เทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพการขยายพันธุ์มะนาวเชิงการค้า

       

          ปัจจุบันราคาผลมะนาวจะขยับราคาสูงขึ้นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์  ถึง เดือนเมษายน   จึงเป็นช่วงที่มีการผลิตมะนาวนอกฤดู ทำให้เกษตรกรและประชาชนโดยทั่วไป มีความต้องการซื้อหากิ่งพันธุ์มะนาวที่มีคุณภาพเป็นจำนวนมาก  แต่การเตรียมกิ่งพันธุ์มะนาวให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรนั้นจะต้องมีการวางแผนการผลิตกิ่งพันธุ์มะนาว เทคนิคและวิธีการผลิตกิ่งพันธุ์มะนาว   ให้ได้ต้นมะนาวที่สมบูรณ์สามารถให้ผลผลิตได้ดีตามความต้องการของตลาด  ดังนั้นการเพิ่มทักษะการขยายพันธุ์มะนาวให้แก่เกษตรกรตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการผลิตกิ่งพันธุ์มะนาว เทคนิคและวิธีการผลิตกิ่งพันธุ์มะนาว   จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเกษตรกรสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่และสร้างอาชีพให้แก่ครัวเรือนและชุมชนได้ต่อไป

             ความต้องการกิ่งพันธุ์มะนาวมีความสัมพันธ์กับราคาผลผลิตมะนาวตามท้องตลาด ซึ่งความต้องการกิ่งพันธุ์มะนาวจะเริ่มตั้งแต่ช่วงที่1 เดือนกุมภาพันธุ์ถึงเดือนเมษายน และช่วงที่2 ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมถึงปลายเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตามในช่วงรอยต่อของช่วงที่1และ2 คือ เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฏาคม ที่มีความต้องการในปริมาณกิ่งพันธุ์มะนาวไม่มากนั้น

            ก็สามารถนำกิ่งพันธุ์มะนาวที่เหลือจากการจำหน่ายในช่วงที่1มาบำรุง และจำหน่ายในช่วงที่2ได้ ซึ่งกิ่งพันธุ์มะนาวจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและสามารถเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเพิ่มขึ้นด้วย การผลิตกิ่งพันธุ์มะนาวให้ได้ตามความต้องการของตลาดนั้นจำเป็นจะต้องมีการวางแผนการผลิตและกิ่งพันธุ์มะนาวที่จำหน่ายนั้นจะต้องมีคุณภาพ
            การขยายพันธุ์มะนาว เป็นวิธีการเพิ่มปริมาณของกิ่งพันธุ์มะนาวให้มากขึ้น ส่วนการเพาะเมล็ดนั้นมะนาวนั้นไม่นิยมเพราะจะมีการกลายพันธุ์  แต่ยังมีการเพาะเมล็ดมะนาวเพื่อให้ได้ต้นตอที่แข็งแรงและมีรากแก้ว  เพื่อใช้เป็นต้นตอในการขยายพันธุ์
           การตัดชำกิ่งมะนาว  การตัดชำ คือ การตัดส่วนส่วนของกิ่งพันธุ์มะนาวที่มีสภาพต้นที่สมบูรณ์ แล้วนำมาชำไว้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดรากและยอด พัฒนาเป็นพืชต้นใหม่ โดยที่ต้นใหม่มีลักษณะเหมือนต้นแม่ทุกประการและจะช่วยร่นระยะเวลาในการออกดอกติดผลให้เร็วขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการเพาะเมล็ด มะนาวที่ปลูกด้วยกิ่งปักชำใช้เวลา  2-3 ปี  ก็จะให้ผลผลิต ส่วนการเพาะเมล็ดอาจใช้ระยะเวลามากกว่าการปักชำจึงไม่เหมาะสำหรับการผลิตมะนาวเชิงการค้า
            การตัดชำกิ่งอ่อน (Soft wood cutting) คือ การตัดกิ่งที่เพิ่งแตกออกมาใหม่ มีลักษณะอ่อนและอวบน้ำ ความสำเร็จในการขยายพันธุ์โดยการตัดชำกิ่งอ่อนขึ้นอยู่กับอาหารและฮอร์โมนของพืช กล่าวคืออาหาร ที่มีอยู่ในกิ่งอ่อนหรือยอดของพืชไม่ใช่ปัจจัยอันสำคัญ เพราะอาหารในส่วนของพืชดังกล่าวมีไม่มากพอ ดังนั้นอาหารที่จะนำมาสร้างรากจะต้องได้จากการสังเคราะห์แสง ด้วยเหตุนี้การตัดชำกิ่งอ่อนจะต้องมีใบติด นอกจากนั้นปัจจัยอื่นๆ คือ อุณหภูมิ ความชื้น และแสงที่พอเหมาะก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญเช่นกัน
            การตัดชำกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่ ( Semi hard wood cutting) กิ่งชนิดนี้เป็นกิ่งที่มีการเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว และมีเนื้อไม้เริ่มแข็งเหมาะแก่การผลิตมะนาวเชิงการค้า สำหรับกิ่งที่ใช้ในการตัดชำ ควรริดใบแก่หรือใบล่างออกเหลือไว้เฉพาะใบที่เจริญเต็มที่และใบที่อยู่ด้านยอดประมาณ  4-5 ใบ
วิธีการตัดชำกิ่ง
         1.เมื่อตัดกิ่งพันธุ์มะนาวมาแล้วควรพ่นน้ำให้แก่กิ่งพันธุ์มะนาวเป็นระยะ เพื่อช่วยลดการคายน้ำ
         2. เตรียมกิ่งขนาดยาวโดยทั่วไปประมาณ  6 – 9   นิ้ว ขนาดของกิ่งประมาณ  1   นิ้วโดยรอยตัดควรอยู่บนข้อและใกล้กับข้อให้มากที่สุด
         3. กิ่งจะต้องมีข้อจำนวน ประมาณ 3 - 5 ข้อ และมีใบอยู่ 4-6 ใบ
         4. โคนกิ่งควรตัดเป็นรูปปากฉลามหรือฝานบวบ จะมีรอยแผลช้ำบริเวณรอยตัดให้ใช้คัดเตอร์ตัดรอยช้ำออกซ้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการออกราก
         5.ใช้คัดเตอร์กรีดบริเวณโคนกิ่งในแนวตั้งความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร 3-4 รอย
         6.หลังจากนั้นนำกิ่งมะนาวแช่ลงในน้ำที่ผสมสารป้องกันเชี้อรา และเชื้อแบคทีเรีย เพื่อไม่ให้เชื้อราและเชื้อแบคทีเรียเข้าทางรอยแผล
         7.นำกิ่งพันธุ์จุ่มลงในสารเร่งการเกิดรากจำพวก NAA  และ IBA เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการออกรากของกิ่งพันธุ์มะนาว 
         8. หลังจากเตรียมกิ่งพันธุ์มะนาวเสร็จแล้ว ใช้ไม้ที่มีขนาดเล็กหรือเท่ากับขนาดของกิ่งปักชำ แทงลงในวัสดุปลูกก่อนนำกิ่งลงปักชำ เพื่อป้องกันการเกิดรอยช้ำบริเวณแผล
          9.  ฝังกิ่งลึก  ½  ส่วน ของความยาวกิ่ง และที่สำคัญคือต้องกดบริเวณโคนกิ่งให้แน่น 
          10.  ใช้วัสดุพรางแสง ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก และต้องบังกระบะปักชำไม่ให้มีลมมาปะทะเพื่อไม่ให้กิ่งปักชำขยับและลดการคายน้ำของกิ่งพันธุ์มะนาว
          11.สังเกตดูว่าวัสดุเพาะชำหรือน้ำที่จับบริเวณใบแห้งเกินไปหรือไม่ ถ้าแห้งเกินไปควรพ่นน้ำให้ถี่ขึ้น

ปัจจัยที่จะทำให้กิ่งตัดชำออกรากดี
สภาพภายในกิ่ง  เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือมีอยู่ในกิ่งตัดชำนั้นเอง ได้แก่สภาพดังต่อไปนี้
              1. การเลือกกิ่ง  ควรจะเลือกกิ่งที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
                  1.1 เลือกกิ่งที่มีอาหารมาก  เพราะอาหารภายในกิ่งจำเป็นในการเกิดรากและการเจริญของกิ่งสำหรับการตัดชำกิ่งแก่ไม่มีใบ   อาหารจะสะสมอยู่ภายในกิ่ง  ซึ่งกิ่งที่แก่มาก (ไม่เกิน ๑ ปี) อาหารยิ่งสะสมอยู่ภายในกิ่งมาก การเกิดรากและ แตกยอดก็จะง่ายขึ้น
                 1.2 อายุของต้นพืชที่จะนำมาตัดชำควรเลือกกิ่งจากต้นที่มีอายุน้อย (นับจากเพาะเมล็ด)เพราะกิ่งจากต้นที่มีอายุน้อยจะออกรากได้ง่ายกว่ากิ่งที่นำมาจากต้นที่มีอายุมากๆ
                 1.3 เลือกชนิดของกิ่งให้เหมาะกับการเกิดราก โดยพิจารณาดังนี้ คือถ้าเป็นการตัดชำกิ่งแก่ ควรเลือกกิ่งข้างมากกว่ากิ่งกระโดง เพราะกิ่งข้างมีอาหารภายในกิ่งมากกว่ากิ่งกระโดง  แต่ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งอ่อนหรือกิ่งมีใบ การใช้กิ่งกระโดงจะออกรากง่ายกว่ากิ่งข้าง  
                 1.4  การเลือกฤดูการตัดชำกิ่งให้เหมาะ  คือ เป็นการตัดชำกิ่งแก่ที่ไม่มีใบ  ควรจะตัดชำกิ่งในระยะที่กิ่งพักการเจริญ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตาบนกิ่งเริ่มจะเจริญใหม่อีกครั้งหนึ่ง  ส่วนการตัดชำกิ่งอ่อนนั้น อาจทำได้เมื่อกิ่งเจริญได้ระยะหนึ่งโดยกิ่งที่เจริญ นั้นมีความแข็ง (firmness)  พอสมควร และมีใบเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว  สำหรับการตัดชำไม้ผลหรือไม้ประดับบางชนิดที่ออกรากค่อนข้างยากการใช้กิ่งที่แข็ง  กลม  และมีเส้นลายบนกิ่งเล็กน้อยจะออกรากได้ดีกว่าใช้กิ่งค่อนข้างอ่อน
                   1.5 การทำแผลโคนกิ่ง  แผลโคนกิ่งจะช่วยให้กิ่งมีเนื้อที่ที่จะเกิดรากได้มากขึ้น นอกจากจะช่วยให้กิ่งเกิดจุดกำเนิดรากได้ง่ายแล้วยังช่วยให้กิ่งดูดน้ำและฮอร์โมนได้มากขึ้นอีกด้วย
                 1.6 การใช้ฮอร์โมนและสารบางอย่างช่วยการออกราก  ฮอร์โมนช่วยให้กิ่งตัดชำออกรากดีขึ้น  ช่วยให้เกิดรากมาก ออกรากไวและรากเจริญได้เร็ว สารฮอร์โมนสังเคราะห์ที่เป็นตัวสารเคมีที่ใช้ผสมอยู่ในชื่อฮอร์โมนการค้าต่างๆ มักจะมีสารฮอร์โมนอยู่สองชนิด คือไอบีเอ(IBA)หรือชื่อเต็มคือ กรดอินโดลบิวไทริค (indolebutyric acid) และ เอ็นเอเอ (NAA) หรือชื่อเต็มคือกรดแนฟทาลีนอะซีติก (naphthaleneaceticacid) สารฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้เป็นสารที่เสื่อมช้าคือไม่สูญเสียง่าย  แต่ในการใช้มีข้อที่ต้องคำนึงถึงก็คือ การใช้ฮอร์โมนกับพืชใด ควรจะรู้ความเข้มข้นที่แน่นอนและให้พอเหมาะกับพืช         

การจัดสภาพแวดล้อมให้กับกิ่งตัดชำในระหว่างรอการออกราก
                    1. การจัดความชื้นในอากาศรอบๆ  กิ่งตัดชำความชื้นในอากาศเกี่ยวข้องกับ การตัดชำโดยที่กิ่งตัดชำเหล่านี้จำเป็นต้องรักษาใบไว้ปรุงอาหาร เพื่อช่วยการออกราก ฉะนั้นจึงต้องรักษาใบไว้ให้สดและติดอยู่กับกิ่งตลอดไป แต่การที่ใบจะสดอยู่ได้ก็จะต้องมีความชื้นในอากาศรอบๆ ใบสูงพอ น้ำจากใบจึงจะไม่คายออกมาและใบก็จะไม่เหี่ยว   เราควรฉีดหรือพ่นละอองน้ำให้จับใบอยู่ตลอดเวลาหรือเป็น ระยะ ซึ่งวิธีการหลังนี้อาจใช้คนช่วยฉีดพ่น  หรือโดยการใช้เครื่องพ่นน้ำอัตโนมัติ (autometic mist) ก็ได้
                    2. แสงสว่างกับการออกรากแสงสว่างมีความจำเป็นสำหรับการตัดชำกิ่งพืชที่ต้องมีใบติด เพราะแสงสว่างจำเป็นในการปรุงอาหาร  รวมทั้งสร้างสารฮอร์โมนเพื่อช่วยการออกรากของกิ่งตัดชำ การให้กิ่งตัดชำได้รับแสงมากเท่าไร ก็จะช่วยให้การออกรากดีขึ้น

                    3. วัตถุที่ใช้ในการตัดชำการออกรากของกิ่งตัดชำ จะไม่เกี่ยวกับอาหารที่มีอยู่ในวัตถุปักชำนั้น  แต่จะเกี่ยวข้องกับความชื้น (moisture) และอากาศ (areation) ที่มีอยู่ในวัตถุปักชำนั้น โดยที่วัตถุปักชำแต่ละชนิดจะดูดความชื้นและมีอากาศผ่านเข้าออกได้ต่างกัน  ซึ่งจะเป็นผลให้การออกรากแตกต่างกันไปด้วย  วัตถุที่จะช่วยให้การออกรากเกิดได้ดี  จะต้องดูดความชื้นได้มาก และมีอากาศผ่านได้สะดวก สำหรับวัตถุปักชำที่นิยมใช้กันทั่วๆ ไป ได้แก่ทรายหยาบ  ถ่านแกลบที่ล้างด่างหมดแล้ว หรือส่วนผสมของทรายหยาบกับถ่านแกลบอย่างละเท่ากัน

สถานเพาะชำไม้ผลที่ดีควรมีลักษณะดังนี้คือ

             1.มีสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นมะนาวที่นำมาปลูก มีทิศทางและความเข้มของแสง ระยะเวลาที่ได้รับแสงที่เหมาะสม  การให้น้ำชลประทานปริมาณและความชื้นสัมพันธ์ในอากาศความเร็วและทิศทางลม ระดับอุณหภูมิโดยเฉลี่ย ความอุดมสมบูรณ์ของดิน รวมไปถึงการมีอยู่ของโรคและแมลงศัตรูพืช วัชพืชและศัตรูอื่นๆด้วย
             2.สถานเพาะชำสามารถปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับความต้องการของต้นมะนาวได้เช่น ต้นมะนาวที่มีช่วงอายุต่างกัน อาจมีความต้องการสภาพแวดล้อมต่างกันไปเช่นต้องการแสงมากน้อยต่างกัน ต้องการน้ำในปริมาณที่ไม่เท่ากัน หากสามารถปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในสถานเพาะชำให้เหมาะสมกับความต้องการในขณะนั้นได้ ก็จะทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตแข็งแรงได้ดี
             3.มีพื้นที่เพียงพอสำหรับต้นไม้และพื้นที่ใช้งานอื่นๆและใช้พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
             4.ไม่มีปัญหาด้านกายภาพ เช่น น้ำท่วมขัง ดินเค็ม พื้นที่ลาดเทมากเกินไป มีร่มเงา ไม้ใหญ่ อันเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของต้นมะนาว
             5.ตั้งอยู่ใกล้ทางคมนาคม ขนส่งต้นไม้สะดวก มีการวางแผนผังภายในที่ดี มีที่ตั้งของหน่วยงานย่อยให้สอดคล้องกับวิธีการปฏิบัติงาน
             6.โรงเรือนมีอายุการใช้งานตามที่ต้องการและมีความต้านทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในลักษณะวิกฤติเช่น มีลมพายุ อุณหภูมิสูง หรือมีฝนตกหนัก และมีต้นทุนการจัดตั้งที่เหมาะสมต่อการใช้งาน

 

 

  
คณะผู้วิจัย :
สามารถ เศรษฐวิทยา,กาญจน์ จันทร์ลอย,นางมณฑา วงศ์มณีโรจน์ และรวี เสรฐภักดี
หน่วยงาน :
ศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขร้อน  สถาบันวิจัยและพัฒนากำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม
โทร. 083-9648-399