อโกลนีมา (Aglaonema) จัดเป็นไม้ใบประดับที่มีความงดงาม แปลกใหม่ และไม่ซ้ำกัน เป็นที่ดึงดูดความสนใจของลูกค้า ทำให้มีราคาแพง และได้รับความนิยมจากตลาดทั้งไทยและต่างประเทศมากจนได้รับสมญานามว่า “ราชาแห่งไม้ประดับ” ตลาดหลักอยู่ที่อินโดนีเซีย อโกลนีมาสามารถวางประดับได้ทั้งในและนอก อาคาร เช่น เขียวหมื่นปี เงินมาก ขันหมากราชา ใช้เป็นไม้มงคล ไม้หายาก เช่น บัลลังค์ทอง บัลลังค์เพชร พูนทรัพย์ กวักทองคำ ศรีปราชญ์ หรือใช้ใบประกอบการจัดดอกไม้ เช่น โพธิ์สัตว์ก้านยาว เจ้าเมืองราชนอกจากนี้สามารถช่วยลดมลพิษภายในอาคาร คือ ช่วยดูดก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์
รูปที่ 1 อโกลนีมาสายพันธุ์ต่างๆ
การขยายพันธุ์อโกลนีมา สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ คือใช้เมล็ด ปกติเมล็ดของต้น อโกลนีมาที่ได้จากการผสมตัวเองจะมีลักษณะเหมือนต้นแม่ แต่ถ้ามีการผสมข้ามระหว่างสกุลสามารถสร้างลูกผสมใหม่ๆ เกิดขึ้น การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เช่น การตอน การแยกหน่อ การชำ และ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
การขยายพันธุ์ อโกลนีมาโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
การใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถขยายพันธุ์ได้ในปริมาณมาก ต้นที่ได้มีความสม่ำเสมอ มีความแข็งแรง ปลอดจากโรคและแมลง มีขั้นตอนดังนี้คือ
1. คัดเลือกชนิดของเนื้อเยื่อที่เหมาะสม เช่น ข้อ ตายอด ตาข้าง เพื่อนำมาฟอกฆ่าเชื้อเริ่มแรก
2. การฟอกฆ่าเชื้อ ล้างชิ้นส่วนของตายอด ตาข้าง ด้วยน้ำให้สะอาดฟอกด้วยน้ำยาคลอร็อกซ์ 10 % ประมาณ 15 นาที ล้างน้ำกลั่น 2 - 3 ครั้ง จากนั้นตัดชิ้นส่วนเลี้ยงในอาหารสูตรที่เหมาะสม
3. สูตรอาหารที่เหมาะสมสำหรับการเพิ่มปริมาณต้น สูตรอาหารที่ใช้คือ MS และเติมฮอร์โมนในกลุ่ม cytokinin เช่น BA ความเข้มข้นประมาณ 2-5 มก/ล เพื่อชักนำให้เกิดต้นจำนวนมาก เลี้ยงในห้องควบคุมแสงประมาณ 2500 ลักซ์ และอุณหภูมิ 25-28 องศาเซลเซียส
4. การชักนำให้ออกราก นำต้นที่แข็งแรงชักนำให้ออกรากในสูตรอาหารMS ที่เติม IBA ความเข้มข้นประมาณ 0.5-1 มก/ล และย้ายปลูกในวัสดุปลูก
จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออโกลนีมาเป็นเวลา 3 ปี พบว่าในแต่ละพันธุ์มีความหลากหลาย และความยากง่ายในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแตกต่างกัน บางสายพันธุ์ไม่สามารถชักนำให้เกิดยอดจำนวนมากโดยตรง (direct shoot) จากตายอด ตาข้างได้ ต้องผ่านการเกิดแคลลัสก่อนแล้วจึงเกิดต้น ในกรณีนี้มีโอกาสเกิด ความหลากหลายของต้น ใบ สี และรูปทรง เนื่องจากอาหารที่มีการเติมสารเร่งการเจริญเติบโตในกลุ่มของไซโตไคนิน เพื่อกระตุ้นการเกิดยอด จากการสำรวจข้อมูลพบเปอร์เซ็นต์การกลายพันธุ์ประมาณ 0.5-1%ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์และความคงที่ทางพันธุกรรมของลูกผสมใหม่ๆ การกลายของอโกลนีมาจะแตกต่างกันไปและมีหลากหลายมาก มีทั้งที่ดีกว่าต้นเดิมและด้อยกว่าต้นเดิม ส่วนมากจะได้ไม้ที่แปลกไปจากต้นเดิม ทั้งสี ก้าน และใบ
ลักษณะโดยทั่วไปของอโกลนีมาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
ลักษณะของสี จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปมีทั้งที่ออกสีเขียวทั้งใบ มีทั้งที่ออกสีเขียวมากกว่าสีแดง มีทั้งที่เหมือนกับต้นเดิม มีทั้งออกสีแดงมากกว่าต้นเดิม หรือต้นเดิมสีแดงแต่อาจกลายเป็นสีขาวก็มี และสีชมพูก็มี การกลายของสีสามารถเป็นไปได้โดยหลากหลาย
ลักษณะของใบ จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป มีทั้งรูปใบโพธิ์ ลักษณะใบกลม ลักษณะใบยาว หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าใบขาว
ลักษณะของก้าน จะมีลักษณะก้านเป็นที่นิยมของตลาดคือมีก้านที่สั้น กระชับ ไม่ยาวเหมือนกับต้นเดิมการกลายพันธุ์ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จะดีกว่าการกลายพันธุ์โดยการตัดยอดแล้วแตกหน่อเพราะการกลายพันธุ์ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะได้ไม้ต้นใหม่ที่หลากหลาย และอาจจะได้ดีกว่าต้นเดิมก็ได้
|
|
วาเลนไทม์ปกติ |
วาเลนไทม์ใบเปลี่ยนสี
จากสีชมพูเป็นสีขาว |
รูปที่ 2 วาเลนไทม์ปกติและต้นกลาย
|