การวิจัยและพัฒนาข้าวฟ่างหวานเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
Research and Development of Sweet Sorghum for Commercial Utilization

          

                           ข้าวฟ่างหวาน (Sorghum: Sorghum bicolor (L.) Moench) เป็นธัญพืชชนิดเดียวกับข้าวฟ่างเมล็ด แต่มีน้ำหวานและความหวานในลำต้นสูงคล้ายอ้อย จึงใช้ประโยชน์จากน้ำคั้นจากลำต้น ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้ประโยชน์จากเมล็ดได้ด้วย น้ำหวานจากลำต้นข้าวฟ่างหวานใช้ทำเป็นน้ำตาล (jaggery) น้ำเชื่อม (syrup) หรือหมักเพื่อผลิตแอลกอฮอล์หรือ เอทานอล(ethanol) เนื่องจากข้าวฟ่างหวานเป็นพืชไร่ที่ปลูกง่าย สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี มีความทนทานต่อความแห้งแล้ง ไวต่อแสงเล็กน้อย อายุเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 90-120 วัน ข้าวฟ่างหวานจึงเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพในการปลูกเป็นพืชพลังงานทดแทน คือใช้ผลิตเอทานอลในช่วงที่ไม่มีวัตถุดิบจากโรงงานน้ำตาลจากอ้อยที่ปลูกได้ปีละครั้ง

            แนวทาวทางที่จะช่วยให้การใช้ข้าวฟ่างหวานเป็นพืชพลังงานทดแทน หรือใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่ากับการลงทุน หรือใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์ คือการพัฒนาพันธุ์ข้าวฟ่างหวาน และวิธีการเพาะปลูก รวมถึงการขนส่งวัตถุดิบสู่โรงงาน ตลอดจนกระบวนการจัดการผลผลิตข้าวฟ่างหวานอย่างเหมาะสม ในส่วนของการปรับปรุงพันธุ์ข้าวฟ่างหวานนั้น โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวฟ่างของศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์ข้าวฟ่างหวานพันธุ์แท้ (pure line) ที่ให้ผลผลิตต้นสดสูง มีน้ำคั้นมาก และมีความหวานสูง โดยวิธีการคัดเลือกพันธุ์แบบจดประวัติ (pedigree selection) โดยการนำข้าวฟ่างหวานจากต่างประเทศ 5 พันธุ์ คือ BJ 248, Wray, Keller, Bailey, และ Theis มาผสมพันธุ์กับ พันธุ์ข้าวฟ่างหวานที่ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย 5 พันธุ์ คือ SS1, SS2, SS3, SS6, และ SS8 ทำการคัดเลือกต้นที่ให้ผลผลิตต้นสด น้ำคั้น และความหวานสูง ไป 7 ชั่ว แล้วจึงปลูกทดสอบผลผลิตและคุณภาพที่ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ คัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีเด่น 5 สายพันธุ์ คือ SW 1, SW 2, SW 3, SW 4 และ SW 5 ซึ่งมีลักษณะดังนี้

สายพันธุ์

อายุวันออกดอก (วัน)

ความสูงต้น (ซม.)

เส้นผ่าศูนย์
กลางต้น
(ม.ม.)

ผลผลิตต้นสด (ตัน/ไร่)

ผลผลิตเมล็ด
(กก./ไร่)

ปริมาณน้ำหวาน (มล.,5 ต้น)

ความหวาน (บริกซ์)

SW 1

66

295

25

10.82

541

1,059

15.2

SW 2

59

358

19

12.48

576

1,385

16.5

SW 3

58

325

19

8.57

630

885

15.1

SW 4

69

312

26

11.65

721

1,630

12.5

SW 5

57

360

23

11.10

625

1,304

19.3



1
2

          อย่างไรก็ตาม ผลผลิตต้นสดของข้าวฟ่างหวานพันธุ์แท้ที่พัฒนาขึ้นมานั้น ยังค่อนข้างต่ำ การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าวฟ่างหวานโดยการใช้พันธุ์ลูกผสมจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิต และผลตอบแทนให้เกษตรกรได้ ทางโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวฟ่างของศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ จึงได้พัฒนาสายพันธุ์สายพันธุ์แม่ ซึ่งเป็นสายพันธุ์เพศผู้เป็นหมันแบบ cytoplasmic genetic male sterile ขึ้น โดยวิธีการผสมกลับ (backcross) โดยใช้ข้าวฟ่างหวานจากต่างประเทศ มาผสมพันธุ์กับสายพันธุ์รักษาความเป็นหมัน (B-line) แล้วผสมกลับไปยังสายพันธุ์เพศผู้เป็นหมัน เพื่อพัฒนาสายพันธุ์เพศผู้เป็นหมันสายพันธุ์ใหม่ ขณะนี้ได้ทำการผสมกลับไปแล้ว 3 ครั้ง ได้สายพันธุ์เพศผู้เป็นหมันที่พร้อมจะนำไปทดสอบสมรรถนะการผสม (combining ability) และลักษณะทางการเกษตร จำนวน 114 สายพันธุ์ โดยมีลักษณะทางการเกษตรและคุณภาพความหวานดังนี้

                1. อายุวันออกดอก                               55-64                 วัน         
                2. ความสูงต้น                                    165-310              ซม.
                3. เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น                    17-30                  ม.ม.
                4. ผลผลิตต้นสดที่ลอกกาบใบ              6.66-21.08          ตัน/ไร่
                5. ผลผลิตเมล็ด                                 158-518               กก./ไร่
                6. ความหวานของน้ำคั้น                      11.6-20.4             บริกซ์

 

  
คณะผู้วิจัย :
ธำรงศิลป โพธิสูง สมชาย ปิยพันธวานนท์ และ ถวิล นิลพยัคฆ์
หน่วยงาน :
ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 044 361 770-5