณ  แปลงทดลองบ้านเข็กน้อย   สถานีวิจัยเพชรบูรณ์  อำเภอเขาค้อ  จังหวัดเพชรบูรณ์  จากผลการวิจัยเห็นได้ว่า  ต้นแม่พันธุ์ทั้งสองสายพันธุ์มีการเจริญเติบโตทางลำต้นได้ดีที่สุดในกรรมวิธีที่ปลูกลงในถุงพลาสติก   รองลงมาคือในระบบไหลลอยฟ้า ซึ่งการเจริญเติบโตของทั้งสองกรรมวิธีให้ผลดีกว่าในแปลงปลูกกลางแจ้งอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ   และมีแนวโน้มว่าในการให้ผลผลิตระบบการปลูกทั้งสองกรรมวิธีให้ผลผลิตดีกว่าในแปลงปลูกกลางแจ้ง  

          จากผลการทดลองผลิตไหลแบบปลูกลงในถุงพลาสติกและแบบไหลลอยฟ้า พบว่าระบบการปลูกลงในถุงพลาสติกมีการเจริญเติบโตทางลำต้นดีที่สุดรองลงมาคือระบบไหลลอยฟ้า   สำหรับการผลิตเส้นไหลและต้นไหลต่อต้นระบบไหลลอยฟ้าจะให้ผลดีที่สุด  รองลงมาคือปลูกลงในถุงพลาสติก  ซึ่งให้ผลไม่แตกต่างกันในทางสถิติ  เมื่อพิจารณาเรื่องต้นทุนการผลิตประกอบการตัดสินใจลงทุน  พบว่าต้นทุนการผลิตของรูปแบบการปลูกลงในถุงพลาสติกมีต้นทุนต่ำที่สุด   ในขณะเดียวกันก็ให้ผลที่ดีทั้งในด้านการเจริญเติบโตและการต้นต้นไหล  เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมเกษตรกรในระยะเริ่มแรกที่เริ่มต้นปลูกและมีทุนไม่มากนัก  สำหรับระบบไหลลอยฟ้ามีการลงทุนสูงในปีที่ 1  แต่สามารถผลิตต้นไหลและเก็บผลผลิตได้นาน  2-3  ปี     ควรแนะนำเกษตรกรที่ปลูกสตรอเบอรีที่มีกำลังในการลงทุนหรือเริ่มมีรายได้จากการปลูกสตรอเบอรีแล้ว เพื่อพัฒนาระบบการปลูกให้มีคุณภาพมากขึ้น

  
คณะผู้วิจัย :
เวช  เต๋จ๊ะ1 ประภาส  ช่างเหล็ก1 ณรงค์ชัย  พิพัฒน์ธนวงศ์2 เบ็ญจารัชด  ทองยืน2
วีระยุทธ  แสนยากุล1 และวิศัลย์  เธียรเสถียรพงศ์1
หน่วยงาน :
สถานีวิจัยเพชรบูรณ์1 สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2
โทร. ภายใน 02-579-6959, 081-885-8615