พันธุ์น้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสมในประเทศไทย และแนวทางการผลิตน้อยหน่าและ
น้อยหน่าลูกผสมตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม(GAP)
Cultivars of Sugar Apple and Annona Hybrids in Thailand  

 and Guidelines of Good Agricultural Practices(GAP) for Sugar Apple and Annona Hybrids
 
       

            น้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสม เป็นไม้ผลที่ปรับตัวได้ดีนิยมปลูกในเขตร้อนและเขตอบอุ่นในส่วนต่างๆของโลก  มีรสชาติดีนิยมบริโภคทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ  พื้นที่ปลูกน้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสมของประเทศไทยโดยรวมปี 2546 เท่ากับ 232,579 ไร่ ปลูกกันมากในเขตพื้นที่อำเภอปากช่อง  จังหวัดนครราชสีมา   ซึ่งเป็นแหล่งปลูกที่มีชื่อเสียงและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  ปลูกน้อยหน่าพันธุ์หนังและพันธุ์ฝ้ายมากที่สุด   ปัจจุบันน้อยหน่าลูกผสมเป็นพันธุ์ใหม่ที่เกษตรกรให้ความสนใจและปลูกกันเพิ่มมากขึ้นในทั่วทุกภาคของประเทศ  เป็นพันธุ์ที่ทำรายได้สูงให้กับเกษตรกรเนื่องจากให้ผลผลิตสูง   ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้บริโภคภายในประเทศและส่งออกประเทศใกล้เคียงเช่น จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนามและฮ่องกงเป็นต้น  การปลูกน้อยหน่าในอดีต   นิยมปลูกด้วย ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพของผลไม่ตรงตามพันธุ์ เช่นผลมีขนาดเล็กลง เนื้อน้อย และเมล็ดมากกว่าพันธุ์เดิม ส่งผลให้การส่งออกไปขายยังต่างประเทศมีปริมาณลดลง  สาเหตุส่วนหนึ่งนั้นมาจากการที่เกษตรกรขาดการใช้พันธุ์ดีที่ได้จากการคัดเลือกหรือปรับปรุงพันธุ์ รวมทั้งวิธีการขยายพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม 

              พันธุ์น้อยหน่า  และน้อยหน่าลูกผสมในประเทศไทย  สถานีวิจัยปากช่องเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แหล่งปลูกน้อยหน่าที่สำคัญของประเทศ  ได้เริ่มโครงการรวบรวมเชื้อพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์น้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสม ในปี พ.ศ. 2548  ด้วยงบสนับสนุนการวิจัย มก.  โดยการสำรวจและเก็บตัวอย่างพันธุ์ปลูกจากแหล่งปลูกทั่วประเทศ  จากพันธุ์ที่ชนะเลิศจากการประกวดในแต่ละพื้นที่ พันธุ์กลายเองจากธรรมชาติที่พบในแปลงเกษตรกร  และพันธุ์ที่ปรับปรุงพันธุ์ในสถานีวิจัยปากช่อง  เพื่อรวบรวมเชื้อพันธุ์ดีไว้ในแปลงรวบรวมพันธุ์  สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการปรับปรุงพันธุ์  และคัดเลือกสายพันธุ์ดีสำหรับส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต่อไปในอนาคต  ในปัจจุบันมีสายพันธุ์น้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสมจำนวนมากกว่า  100 สายพันธุ์   ปลูกไว้ในลักษณะแปลงรวบรวมพันธุ์ขนาดใหญ่ในสถานีวิจัยปากช่อง  พร้อมกับจำแนกสายพันธุ์เบื้องต้น  ตามลักษณะสีผิวของผล  สีเนื้อ  สีใบ ลักษณะของผลภายใน และภายนอกเป็นต้น แล้วแบ่งออกเป็น  4  กลุ่มพันธุ์ คือ  

                1.  น้อยหน่าพื้นเมืองหรือน้อยหน่าฝ้าย  แบ่งออกได้  2 สายพันธุ์  ตามลักษณะของสีผล  คือ  น้อยหน่าฝ้ายเขียวซึ่งมีผลสีเขียว  กับน้อยหน่าฝ้ายครั่งมีผลสีม่วงเข้ม ลักษณะภายในผล  เนื้อหยาบเป็นทราย ยุ่ยไม่จับตัวเป็นก้อน  เนื้อมีสีขาวในน้อยหน่าฝ้ายเขียวและสีขาวอมชมพูในน้อยหน่าฝ้ายครั่ง  เมื่อผลสุกเปลือกไม่ล่อนออกจากเนื้อเละง่าย  มีกลิ่นหอมรสหวาน 

               2.  น้อยหน่าหนังหรือน้อยหน่าญวน  แบ่งออกได้  3  สายพันธุ์  คือ  น้อยหน่าหนังเขียวมีผลสีเขียว  น้อยหน่าหนังทองเกิดจากการเพาะเมล็ดแล้วกลายพันธุ์ผลมีสีเหลืองทอง  และน้อยหน่าหนังครั่งเกิดจากการเพาะเมล็ดแล้วมีการกลายพันธุ์เช่นเดียวกับหนังทองแต่มีผลสีม่วงเข้มคล้ายน้อยหน่าฝ้ายครั่ง  ลักษณะภายในผล เนื้อมากเหนียวละเอียด สีขาวในน้อยหน่าหนังเขียว สีขาวอมชมพูในน้อยหน่าหนังครั่ง และสีขาวอมเหลืองในน้อยหน่าหนังทอง    เมื่อผลสุกเปลือกล่อนเป็นแผ่นลอกจากเนื้อได้  กลิ่นหอมรสหวาน

               3.  น้อยหน่าลูกผสมหรืออะติมัวย่า  เป็นลูกผสมที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างน้อยหน่า ( A. squamosa Linn.) กับ เชริมัวย่า (A. cherimola Mill.)  มีชื่อสามัญว่า atemoya  ปัจจุบันสถานีวิจัยปากช่อง ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์น้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสม  และได้คัดเลือกลูกผสมที่ตรงตามวัตถุประสงค์รวบรวมไว้ในแปลงฯ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น ขนาดของลำต้น ขนาดใบ  ขนาดผล ผิวผล และลักษณะเนื้อเป็นต้น

               4.  ลูกผสมอื่นๆ  เป็นกลุ่มพันธุ์ที่กลายพันธุ์เองจากธรรมชาติที่พบในแปลงเกษตรกร  ไม่สามารถทราบชื่อพ่อแม่พันธุ์หรือที่มาของพันธุ์ได้  ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับกลุ่มน้อยหน่าลูกผสมหรืออะติมัวย่า

แนวทางการผลิตน้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสมตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม(GAP)              

                ในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ  ได้ให้ความสนใจในการผลิตทางการเกษตรดีที่เหมาะสม GAPเป็นอย่างมาก  การปฏิบัติตามข้อกำหนดของ GAP จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของผลผลิตและยังช่วยเพิ่มมูลค่าของผลผลิตได้อีกด้วย  พืชหลายชนิดที่มีข้อกำหนดของ  GAP แล้ว  เช่น มะม่วง  ทุเรียน  เงาะ  มังคุด  ลำไย  ลิ้นจี่  ส้มโอ  ส้มเขียวหวาน มะละกอ  และกล้วยไม้เป็นต้น   แต่ในน้อยหน่ายังไม่มีรายงานการเสนอแนวทางการผลิตตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม(GAP)  ดังนั้นการนำเสนอในครั้งนี้จึงเป็นเพียงแนวทางการปฏิบัติ  โดยการนำเอาแนวทางการปฏิบัติในการผลิตพืชคุณภาพตามระบบ GAP ของพืชอื่นๆ  และจากรายงานที่มีผู้เสนอไว้มาปรับใช้  สร้างเป็นแนวทางการผลิตน้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสมตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม  เพื่อให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้จริง  อันที่จะส่งผลให้ได้ผลผลิตที่ได้มีทั้งปริมาณและคุณภาพ  แต่การทำ GAP ในพืชชนิดเดียวกันที่ปลูกต่างสถานที่ก็อาจแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมและวิธีการดูแลรักษาที่ต่างกัน  การนำวิธีการในแหล่งหนึ่งไปใช้ในแหล่งปลูกอื่นจึงควรมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและการดูแลรักษาของแหล่งปลูกนั้นๆ  แนวทางการผลิตน้อยหน่าและน้อยหน่าลูกผสมตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสมนี้ จึงเป็นแนวทางการผลิตเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพดี ตรงตามมาตรฐาน ผลผลิตสูงคุ้มค่าการลงทุน ขบวนการผลิตปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ไม่เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีความยั่งยืนทางการเกษตร  ดังมีรายละเอียดสามารถสรุปได้ดังนี้คือ

               1.  แหล่งปลูกและสภาพพื้นที่ปลูก  น้อยหน่าชอบอากาศร้อนแห้งไม่หนาวจัด  ปริมาณน้ำฝน 800 – 1,300 มิลลิเมตร/ปี อุณหภูมิ 10-40  องศาเซลเซียส  มีแสงแดดจัดส่องได้ทั่วถึง พื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลไปจนถึงที่ระดับความสูง 1,000  เมตร ดินและสภาพดินปลูกมีความอุดมสมบูรณ์สูง หน้าดินลึกตั้งแต่ 40 เซนติเมตรขึ้นไปชอบดินร่วนทราย  หรือดินร่วนเหนียว มีการระบายน้ำดีไม่มีน้ำท่วมขัง  ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินระหว่าง  5.5 - 7.4  มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับใช้ตลอดฤดูกาลหรือในช่วงฝนทิ้งช่วงสะอาดปราศจากสารพิษปนเปื้อน

               2.  พันธุ์   ควรเลือกปลูกพันธุ์ที่มีลักษณะตรงตามพันธุ์และตลาดต้องการเช่น น้อยหน่าควรปลูกน้อยหน่าหนังเขียวและฝ้ายเขียวที่ผ่านการคัดพันธุ์แล้ว  และน้อยหน่าลูกผสมปลูกพันธุ์การค้าเช่นพันธุ์เพชรปากช่อง  เพราะเจริญเติบโตได้ดีเหมาะกับสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ของประเทศไทยต้นพันธุ์ที่ใช้ปลูกได้จากการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการไม่ใช้เพศเช่น การต่อกิ่งบนต้นตอน้อยหน่าเพาะเมล็ด  มีความสมบูรณ์  อายุอยู่ระหว่าง 6 - 12 เดือน  

               3.  การปลูก  ก่อนปลูกควรนำดินไปวิเคราะห์เพื่อปรับสภาพดิน หลังจากนั้นไถตากดินทิ้งไว้อย่างน้อย  7 วัน   ระยะปลูก 4 x 4  เมตรจำนวน 100  ต้น/ไร่   วิธีการปลูก ตัดยอดออกเล็กน้อยเพื่อเร่งให้แตกพุ่มใหม่และลดการคายน้ำแล้วตั้งต้นให้ตรงปักไม้ค้ำยันกลบดินให้แน่นใช้ฟาง แกลบ เศษหญ้าแห้งคลุมหน้าดินแล้วรดน้ำให้ชุ่ม ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เพราะจะทำให้ต้นน้อยหน่าเจริญเติบโตและตั้งตัวได้เร็ว

               4.  การดูแลรักษา   การให้ปุ๋ยควรใช้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยวิทยาศาสตร์ร่วมกัน  การให้น้ำ   ควรรักษาความชื้นในสวนให้อยู่ระหว่าง 70 - 80 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้การผสมเกสรติดผลสูงขึ้นให้ผลเจริญเติบโตดีเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าปกติ  ขนาดของผล จำนวนผล และคุณภาพของผลดีกว่าปล่อยให้ผสมตามธรรมชาติ  มีการปลิดผลอ่อนให้เหลือผลที่สมบูรณ์  สำหรับน้อยหน่า 2 ผล/กิ่ง  และน้อยหน่าลูกผสม 1 ผล/กิ่ง  แล้วห่อผลก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย  1 เดือนเพื่อป้องกันแมลงวันทอง

               5.  สุขลักษณะและความสะอาด  มีการกำจัดวัชพืชอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการสะสมโรคและแมลง  สะดวกต่อการเข้าไปเก็บเกี่ยว และไม่ให้เศษวัชพืชติดไปกับผลผลิต  สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีควรเก็บไว้ในที่ปลอดภัย ห่างไกลจากอาหาร แหล่งน้ำ สัตว์เลี้ยงและที่อยู่อาศัยของเกษตรกร  เครื่องมือและอุปกรณ์เครื่องทุ่นแรงต่างๆ  ควรทำความสะอาดและเก็บให้เรียบร้อยหลังใช้งาน  หากพบว่าชำรุดควรซ่อมบำรุงให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ในครั้งต่อไป และกำจัดวัสดุและภาชนะบรรจุสารเคมีที่เหลือใช้อย่างถูกวิธี

               6.  ศัตรูและการป้องกันกำจัด
แมลงและการป้องกันกำจัด  แมลงที่สำคัญคือ  แมลงวันผลไม้  หนอนเจาะกิ่ง  ด้วงกินใบหรือแมลงค่อมทอง   ด้วงทำลายดอก  หนอนผีเสื้อเจาะผล  เพลี้ยแป้ง  ควรหมั่นตรวจแปลงอยู่เสมอโดยเฉพาะแมลงวันทองระบาดในช่วงผลแก่เริ่มสุก  ถ้าหากมีการระบาดควรใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน หรือถ้าใช้สารเคมีควรเก็บผลผลิตหลังการใช้สารเคมีอย่างน้อย  30 วัน

                  โรคและการป้องกันกำจัด   โรคที่สำคัญคือ โรคกิ่งแห้ง  โรคมัมมี่  โรครากเน่า โรคผลเน่าดำ และโรคแอนแทรคโนส    หากพบการระบาดโดยเฉพาะโรคแอนแทรคโนสฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดรา ร่วมกับการตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง ลมและแสงแดดส่องได้ทั่วถึง

                   วัชพืชและการป้องกันกำจัด  วัชพืชที่สำคัญมีทั้งชนิดฤดูเดียวและชนิดข้ามปี การป้องกันกำจัด เช่นใช้จอบดาย  เครื่องตัดหญ้า  สารควบคุม หรือใช้ทั้งสามวิธีร่วมกัน

               7.  คำแนะนำการใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและเหมาะสม   ควรตรวจซ่อมอุปกรณ์เครื่องพ่นสารเคมีอย่าให้มีรอยรั่ว  สวมเสื้อผ้าและอุปกรณ์การป้องกันอันตรายจากสารพิษ  อ่านสลากคำแนะนำเพื่อทราบคุณสมบัติและการใช้สารเคมีก่อนการปฏิบัติงานทุกครั้ง   ฉีดพ่นในช่วงเช้าหรือเย็นขณะลมสงบ  เตรียมสารเคมีให้ใช้ให้หมดในคราวเดียวกัน   ปิดฝาภาชนะบรรจุสารเคมีให้สนิทเมื่อเลิกใช้แล้วเก็บไว้ในที่มิดชิด  อาบน้ำ สระผมและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีทุกครั้งหลังฉีดพ่นสารเคมีเรียบร้อยแล้ว ไม่เก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ใช้จะสลายตัวถึงระดับปลอดภัย  ภาชนะบรรจุสารเคมีที่ใช้หมดแล้วทำลายโดยการฝังดินให้ลึกมากพอที่สัตว์ไม่สามารถขุดคุ้ยขึ้นมาได้และห่างจากแหล่งน้ำ  และไม่ใช้เครื่องฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืช ร่วมกับสารป้องกันและกำจัดโรคและแมลง

               8. การเก็บเกี่ยว  ควรเลือกเก็บผลที่ได้ขนาดและอายุใกล้เคียงกัน ประมาณ 110-120  วัน  โดยใช้กรรไกรตัดขั้วผลให้ชิดกับไหล่ผล แล้วรวบรวมผลผลิตใส่ในภาชนะบรรจุที่สะอาดป้องกันการบอบช้ำ แล้วเก็บไว้ในที่ร่มอย่าให้โดนแดดก่อนการคัดแยกหรือคัดเกรด 

                9.   การปฏิบัติการหลังการเก็บเกี่ยว  คัดขนาดคุณภาพน้อยหน่าตามความต้องการของตลาด  บรรจุลงภาชนะที่แข็งแรงรองด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ซ้อนกันหลายๆชั้นก่อนการบรรจุผลลงไปโดยต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเช่นอาจห่อด้วยโฟมตาข่าย การเก็บรักษาควรเก็บในอุณหภูมิระหว่าง 15-20 องศาเซลเซียส   ปริมาณและออกซิเจนต่ำ  คาร์บอนไดออกไซด์  10 เปอร์เซ็นต์   และความชื้นสัมพัทธ์  85 - 90 เปอร์เซ็นต์   สามารถเก็บน้อยหน่าไว้ได้นานถึง  13  วัน และควรขนส่งให้ถึงมือผู้บริโภคให้เร็วที่สุด

                10. การบันทึกข้อมูล  ควรบันทึกข้อมูลการปฏิบัติงานขั้นตอนการผลิตที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบได้หากมีข้อบกพร่องเกิดขึ้น  สามารถจัดการแก้ไขหรือปรับปรุงได้ทันท่วงที

1

2

ฝ้ายเขียว

ฝ้ายครั่ง

4

3

หนังทอง

หนังเขียว

5

6

หนังครั่ง

น้อยหน่าลูกผสม

 

  

  
คณะผู้วิจัย :
เรืองศักดิ์  กมขุนทด1 และกวิศร์  วานิชกุล2
หน่วยงาน :
1สถานีวิจัยปากช่อง  สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ฯ 2ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรกำแพงแสน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร 081-4702382, 044-311796