มะละกอ
Papaya

         

                ประเทศไทยมีการผลิตมะละกอ (Carica  papaya L.) เพื่อส่งออกโดยตรงยังมีน้อย  พันธุ์ที่ปลูกส่วนมากเป็นพันธุ์ที่มีผลขนาดใหญ่  จึงไม่เหมาะสำหรับตลาดต่างประเทศ  เพราะในต่างประเทศนิยมรับประทานผลมะละกอขนาดเล็ก  มีน้ำหนักผลไม่เกิน ๖๐๐ กรัม
                ปี พ.ศ.๒๕๑๙  รองศาสตราจารย์ฉลองชัย  แบบประเสริฐ  ได้เล็งเห็นความสำคัญในการผลิตมะละกอ  ให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ  จึงพัฒนาพันธุ์มะละกอและปรับปรุงพันธุ์มะละกอจนสำเร็จในปี พ.ศ.๒๕๓๑  ชื่อว่า “มะละกอปากช่อง ๑”  เริ่มต้นจากการนำมะละกอสายพันธุ์ซันไลท์  จากประเทศไต้หวัน  มาปลูกและคัดเลือกต้นที่มีลักษณะที่ต้องการ  ทำการผสมตัวเองและปลูกคัดเลือกอยู่ ๕ ชั่วอายุ  จนได้สายพันธุ์ที่ไม่กระจายตัว  แล้วปลูกขยายเมล็ดโดยวิธีผสมเปิดในหมู่เดียวกันอีก ๒ ครั้ง  ได้สายพันธุ์ค่อนข้างบริสุทธิ์และมีลักษณะตามที่ต้องการ  เป็นพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับส่งเสริมให้ปลูกเป็นการค้า  ให้ชื่อว่า  มะละกอพันธุ์ปากช่อง ๑ ลักษณะประจำพันธุ์  มีลำต้นสีเขียวปนม่วงเล็กน้อย  ใบมี ๗ แฉกใหญ่  กว้าง  ๕๐ – ๖๐ เซนติเมตร  ยาว ๔๕ – ๕๐ เซนติเมตร  ก้านใบสีเขียวปนม่วง  ยาว ๗๐ – ๗๕ เซนติเมตร  อายุ ๘ เดือน  ก็เริ่มเก็บผลได้  มีน้ำหนักผล ๓๕๐ กรัม  เนื้อสีส้มหนา  ๑.๘  เซนติเมตร  เมื่อสุกเนื้อไม่เละมีรสหวาน  กลิ่นหอม  เปอร์เซ็นต์ความหวาน  ๑๒ – ๑๔  องศาบริกส์  ในระยะเวลา  ๑๘ เดือน  จะให้ผลผลิตต้นละ ๓๐ – ๔๐ กิโลกรัม  ค่อนข้างทนต่อโรคใบด่าง  เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้เอง
                พ.ศ.๒๕๒๖  ข้าพเจ้าได้เข้ารับราชการที่สถานีวิจัยปากช่อง ได้ทำงานวิจัยร่วมกับรองศาสตราจารย์ฉลองชัย  แบบประเสริฐ ในการปรับปรุงพันธุ์มะละกอปากช่อง ๑ ปี พ.ศ.๒๕๓๓ – ๒๕๓๔  สถานีวิจัยปากช่องได้ส่งเสริมการปลูกมะละกอพันธุ์ปากช่อง 1 โครงการอีสานเขียวในจังหวัดนครราชสีมา  และจังหวัดบุรีรัมย์  โดยส่งเสริมการปลูกที่บ้านสระเพลง  อำเภอสูงเนิน  จังหวัดนครราชสีมา  บ้านลุงปลาดุก  อำเภอโนนสุวรรณ (อำเภอนางรองเดิม)  และบ้านปะทัดบุ  อำเภอประโคนชัย  จังหวัดบุรีรัมย์
                ในปี พ.ศ.๒๕๔๐  รองศาสตราจารย์ฉลองชัย  แบบประเสริฐ นายรักเกียรติ  ชอบเกื้อ ได้ร่วมทำงานวิจัยผสมมะละกอพันธุ์แขกดำ x พันธุ์ปากช่อง ๑  ปี พ.ศ.๒๕๔๙ สถานีวิจัยปากช่องได้พันธุ์มะละกอปากช่อง ๒ (๑๒ – ๒๑) ผลขนาดปานกลาง น้ำหนักผล ๑,๐๐๐ – ๑,๒๐๐ กรัม  ลักษณะใบมี ๗ แฉก  ใบสีเขียวเข้ม  ใบกว้าง ๖๕ – ๗๐ ซม.  ใบยาว ๖๕ – ๗๐ ซม.  ก้านใบสีเขียว ยาว ๘๐ – ๘๙ ซม. น้ำหนักผลสุก ๙๐๐ – ๑,๑๐๐ กรัม  สีผิวผลสุกสีเหลือง  สีเนื้อสุกส้มแดง  ความหนาเนื้อ ๓ ซม.  ความหวาน ๑๒ – ๑๔ องศาบริกซ์  เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังจากปลูกประมาณ ๘ เดือน  ผลผลิต ๔๐ – ๕๐ กก.  ต่อต้น  ในระยะ ๑๘ เดือน  ค่อนข้างทนต่อโรคไวรัสจุดวงแหวน
ปี พ.ศ. ๒๔๔๑ กำลังทำงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์มะละกอเพื่อเป็นพันธุ์การค้าต่อไป และส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา  และจังหวัดใกล้เคียงปลูกมะละกอเพื่อเป็นการค้ามากขึ้น  ท่านที่สนใจเมล็ดพันธุ์มะละกอ ติดต่อที่สถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ ฯ โทร ๐๔๔ - ๓๑๑๗๙๖

มะละกอปากช่อง ๑
มะละกอพันธุ์ปากช่อง ๒ (๑๒ - ๒๑)


  
คณะผู้วิจัย :
รักเกียรติ  ชอบเกื้อ
หน่วยงาน :
สถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร 044-311796  โทรสาร 044-313797